กรุงเทพฯ--13 พ.ย.--EXIM BANK
EXIM BANK ประกาศพร้อมร่วมลงทุนในบริษัทลูกค้าที่มีศักยภาพเติบโตทางธุรกิจในฐานะพันธมิตรทางธุรกิจในระยะยาว เพื่อผลักดันการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการระดมทุนของลูกค้า EXIM BANK สำหรับใช้พัฒนาธุรกิจและสร้างโอกาสทางธุรกิจในเวทีการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ
ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี (กลาง) ประธานกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา (ที่ 2 จากขวา) ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ ดร.อภิชัย บุญธีรวร (ที่ 2 จากซ้าย) กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เข้าร่วมงานเสวนา "ตลาดทุนกับการเพิ่มศักยภาพของธุรกิจ" ซึ่งจัดโดย EXIM BANK เพื่อนำเสนอแนวทางการเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจให้แก่ลูกค้าของธนาคารโดยการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อเร็วๆ นี้
ดร.อภิชัย บุญธีรวร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า เนื่องจากผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่มีโครงสร้างทุนที่ไม่เพียงพอสำหรับการขยายกิจการในระยะยาว ทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนสูงเกินไปและมีข้อจำกัดในการเพิ่มวงเงินกู้ EXIM BANK จึงเสนอแนวทางการเพิ่มศักยภาพของธุรกิจให้แก่ลูกค้าโดย EXIM BANK พร้อมจะเข้าร่วมลงทุนและผลักดันให้บริษัทที่มีศักยภาพเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อประโยชน์ในการระดมทุนในตลาดทุนสำหรับใช้ในการพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่องและสร้างโอกาสทางธุรกิจเพื่อรับมือกับการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้นในตลาดการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศในระยะยาว รวมทั้งสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของบริษัทลูกค้าซึ่งผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์และคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้ เนื่องจาก EXIM BANK มิได้มีเป้าหมายเพื่อเก็งกำไรจากการถือหุ้น การถือหุ้นจะอยู่ในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 30 รวมทั้งมีกำหนดเวลาการถือหุ้นและขายหุ้นที่แน่นอนตามแต่จะตกลงกัน
"บทบาทใหม่ของ EXIM BANK ในการเข้าไปร่วมลงทุนกับบริษัทลูกค้าเป็นความริเริ่มเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการไทยในปัจจุบันและพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการของ EXIM BANK ให้มีความหลากหลายและครบวงจร" ดร.อภิชัยกล่าว
ด้าน ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการ EXIM BANK กล่าวว่า บทบาทใหม่นี้แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของ EXIM BANK ที่จะริเริ่มและทำในสิ่งที่ธนาคารสามารถทำได้เพื่อช่วยผู้ประกอบการไทยปรับตัวและรับมือได้ทันกับทิศทางเศรษฐกิจและการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นบทบาททางการค้าที่เพิ่มมากขึ้นของตลาดใหม่ โอกาสการย้ายฐานการผลิตเข้าไปในประเทศที่มีความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิต ความจำเป็นของการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานด้านต่างๆ ตามที่คู่ค้ากำหนด การเพิ่มมูลค่าสินค้าด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ และต่อยอดธุรกิจบริการที่ไทยมีศักยภาพสูง เช่น การท่องเที่ยวและสปา การสนับสนุนให้เกิดโครงการที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและการสร้างเครือข่ายและพันธมิตรทางการค้า ตลอดจนการสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศที่ยังไม่เพียงพอ อาทิ โรงไฟฟ้าเอกชน นิคมอุตสาหกรรมและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน โรงน้ำดิบ และเครือข่าย Logistics ที่มีประสิทธิภาพ