กรุงเทพฯ--13 พ.ย.--ออนไลน์ แอสเซ็ท
ผู้บริหาร BWG มั่นใจหุ้นเข้าซื้อขายพรุ่งนี้ไม่ทำให้นักลงทุนผิดหวัง เชื่อยืนเหนือราคาจองได้สบายๆ เหตุราคาไอพีโอที่กำหนด 3 บาท/หุ้น ให้ส่วนลดถึง 60% เมื่อเทียบกับค่าพีอีของกลุ่มอุตสาหกรรม และมีส่วนลด 25% เมื่อเทียบกับค่าพีอีของตลาดหลักทรัพย์ ย้ำปัจจัยพื้นฐานสุดแกร่งแถมอนาคตสดใส ด้านโบรกเกอร์ประเมินมีการขยายตัวอย่างสม่ำเสมอในอีก 5 ปีข้างหน้า
นายสุวัฒน์ เหลืองวิริยะ กรรมการผู้จัดการ บมจ.เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน (BWG) เปิดเผยว่ามีความมั่นใจว่าหุ้น BWG ที่จะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เป็นวันแรก ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2550 จะสามารถยืนเหนือราคาจองได้อย่างแน่นอน เนื่องจากบริษัทมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง โดยที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตมาอย่างต่อเนื่องและในปีนี้คาดว่ายังจะมีอัตราการขยายตัวที่ดีเช่นที่ผ่านมา
นอกเหนือจากปัจจัยพื้นฐานที่โดดเด่นแล้วในส่วนของการกำหนดราคาไอพีโอที่ 3 บาท/หุ้น ถือว่าเป็นระดับราคาที่ไม่แพง โดยมีค่าพีอี เรโชว์ ประมาณ 9 เท่า คิดเป็นส่วนลด (Discount) ให้กับนักลงทุนกว่า 60% เมื่อเทียบกับหมวดบริการเฉพาะกิจที่มีค่าพีอี เรโชว์ ประมาณ 23 เท่า และมีส่วนลดประมาณ 25% เมื่อเทียบกับพีอีเรโชว์ ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ระดับ 12 เท่า
"ผมเชื่อว่าเมื่อหุ้น BWG เข้าซื้อขายในวันพรุ่งนี้(14 พฤศจิกายน 2550) จะยืนเหนือราคาจองได้แน่นอน ด้วยแรงสนับสนุนจากปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และการกำหนดราคาหุ้นที่มีค่าพีอีต่ำเพียง 9 เท่า ดังนั้นเชื่อว่าจะทำให้หุ้น BWG เป็นที่สนใจของนักลงทุน ประกอบกับที่ผ่านมาการซื้อขายในตลาดหุ้นได้กลับมาคึกคักอีกครั้ง จึงน่าจะถือเป็นอีกปัจจัยบวกที่ช่วยหนุนอีกทางหนึ่ง"
เขากล่าวต่อว่าการระดมทุนในครั้งนี้ BWG จะได้รับเงินจากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ประมาณ 240 ล้านบาท บริษัทมีวัตถุประสงค์ในการนำเงินที่ได้รับจากการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้หลังหักค่าใช้จ่ายในการเสนอขายหลักทรัพย์แล้ว จำนวนประมาณ 229 ล้านบาท นำไปใช้ชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน ลงทุนเพื่อขยายการดำเนินงาน และสำหรับเป็นเงินทุนหมุนเวียน
สำหรับโครงการในอนาคตบริษัทมีนโยบายที่จะเพิ่มขอบเขตการให้บริการ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายในการดำเนินงานภายใต้นโยบายการบริหารและจัดการสิ่งปฏิกูลฯ แบบครบวงจร (One Stop Service) ดังนี้
1) ธุรกิจการปรับคุณภาพสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วเพื่อเป็นวัตถุดิบและเชื้อเพลิงทดแทน เป็นการปรับคุณภาพของสิ่งปฏิกูลฯ ด้วยการใช้กระบวนการผสม (Blending) กับสูตรเคมี เพื่อให้มีค่าความร้อน และเป็นผลิตภัณฑ์ซึ่งสามารถนำไปจำหน่ายต่อ และใช้เป็นวัตถุดิบและเชื้อเพลิงทดแทนในเตาเผาซีเมนต์หรือเตาเผาอื่นๆ แทนการใช้น้ำมันเตาที่มีราคาสูง ซึ่งบริษัทได้เริ่มให้บริการเชิงพาณิชย์ในส่วนที่เป็นการปรับคุณภาพสิ่งปฏิกูลฯ ที่เป็นของเหลวตั้งแต่เดือนกันยายน 2550 และสำหรับการปรับคุณภาพสิ่งปฏิกูลฯ ที่เป็นของแข็งคาดว่าจะเริ่มให้บริการประมาณต้นปี 2551
2) ธุรกิจการรับสัมปทานเป็นผู้บริหารจัดการในโครงการศูนย์บริหารจัดการวัสดุเหลือใช้อุตสาหกรรม (เตาเผาขยะอุตสาหกรรม) ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ที่นิคมอุตสาหกรรมบางปู โดยโครงการดังกล่าวได้ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2547 มูลค่าโครงการประมาณ 1,486 ล้านบาท
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้มีการออกประกาศเชิญชวนให้เอกชนเข้าดำเนินการบริหารและประกอบการในโครงการดังกล่าว เป็นระยะเวลา 20 ปี และต่อขยายได้อีก 10 ปี โดยให้ยื่นข้อเสนอภายในวันที่ 24 พฤษภาคม 2550
บริษัทได้ร่วมกับผู้ร่วมค้าอีก 3 ราย คือ บริษัท ยามาเซ็น โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัท ไซตามา ยามาเซ็น จำกัด ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นของบริษัทและมีความเชี่ยวชาญในการจัดการของเสียในประเทศญี่ปุ่น และบริษัท ซียูบี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในประเทศไทย โดยเข้าร่วมยื่นข้อเสนอเป็นกลุ่มกิจการร่วมค้า (Joint Venture) ต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรมโดยข้อเสนอของกลุ่มกิจการร่วมค้าของบริษัทได้รับคัดเลือกด้วยคะแนนเป็นลำดับที่ 1 และปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการในรายละเอียด ซึ่งคาดว่าจะสามารถได้ข้อสรุปภายในปี 2550 ทั้งนี้ หากกลุ่มกิจการร่วมค้าของบริษัทสามารถเจรจาเป็นผลสำเร็จ บริษัทจะดำเนินการจดทะเบียนกิจการร่วมค้าเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย โดยมีทุนจดทะเบียนเรียกชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท และมีบุคคลธรรมดาที่มีสัญชาติไทย หรือนิติบุคคลซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทยเป็นผู้ถือหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว ตลอดระยะเวลาของสัญญาการให้ใช้สิทธิดำเนินการบริหารและประกอบการ โดยบริษัทจะกำหนดสัดส่วนการลงทุนและแหล่งเงินทุนที่ใช้ร่วมกับผู้ร่วมค้าอื่นๆ ให้มีความเหมาะสมและเป็นไปด้วยความยุติธรรม ภายหลังจากที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมประกาศให้กลุ่มกิจการร่วมค้าของบริษัทเป็นผู้ได้รับคัดเลือกให้ดำเนินการในโครงการดังกล่าว
บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี จำกัด หรือ KTBS ได้ออกบทวิเคราะห์ถึง บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) หรือ BWG ว่าปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนกว่า 1 แสนโรงงาน ซึ่งตามข้อกำหนดของทางการมีโรงงานที่จะต้องจัดเก็บขยะอุตสาหกรรมเพื่อเข้าสู่ระบบบำบัดให้ถูกต้องกว่า 6 หมื่นโรงงาน นับเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริษัททั้งหมด แต่พบว่ามีโรงงานที่จัดเก็บเข้าระบบจริงเพียง 5 พันโรงงานเท่านั้น โดยในส่วนนี้เป็นลูกค้าของบริษัทมากกว่า 1,000 ราย จึงมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก นอกจากนั้น ภาครัฐและเอกชนให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นช่วยหนุนการทำตลาดของ BWG เนื่องจากภาวะมลพิษต่างๆ ที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รัฐบาลมีนโยบายควบคุมการกำจัดกากอุตสาหกรรมที่เข้มงวด และกระจายทั่วถึงไปสู่กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น โดยมีการจัดตั้งหน่วยงานร่วมกับเอกชนเพื่อสอดส่องดูแลปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจการบริการจัดเก็บปฏิกูลสามารถเข้าถึงลูกค้าได้ง่ายขึ้น
ด้านการขยายตัวของ BWG มาจากกลุ่มลูกค้าที่ใช้บริการซึ่งเพิ่มขึ้นและการขยายตัวของฐานลูกค้าเดิม โดยรายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 142 ล้านบาท ในปี 2547 เป็น 467 ล้านบาท ในปี 2549 ขยายตัวมากกว่า 3 เท่าภายในเวลาเพียง 2 ปี ขณะที่มี Net Margin อยู่ระหว่าง15 -19%ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยมี D/E ในระดับต่ำเพียง 0.6 เท่า ฝ่ายวิจัยฯมองราคาที่เหมาะสมปี 51 ของ BWG ไว้ที่ 4.00 บาท โดยมองเห็นศักยภาพในการเติบโตของกำไรในอนาคตที่มีการขยายตัวอย่างสม่ำเสมอในอีก 5 ปีข้างหน้าไม่ต่ำกว่า 7%ต่อปี (Conservative) มี ROE เฉลี่ยที่ 16% โดยคาดบริษัทจะให้ผลตอบแทนปันผลในระดับ 5 -6%ต่อปี
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : จุฬารัตน์ เจริญภักดี 089-4888337 , 02-5549395