กรุงเทพฯ--29 ก.ค.--พี อาร์ เอ ดี คอมมูนิเคชั่น
หลายคนคงจะเคยได้ยินหรือเห็นข่าวดาราสาวคนหนึ่งที่มีภาวะเดินยืนไม่ได้ ลิ้นแข็ง ข่าวจากสื่อต่างๆ ก็ลงข่าวว่าเธอเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หลายคนคงยังมีคำถามถึงเจ้าโรคนี้ว่า ภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงคืออะไร โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ ALS (Amyotrophic Lateral Sclerosis) ในประเทศสหรัฐอเมริกาจะรู้จักโรคนี้ในชื่อของโรค ลู-เก-ริก (Lou Gehrig Disease) ซึ่งตั้งชื่อโรคตามชื่อนักเบสบอลที่มีชื่อเสียงที่เป็นโรคนี้ในปี ค.ศ. 1930 อาการเริ่มแรกของผู้ที่มีอาการป่วย คือ คอไม่สามารถตั้งตรงได้ ลืมตาไม่ได้ มือเท้าเริ่มมีอาการชาไม่มีแรง ลิ้นแข็ง โดยส่วนใหญ่จะเป็นในคนแถบยุโรปมากกว่าคนเอเชีย คาดว่าเกิดจากสาเหตุของระบบประสาทการสั่งงานของสมองผิดปกติ หรืออาจจะมีโรคลักษณะคล้ายคลึงกันคือ การได้รับสารตะกั่วอยู่ในเส้นเลือดปริมาณมาก สารตะกั่วจะทำให้กล้ามเนื้อและเส้นประสาทไม่สามารถสั่งงานได้
การวินิจฉัย โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (เอแอลเอส) ทำได้อย่างไร การวินิจฉัยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (เอแอลเอส) มีความสำคัญมาก เนื่องจากเป็นโรคที่ยังรักษาไม่หาย แพทย์ที่ทำการวินิจฉัยโรคดังกล่าวจะต้องกระทำการโดยแพทย์อายุรกรรม สาขาประสาทวิทยาที่มีประสบการณ์โดยอาศัยการซักประวัติ การตรวจร่างกาย สำหรับการตรวจร่างกาย คือการตรวจเส้นประสาทและกล้ามเนื้อด้วยคลื่นไฟฟ้า (EMG) เพื่อสนับสนุนการวินิจฉัยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง
แต่ในศาสตร์ของแพทย์แผนจีน เรียกว่า เหวยเจิ่น ซึ่งแสดงอาการกล้ามเนื้อไม่มีแรง ไม่กระชับหย่อนและไม่สามารถเคลื่อนไหวหรือออกกำลังกายได้ และกล้ามเนื้อจะค่อยๆ ลีบลงไปและต่อไปจะทำให้ใช้การไม่ได้เลย
ตำราแพทย์จีน แบ่งอาการของโรคเกิดจากสาเหตุ 3 ประเภท
ประเภทที่ 1 มาจากปอดร้อน เกิดจากการติดเชื้อที่ปอด เช่น เชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือวัณโรค รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ อาการของโรคมักจะมีอาการหายใจขัด หายใจถี่หอบ ไอเรื้อรัง เหงื่อออกมาก เป็นหวัดง่าย
ประเภทที่ 2 มาจากกระเพาะร้อน เกิดจากการกิน ดื่ม ที่ไม่ถูกหลัก เช่นการกินอาหารหวาน หรืออาหารที่มีไขมันสูงเป็นเวลานาน การดื่มสุรา ทำให้เกิดการสะสมของความร้อนที่กระเพาะ ทำให้การทำงานของกระเพาะผิดปกติ
ประเภทที่ 3 มาจาก ตับ ไต พร่อง เกิดจากการพักผ่อนไม่เพียงพอหรือผู้ที่มีความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน ผู้ที่เป็นโรคตับ ไต พร่องนั้นมักปรากฏอาการวิงเวียนศีรษะ ตาพร่ามัว ตาบวม มือและทาชา
การรักษา จะใช้ศาสตร์ของการฝังเข็มรักษา โดยจะฝังเข็มจุดใหญ่จะอยู่บนศีรษะ และทิ้งไว้ 1 ชั่วโมง เนื่องจากตำแหน่งศีรษะเป็นจุดสะท้อนและเป็นจุดรวมเส้นประสาท ทำให้เส้นประสาทแอคทีฟ รวมทั้งเพิ่มออกซิเจนในสมอง ซึ่งการรักษาด้วยการฝังเข็มรักษากล้ามเนื้ออ่อนแรง ได้รับการยอมรับจากระทรวงสาธารณะสุขของมณฑลเทียนจิน ประเทศจีน ว่าช่วยให้เส้นประสาทของคนไข้กลับมาเป็นปกติ สามารถควบคุมแขนขาให้ใช้งานได้เหมือนเดิม
นอกจากการใช้ยาหรือการฝังเข็มรักษา ประการสำคัญที่สุดที่จะห่างไกลโรคและสุขภาพแข็งแรง ต้องไม่ลืม ออกกำลังกาย กินอาหารครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้เบิกบาน รวมถึงการทำกิจกรรม และการทำกายภาพบำบัดกล้ามเนื้อในส่วนที่อ่อนแอเพื่อป้องกันกล้ามเนื้อไม่ให้ลีบเล็กลงไป