กรุงเทพฯ--29 ก.ค.--ทีมสื่อสารสาธารณะ-ทีดีอาร์ไอ
ความขัดแย้งระหว่างผู้แอบอ้าง ครอบครอง ใช้ประโยชน์จากที่ดินและป่าไม้กับฝ่ายดูแลรักษาเป็นปัญหาปรากฏให้เห็นเสมอ และหยิบยกข้อกฎหมายมาสร้างความชอบธรรมของฝ่ายตน พร้อมกับสภาพผืนป่าและสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลายต่อเนื่อง พิสูจน์การทำงานของภาครัฐที่ยังไม่ได้ผล ส่วนสังคมโดยรวมแม้ตระหนักถึงปัญหาและความสำคัญ แต่ยังขาดความร่วมมือในการจัดการอย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้สถานการณ์สิ่งแวดล้อมในปัจจุบันที่อยู่ในสภาพน่าวิตกนั้น มีสาเหตุมาจาก รูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ความขัดแย้งจากการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คุณภาพสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสังคมขาดความตระหนักในการอนุรักษ์และรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ที่ปรึกษาและผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า โครงการพันธบัตรป่าไม้ เป็นหนึ่งในข้อเสนอโครงการเร่งด่วน (Flagship Project) ของร่างแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2555-2559 โดยเป็นกลไกภายใต้ยุทธศาสตร์การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ทั้งระบบนิเวศป่าไม้ ทะเล ชายฝั่ง น้ำ และเกษตร ตามที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยทำการศึกษาและนำเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
พันธบัตรป่าไม้เกิดจากแนวคิดที่ว่า ป่าไม้ให้ประโยชน์แต่ที่ผ่านมาเราไม่สามารถรักษาป่าไว้ได้ ไม่ว่าหน่วยงานภาครัฐจะพยายามทำอย่างไร พื้นที่ป่ายังคงลดลงอย่างต่อเนื่องและส่งผลกระทบต่อปัญหาอื่น ๆ ตามมาเป็นวงกว้าง การจะรักษาพื้นที่ป่าไว้ได้นั้น ต้องทำให้คนสองกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับป่าเกิดการเชื่อมโยงกัน คือ กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์จากป่า กับกลุ่มคนผู้ดูแลรักษาผืนป่า ซึ่งเป็นคนละกลุ่มกัน และยังไม่สามารถเชื่อมถึงกันได้ “พันธบัตรป่าไม้” จึงเป็นกลไกหนึ่งที่ทำให้เกิดการเชื่อมต่อกันของคนสองกลุ่มได้ แลกเปลี่ยนผลประโยชน์กัน โดยคนที่ใช้ประโยชน์หรือได้ประโยชน์จากป่าก็ควรต้อง “จ่าย” เพื่อให้ผู้รับผิดชอบรักษาป่า นำไปฟื้นฟูให้เกิดความสมดุลทดแทน
ยกตัวอย่าง สังคมไทยได้ประโยชน์จากการที่สภาพป่าสร้างความสมดุลทางธรรมชาติและทำหน้าที่ในการควบคุมการไหลของน้ำทำให้ป่าไม่สามารถช่วยป้องกันน้ำหลาก และช่วยให้ประเทศมีน้ำใช้ในช่วงฤดูแล้ง ป่าไม้ยังเป็นการดูดซับคาร์บอนช่วยลดภาวะโลกร้อน การบริหารพื้นที่ป่าไม้เชิงพาณิชยังช่วยให้เกิดรายได้จากการขายเนื้อไม้ หรือการรักษาพื้นที่ป่าไม้ทำให้เกิดประโยชน์เชิงนันทนาการ เป็นต้น แต่ในทางตรงกันข้าม คนทำที่หน้าที่ดูแลต้ป่าต้องใช้เงิน(งบประมาณของรัฐ)จำนวนมากมาปกป้อง ดูแลพื้นที่ป่า พันธบัตรป่าไม้เป็นกลไกให้คนที่ได้ประโยชน์กับคนที่เสียประโยชน์ ได้มาเจอกัน คนที่ได้เงินจากป่าก็ควรเอาเงินมาให้คนที่ต้องเสียเงินรักษาป่า เพื่อทำให้สภาพป่าอยู่ได้ ไม่เสียสมดุลจนเกินไป
ดร.อดิศร์ กล่าวว่า โดยหลักการพันธบัตรป่าไม้จะอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่จะต้องตั้งองค์การมหาชนขึ้นมาบริหารจัดการ โดยให้กระทรวงการคลังรับรองสถานภาพของพันธบัตร เป็นสินค้าทางการเงินสีเขียว ที่ให้ผลตอบแทนเช่นเดียวกับพันธบัตรทางการเงินอื่น ๆ เหมาะสำหรับองค์กรเอกชนหรือผู้สนใจ โดยเฉพาะคนที่ได้ประโยชน์จากป่า มาซื้อพันธบัตรเพื่อเป็นการลงทุน หรือทำ CSR ตอบแทนสังคมทางหนึ่ง
รายได้ในการดูแลป่าจึงมาจากการลงทุนซื้อพันธบัตรป่าไม้ของผู้สนใจ จากนั้นนำเงินไปใช้เพื่อการดูแลพื้นที่ป่าใน 3 รูปแบบ คือ 1.กรณีผืนป่าสมบูรณ์เพิ่มการคุ้มครองไม่ให้มีการลักลอบตัดไม้ 2.กรณีผืนป่าที่มีการบุกรุกอยู่แล้วโดยชาวบ้านที่ยากจน โดยอาจนำไปใช้เพื่อการจัดหาหรือชดเชยพื้นที่ใหม่ในการทำอาชีพทดแทน 3. กรณีผืนป่าเสื่อมโทรมต้องปลูกทดแทนและจัดระบบการปลูกป่าที่เหมาะสมและสามารถเพิ่มมูลค่าได้ด้วย
ด้านรายจ่ายหรือผลตอบแทนของผู้ซื้อพันธบัตร จะได้มาจากหลายแหล่งซึ่งสามารถคำนวณมูลค่าได้ อาทิ 1.เนื้อไม้หรือปริมาตรไม้ใหม่ที่ได้จากป่าปลูกและมีการตัดหมุนเวียนแบบยั่งยืนนำมาป้อนอุตสาหกรรม ช่วยลดการนำเข้าไม้ 2. รายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งหวังว่าสังคมนานาชาติจะเข้ามาร่วมจ่ายเงินมาร่วมสนับสนุนการปลูกป่า 3.รายได้จากคนในประเทศที่ได้ประโยชน์จากสภาพต้นน้ำที่ดีขึ้น เช่น การเก็บค่าน้ำ ค่าไฟเพิ่มขึ้น ทั้งนี้โดยต้องมีความชัดเจนว่าเขาใช้น้ำหรือไฟฟ้าจากเขื่อนซึ่งรับน้ำจากแหล่งต้นน้ำที่มาจากสภาพป่าที่ดีขึ้น เช่น จากอุตสาหกรรมที่มีการใช้น้ำปริมาณมาก และ 4. รัฐบาลอุดหนุน 10-20% จากเงินที่ประหยัดได้ในการแก้ปัญหาน้ำท่วม ปัญหาน้ำแล้งซึ่งจะลดลงเมื่อสภาพป่ามีความสมดุลมากขึ้น และยังเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นตอ
อย่างไรก็ตาม การทำ “พันธบัตรป่าไม้” เป็นเรื่องใหม่และไม่ง่าย ต้องสร้างกลไกที่เป็นธรรมและเป็นทางออกให้กับทุกฝ่าย จึงจำเป็นต้องมีองค์กรมหาชนมาบริหารจัดการ สร้างแนวทางที่เป็นไปได้และไม่สร้างความขัดแย้ง เช่น ในพื้นที่ที่ต้องการปลูกเป็นป่าเศรษฐกิจก็ไม่จำเป็นให้ชาวบ้านยากจนที่บุกรุกพื้นที่ป่าทำการเกษตรต้องย้ายออกแต่เปลี่ยนมาเป็นการจ้างงานแทน ทำให้เขาไม่ต้องสูญเสียรายได้และไม่ต้องกลับไปรุกป่าทำเกษตรอย่างเคย สิ่งสำคัญต้องขจัดมาเฟียที่อยู่เบื้องหลังการรุกป่าในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งจากกลไกการบุกรุกป่าไม้ที่เกิดขึ้นมักมีธุรกิจที่ดินและอสังหาริมทรัพย์เข้ามาเกี่ยวข้อง การดำเนินการเรื่องนี้จึงไม่ง่าย
ดร.อดิศร์ กล่าวว่า ไม่ได้หมายความว่าจะไม่สามารถให้ใครใช้ประโยชน์จากที่ดินและป่าไม้ได้เลย แต่ควรเป็นการใช้ให้เกิดประโยชน์เต็มศักยภาพและต้องสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นด้วย เช่น การจัดการพัฒนาเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวในบางจุด ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบยั่งยืนก็ทำได้ โดยมีการจัดโซน จัดระบบการจัดการท่องเที่ยวที่ไม่ทำลายธรรมชาติ และมีการควบคุม เมื่อมีการกำหนดชัดเจนแล้ว ในบางพื้นที่ก็อาจเปิดให้ภาคเอกชนประมูลไปทำได้ ซึ่งมีตัวอย่างในหลายประเทศ เช่น ที่ มัลดีฟ มีการนำจุดสวย ๆ เปิดประมูลให้เอกชนไปทำโรงแรมสร้างรายได้เข้าประเทศ”
นอกจากพันธบัตรป่าไม้แล้ว ทีดีอาร์ไอยังได้เสนออีก 2 มาตรการเร่งด่วนที่ควรทำ คือ จัดทำแผนการใช้ที่ดินของประเทศ และ แก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เชื่อว่าหากเริ่มดำเนินการอย่างจริงจังจะเห็นผลการเปลี่ยนแปลงในอีก 2 ปีข้างหน้า.
เผยแพร่โดย ทีมสื่อสารสาธารณะ-ทีดีอาร์ไอ
ติดต่อ โทร.0-22701350 ต่อ 113 (ศศิธร)