กรุงเทพฯ--13 พ.ย.--บีโอไอ
บอร์ดบีโอไอวางกรอบส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตเหล็กขั้นต้นคุณภาพสูง เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ แทนการพึ่งพาเหล็กนำเข้าจากต่างประเทศ เน้นย้ำต้องอยู่ร่วมกับชุมชนได้โดยไม่เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ว่า เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเหล็กขั้นต้นคุณภาพสูงในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ที่ประชุมจึงได้กำหนดหลักการให้ส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการเหล็กขั้นต้น
“ อุตสาหกรรมเหล็กขั้นต้นต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก ภาครัฐจึงต้องสนับสนุนเรื่องสิทธิประโยชน์ และการสนับสนุนในเรื่องของระบบสาธารณูปโภคต่างๆ อาทิ พื้นที่ตั้งโครงการ ท่าเรือ น้ำลึก และแหล่งน้ำอุตสาหกรรม และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลงทุนอุตสาหกรรมเหล็กขั้นต้นที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า จะต้องอยู่ร่วมกับชุมชนได้โดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมด้วย “ นายโฆสิตกล่าว
ด้านนายสาธิต ชาญเชาวน์กุล เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวถึงหลักการในการส่งเสริมการลงทุน ว่า จะต้องเป็นโครงการผลิตเหล็กขั้นต้นที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยในทุกขั้นตอนการผลิต จะต้องมีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ จะต้องมีเทคโนโลยีและระบบความคุมจัดการมลภาวะต่างๆ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน และจะต้องมีผลผลิต (Output) เหล็กขั้นต้นไม่น้อยกว่า 2 ล้านตันต่อปี เพื่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) และมีต้นทุนการผลิตต่ำ โดยบริษัทที่จะเข้ามาลงทุน จะต้องเป็นองค์กรที่มีธรรมาภิบาลที่ดี (Good Corporate Governance) และมีความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR) ชุมชน และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น
นายสาธิตกล่าวด้วยว่า หากมีการลงทุนผลิตเหล็กขั้นต้นคุณภาพสูงในไทย จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว แก่อุตสาหกรรมต่อเนื่องที่สำคัญ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี เครื่องจักรกล และบรรจุภัณฑ์
นอกจากนี้ จะช่วยให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตเหล็กคุณภาพสูงในภูมิภาคอาเซียนได้ เพราะมีข้อได้เปรียบในด้านการขนส่ง ระยะทาง และต้นทุนการผลิต เมื่อเทียบกับผู้ผลิตเหล็กในภูมิภาคเดียวกัน โดยประเทศในอาเซียนยังต้องนำเข้าเหล็กคุณภาพสูงถึงปีละประมาณ 6.7 ล้านตัน หรือประมาณ 4,982 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนประเทศไทย ปัจจุบันมีความต้องการใช้เหล็กปีละประมาณ 12.5 ล้านตัน
ปัจจุบัน ยังไม่มีการผลิตเหล็กคุณภาพสูงในประเทศไทย ทำให้อุตสาหกรรมสำคัญๆ ต้องนำเข้าเหล็กคุณภาพสูงจากญี่ปุ่น และเกาหลี ปีละประมาณ 4.5 ล้านตัน มูลค่ากว่า 1.5 แสนล้านบาท และคาดว่าความต้องการใช้เหล็กของประเทศไทย จะสูงถึง 25 ล้านตันในอีก 10 ปีข้างหน้า