บอร์ดบีโอไอให้ส่งเสริม 16 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 6.5 หมื่นล้าน ฮอนด้า — โรงกลั่นระยอง — นิคมฯ โรจนะ ดาหน้าขยายลงทุน

ข่าวยานยนต์ Tuesday November 13, 2007 17:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 พ.ย.--บีโอไอ
บอร์ดบีโอไอส่งเสริมการลงทุน 16 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 65,614 ล้านบาท บริษัทชั้นนำเดินหน้าขยายการลงทุน ทั้งฮอนด้า โรงกลั่นน้ำมันระยอง นิคมฯโรจนะ พร้อมให้ส่งเสริมโครงการผลิตเอทานอล 5 โครงการ และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม 3 โครงการ
นายสาธิต ชาญเชาวน์กุล เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มีนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ว่า ที่ประชุมมีมติให้การส่งเสริมการลงทุนแก่โครงการลงทุนทั้งสิ้น 16 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 65,614 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
กิจการผลิตเอทานอล 5 โครงการ
ที่ประชุมพิจารณาเห็นว่า เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายพลังงานทดแทนของคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ ลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง และใช้ประโยชน์จากพืชผลทางการเกษตร ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร จึงเห็นชอบให้การส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการผลิตเอทานอล 99.5% จำนวน 5 โครงการ ซึ่งแต่ละโครงการมีแผนการตลาดที่ชัดเจนและผลิตเพื่อการส่งออกเป็นส่วนใหญ่ รวมมูลค่าเงินลงทุน 16,149 ล้านบาท ประกอบด้วย
1. บริษัท ดั๊บเบิลเอ เอทานอล จำกัด ลงทุน 3,688 ล้านบาท กำลังการผลิตเอทานอล 165,000,000 ลิตรต่อปี และก๊าซชีวภาพ 13,600,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ตั้งโครงการที่เขตอุตสาหกรรม 304 จ.ปราจีนบุรี
2. บริษัท ไบโอ เอทานอล (ประเทศไทย) จำกัด ลงทุน 1,274 ล้านบาท มีกำลังการผลิตเอทานอล 72,000,000 ลิตรต่อปี และปุ๋ยอินทรีย์ 21,600 ตันต่อปี ตั้งโครงการที่ จ.ชลบุรี
3. บริษัท ไทย อะโกร เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ลงทุน 1,575 ล้านบาท มีกำลังการผลิตเอทานอล 66,000,000 ลิตรต่อปี ตั้งโครงการที่ จ. สุพรรณบุรี
4. บริษัท พลังเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด ลงทุน 4,229 ล้านบาท มีกำลังการผลิตเอทานอล 231,000,000 ลิตรต่อปี ตั้งโครงการที่ จ.อุบลราชธานี
5. บริษัท บุญเอนก จำกัด ลงทุน 5,383 ล้านบาท มีกำลังการผลิตเอทานอล 346,500,000 ลิตรต่อปี ตั้งโครงการที่ จ.นครราชสีมา โดยทุกโครงการมีแผนจะจำหน่ายเอทานอลในต่างประเทศประมาณ ร้อยละ 80 — 90
กลุ่มยานยนต์ขยายตัวต่อเนื่อง
ฮอนด้าขยายลงทุนรวม 7.5 พันล้านบาท
นายสาธิตกล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมได้พิจารณาให้การส่งเสริมการลงทุนแก่ กิจการประกอบรถยนต์และผลิตชิ้นส่วนโลหะสำหรับยานพาหนะ ของบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นการขยายกำลังการผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ เช่น ซีวิค แอคคอร์ด และซีอาร์วี เพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดในอนาคต โดยจะลงทุน 7,588 ล้านบาท มีกำลังการผลิตปีละประมาณ 210,000 คัน และผลิตชิ้นส่วนโลหะสำหรับยานพาหนะปีละประมาณ 2,160,000 ชิ้น ตั้งโครงการที่เขตอุตสาหกรรมโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา โดยจะเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศประมาณร้อยละ 40 และส่งออกร้อยละ 60 ในอาเซียน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
บริษัท ซีเมนส์ วีดีโอ โอโตโมทีฟ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม SIEMENS ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานยนต์รายใหญ่ของเยอรมัน และเป็นผู้นำในการผลิตระบบฉีดน้ำมันเชื้อเพลิง ได้รับการส่งเสริมให้ผลิตชิ้นส่วนของระบบฉีดน้ำมันเชื้อเพลิง ประกอบด้วย หัวฉีดน้ำมันเชื้อเพลิง ปีละประมาณ 2,300,000 ชิ้น และปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิงแรงดันสูง ปีละประมาณ 575,000 ชิ้น มีมูลค่าเงินลงทุน 4,540 ล้านบาท ตั้งโครงการที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ระยอง
กิจการของ Mr. Stephen Small ได้รับส่งเสริมในกิจการผลิตเครื่องยนต์ดีเซลขนาด 2500 — 2800 ซีซี ซึ่งใช้กับรถปิกอัพ มูลค่าเงินลงทุน 6,450 ล้านบาท มีกำลังการผลิตเครื่องยนต์ปีละประมาณ 106,000 เครื่อง โดยร้อยละ 40 จะผลิตเพื่อใช้กับรถปิกอัพที่จำหน่ายในประเทศ ส่วนร้อยละ 60 จะประกอบในรถที่จำหน่ายในต่างประเทศ ตั้งโครงการที่นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์น ซีบอร์ด จ.ระยอง
โรงกลั่นน้ำมันระยอง — นิคมฯ โรจนะ ขยายลงทุน
นายสาธิตกล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบให้การส่งเสริมแก่กิจการผลิต CHOLINE CHLORIDE ของบริษัท ไทยโคลีนคลอไรด์ จำกัด มูลค่าเงินลงทุน 1,120 ล้านบาท กำลังการผลิตปีละประมาณ 27,000 ตัน โดยผลิตภัณฑ์ CHOLINE CHLORIDE เป็นของเหลวอยู่ในกลุ่มสารที่เป็นวิตามิน B 4 ซึ่งจำเป็นในการเสริมสร้างอวัยวะต่างๆ ช่วยการเจริญเติบโตของสัตว์ และช่วยในกระบวนการเผาผลาญอาหาร และนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ตั้งโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก จังหวัดระยอง
กิจการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง และแนพทา ของบริษัท โรงกลั่นน้ำมันระยอง จำกัด (มหาชน) ขยายการลงทุนมูลค่า 10,611 ล้านบาท ภายใต้ชื่อโครงการ “UPGRADING COMPLEX” ซึ่งจะนำกาก CONDENSATE (CONDENSATE RESIDUE) จากโครงการ REFORMING COMPLEX ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล 1996 จำกัด จังหวัดระยอง มาเพิ่มมูลค่า ด้วยการกลั่นแยกเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดต่างๆ วันละประมาณ 50,000 บาเรล อาทิ น้ำมันดีเซล น้ำมันอากาศยาน น้ำมันเตากำมะถันต่ำ ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมาบตาพุด จังหวัดระยอง
กิจการเขตอุตสาหกรรม ของบริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นการขยายเขตอุตสาหกรรม พื้นที่ 1,800 ไร่ มูลค่าเงินลงทุน 2,314 ล้านบาท เพื่อรองรับการขยายการลงทุนของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเกษตรและผลิตผลทางการเกษตร ตั้งอยู่ที่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
กิจการผลิต ผลิตพลังงานไฟฟ้า ไอน้ำ และน้ำเพื่ออุตสาหกรรมของบริษัท พีทีที ยูทิลิตี้ จำกัด มูลค่าเงินลงทุน 2,204 ล้านบาท เป็นการผลิตไฟฟ้า 37.6 เมกะวัตต์ โดยใช้ก๊าชธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ใช้กระบวนการผลิตแบบโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (COGENERATION) โดยจะจำหน่ายไฟฟ้าโดยตรงให้แก่โรงงานที่ตั้งในนิคมเดียวกัน ที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก (มาบตาพุด) จังหวัดระยอง
ให้ส่งเสริมโรงไฟฟ้าพลังงานลม 3 โครงการ
นายสาธิต กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบให้การส่งเสริมแก่กิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม รวม 3 โครงการ โดยเป็นโครงการร่วมทุนระหว่างนักธุรกิจไทย เดนมาร์ก และฮ่องกงประกอบด้วย กิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ของ บริษัท ไทย วินด์ เอ็นเนอร์ยี จำกัด เงินลงทุน 6,563 ล้านบาท มีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมขนาด 100 เมกะวัตต์และจะจำหน่ายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ตั้งกิจการที่ อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร
กิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ของ บริษัท เนชั่นแนล วินด์เพาเวอร์ จำกัด เงินลงทุน 4,425 ล้านบาท มีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมขนาด 70 เมกะวัตต์และจะจำหน่ายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ตั้งกิจการที่ อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร
กิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ของ บริษัท ไทย วินด์เพาเวอร์ จำกัด เงินลงทุน 3,570 ล้านบาท มีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมขนาด 50 เมกะวัตต์และจะจำหน่ายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ตั้งกิจการที่ อำเภอนิคมคำสร้อย จ.มุกดาหาร
นอกจากนี้ ยังเห็นชอบให้การส่งเสริมแก่กิจการนำวัสดุที่ไม่ต้องการใช้แล้วแปรรูปเพื่อใช้ใหม่ ของ บริษัท เบตเตอร์ เวิลดิ์ กรีน จำกัด ( มหาชน ) เงินลงทุน 80 ล้านบาท เป็นการแปรรูปของเหลวที่เป็นของเสีย เพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิง โดยของเสียที่นำมาใช้จะแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ การแปรรูปของเหลวที่ไม่ต้องการใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ปีละประมาณ 70,000 ตัน และการแปรรูปของแข็งที่ไม่ต้องการใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ปีละประมาณ 70,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะช่วยลดมลพิษและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วจากโรงงานอุตสาหกรรม โดยตั้งกิจการที่ อำเภอแก่งคอย จ.สระบุรี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ