กรุงเทพฯ--14 พ.ย.--สปส.
การดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ปราศจากโรคภัยถือเป็นสิ่งสำคัญ คนส่วนใหญ่ปรารถนาที่จะใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ไม่ต้องทนทุกข์จากการเจ็บป่วย เพราะเมื่อไหร่ที่เจ็บป่วย นอกจากจะบั่นทอนสุขภาพกาย สุขภาพใจของคนป่วยและคนรอบข้างที่เกี่ยวข้องแล้ว การเจ็บป่วยยังมีผลกระทบถึงเรื่องเงินและเรื่องการทำงาน ยิ่งถ้าป่วยเป็นโรคเรื้อรังหรือโรคที่ต้องใช้ระยะเวลานานในการรักษานานด้วยแล้ว ต้องสิ้นเปลืองเงินที่ใช้เป็นค่ารักษา ต้องหยุดการทำงาน ในคนป่วยบางรายถึงกับต้องออกจากงาน เพื่อมาพักรักษาตัว
เมื่อมีคนงานเจ็บป่วยมากก็ย่อมส่งผลเสียหายต่อสถานประกอบการ ทั้งผลผลิตที่ลดลง คุณภาพสินค้าไม่ได้มาตรฐาน และภาระในการดูแลรักษาพยาบาล ซึ่งสถานประกอบการควรมีมาตรการในการส่งเสริมสุขภาพที่ดีให้กับคนงาน เพราะปัจจัยที่ชี้ว่า สถานประกอบการจะมีความสำเร็จได้นั้น คือ คนงาน องค์กรต่างๆ จะพัฒนาหรือล้มเหลวขึ้นอยู่กับ “คนงาน” ซึ่งเป็นปัจจัยหลัก ดังนั้น ทรัพยากรมนุษย์จึงมีคุณค่ายิ่งต่อองค์กร สำนักงานประกันสังคมจึงให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมสุขภาพคนทำงานใน สถานประกอบการ เพื่อสร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้แก่คนงาน อันเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาองค์กร
นายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า สำนักงานประกันสังคม มีหน้าที่ให้ความคุ้มครองดูแลลูกจ้าง ผู้ประกันตนตามสิทธิประโยชน์ทั้ง 7 กรณี ซึ่งกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยถือว่ามีความสำคัญมาก เนื่องจากการมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งกายและใจของลูกจ้าง ผู้ประกันตนนั้น จะส่งผลให้อัตราการเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากการทำงานลดลง สถานประกอบการ หรือแม้แต่โรงพยาบาลก็ลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลลงด้วยเช่นกัน
สำนักงานประกันสังคมเล็งเห็นถึงความสำคัญเรื่องสุขภาพและคุณภาพชีวิตของลูกจ้าง ผู้ประกันตนมาตลอด จึงได้มีการจัดโครงการสร้างเสริมสุขภาพในสถานประกอบการ เพื่อให้นายจ้างจากสถานประกอบการต่างๆ เห็นความสำคัญและประโยชน์ของการสร้างเสริมสุขภาพในสถานประกอบการ ได้ทราบแนวทางการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพในสถานประกอบการ และเพื่อให้ลูกจ้าง ผู้ประกันตนได้รับการสนับสนุนให้มีพฤติกรรมด้านสุขภาพที่ถูกต้องเหมาะสม รวมทั้งส่งเสริม สนับสนุนและผลักดันให้เกิดการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพในสถานประกอบการ
เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2550 สำนักงานประกันสังคมให้การดูแลคุ้มครองผู้ประกันตนในกองทุนประกันสังคมมีจำนวน 9.17 ล้านคน และมีสถานประกอบการในกองทุนนี้จำนวน 380,313 แห่ง คาดว่าจะมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นอีก ดังนั้น สำนักงานประกันสังคมจึงเห็นความสำคัญและประโยชน์ของการสร้างเสริมสุขภาพลูกจ้าง
ผู้ประกันตนในสถานประกอบการ ซึ่งมีผลโดยตรงในด้านสุขภาพของลูกจ้าง ผู้ประกันตน และสถานประกอบการ เพราะเมื่อคนงานมีสุขภาพที่ดี ทำงานได้เต็มเวลา ผลผลิตก็เพิ่มสูงขึ้น คุณภาพสินค้าและการบริการก็ดีขึ้นตามไปด้วย การขาดงาน การลางานก็จะลดลงเช่นกัน อีกทั้งยังส่งผลต่อสังคม ประเทศชาติ เนื่องจากสถานประกอบการมีผลผลิตและคุณภาพที่ดี สามารถแข่งขันในเวทีระดับโลกได้ ถือว่าเป็นการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและนำรายได้เข้าสู่ประเทศชาติ
ด้าน คุณสมชาย หวังมานะ ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัทผลิตหลอดไฟฟ้าแห่งหนึ่ง เล่าให้ฟังถึงการดูแลสุขภาพในสถานประกอบการว่า การที่สำนักงานประกันสังคมจัดโครงการ สร้างเสริมสุขภาพในสถานประกอบการขึ้น ช่วยให้เข้าใจและรู้ถึงวิธีการสร้างเสริมสุขภาพที่ถูกต้อง ให้แก่ลูกจ้าง เพราะการผลิตหลอดไฟฟ้าจะต้องอาศัยองค์ประกอบหลายด้าน ทั้งความพร้อมด้านสุขภาพของลูกจ้าง ระยะเวลาในการผลิต ซึ่งต้องผลิตออกมาให้มีคุณภาพที่ดีก่อนที่จะออกไปจำหน่ายหรือส่งไปยังร้านค้าต่างๆ ดังนั้น ทางบริษัทจะให้ความใส่ใจเรื่องสุขภาพของลูกจ้างเป็นพิเศษ เพราะหากลูกจ้างมีสุขภาพแข็งแรง การขาดงาน การลาป่วยก็ลดน้อยลง ผลผลิตก็เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากทำงานได้เต็มเวลา คุณภาพการทำงานก็ดีขึ้นด้วย รวมทั้ง การประชาสัมพันธ์สิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับจากกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน
การลงทุนด้านสุขภาพในสถานประกอบการ ไม่ต้องใช้งบประมาณมากมายหากเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ เพราะประโยชน์ที่ได้รับจากการที่คนงานมีสุขภาพดี มันมากเกินกว่าที่จะประเมินค่าได้ การสร้างเสริมสุขภาพคนทำงาน นอกจากป้องกันความสูญเสียอันเกิดจากโรคที่สามารถป้องกันได้แล้ว อัตราการเจ็บป่วยและสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลของกองทุนประกันสังคมก็จะมีการปรับลดลง ทำให้กองทุนประกันสังคมมีเสถียรภาพมากขึ้นด้วย ทั้งนี้ ในปี พ.ศ.2549 กองทุนประกันสังคมจ่ายค่ารักษาพยาบาลกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจำนวน 15,966.93 ล้านบาท การจัดโครงการสร้างเสริมสุขภาพในสถานประกอบการขึ้นจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายได้
นอกจากนี้ เมื่อคนงานมีสุขภาพที่ดี การผลิตสินค้าก็จะมีคุณภาพที่ดีขึ้นเช่นกัน และบางสถานประกอบการอาจจะมียอดการสั่งสินค้าเพิ่มขึ้นได้ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนทำงาน ถือว่าเป็นพลังที่จะทำให้เกิดพัฒนาการใหม่ๆ เพื่อมุ่งการสร้างเสริมสุขภาพแรงงานไทยสู่มาตรฐานสากล