กรุงเทพฯ--1 ส.ค.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน
ส่งเสริมความรู้ด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ เพื่อสรรค์สร้างอัจฉริยภาพเยาวชนไทยสู่เวทีคนเก่งระดับสากลเอชพี ร่วมกับ สสวท. สนับสนุนการจัดการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศครั้งที่ 23
ปัจจุบันวิวัฒนาการด้านเทคโนโลยี นั้นรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ควบคู่ไปกับการพัฒนาความรู้ด้านวิชาคอมพิวเตอร์ ดังนั้นการพัฒนาบุคลากรเพื่อให้ก้าวทันไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากรในระดับเยาวชนให้มีความรู้ความสามารถ เพื่อการ ต่อยอดในอนาคต
ด้วยเยาวชนไทยที่มีความรู้ความสามารถ และอัจฉริยภาพทางปัญญาที่ไม่น้อยไปกว่าชาติอื่นๆ และที่สำคัญในปัจจุบันเด็กๆ ได้ให้ความสนใจในวิชาการคอมพิวเตอร์มากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมทั้งได้รับการสนับสนุน ส่งเสริมการเรียนการสอนด้านวิชาคอมพิวเตอร์อย่างต่อเนื่อง ทั้งจากสถาบันการศึกษา ผู้ปกครอง คณาจารย์ และหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ซึ่งมีแนวคิดในการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีอย่างเต็มที่ โดยหนึ่งในแนวทางการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์นั้น ก็คือการคัดเลือกและส่งตัวแทนเยาวชนเข้าร่วมแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระดับนานาชาติ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีกับนานาชาติ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุกรี สินธุภิญโญ อาจารย์ประจำภาควิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าทีมประเทศไทย กล่าวว่า “ ที่ผ่านมาทางสสวท. ได้มีการคัดเลือกตัวแทนเยาวชนไทยให้เข้าร่วมแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกในระดับนานาชาติเป็นเวลากว่า 15 ปี และจากผลงานที่มาก็ทำให้เห็นว่าเยาวชนไทยมีความสามารถ และสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องมาจากการพัฒนาด้านการศึกษาวิชาคอมพิวเตอร์ในบ้านเราที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เยาวชนไทยมีโอกาสเรียนรู้มากขึ้น แม้ในระดับมัธยมศึกษานั้นก็มีโอกาสได้เรียนวิชาคอมพิวเตอร์มากขึ้น ประกอบกับเทคโนโลยีที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้เยาวชนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลความรู้ได้มากขึ้น และในปีนี้น้องๆ 4 ตัวแทนประเทศไทยที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมการแข่งขันนั้นก็สามารถฉายแววความเป็นอัจฉริยะตั้งแต่การเก็บตัวฝึกซ้อม เราจึงเห็นว่าเยาวชนไทยเหล่านี้ น่าจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติได้ในอนาคต”
ด้าน นายพงศ์ธวัช พิเชษฐเลอมานวงศ์ ผู้จัดการกลุ่มผลิตภัณฑ์และการตลาด กลุ่มธุรกิจเพอร์ซันแนลซิสเต็มส์ บริษัท ฮิวเลตต์-แพคการ์ด (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า "เอชพีรู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการพัฒนาด้านวิชาการคอมพิวเตอร์ให้แก่เยาวชนไทย และมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าภาพในการแข่งคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศในครั้งนี้ ในฐานะที่เอชพีเป็นผู้ผลิตคอมพิวเตอร์อันดับ 1 ของโลก เรามีความเชื่อมั่นในศักยภาพของเยาวชนไทย ที่จะสามารถเรียนรู้และต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ได้เป็นอย่างดี พร้อมทั้งจะนำความเจริญก้าวหน้ามาสู่ประเทศของเรา พร้อมทั้งต้องขอแสดงความยินดีกับตัวแทนทั้ง 4 ที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกฯ ในครั้งนี้ด้วย”
โดยตัวแทนเยาวชนที่เข้าร่วมแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระดับประเทศประจำปี 2554 นี้ ประกอบด้วย นายพศิน มนูรังษี จากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย, นายสรวิทย์ สุริยกาญจน์ จากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์, นายลภนชัย จิรชูพันธ์ จาก และนายวิชชากร กมลพรวิจิตร จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
ด้วยความชื่นชอบในการเล่นเกม แรงบันดาลใจสู่ความเป็นอัจฉริยะทางคอมพิวเตอร์ ตัวแทนเยาวชนทั้ง 4 แสดงให้เห็นว่าการใช้เทคโนโลยีไปในทางที่ถูกที่ควร และสร้างสรรค์นั้นย่อมเกิดผลดีต่อทั้งตัวเอง และผู้อื่น โดยน้องสรวิทย์ หนึ่งใน 4 ตัวแทนเยาวชนฯ กล่าวว่า “เมื่อก่อนผมเป็นเด็กติดเกม และชอบเล่นเกมมาก จึงอยากเอาชนะเกม เลยเริ่มศึกษาเกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ทำให้รู้สึกว่าตัวเองชื่นชอบทางด้านนี้ และคิดว่าน่าจะทำได้ดี จึงมีการพัฒนาและฝึกฝนมาอย่างต่อเนื่องจนสามารถพัฒนาความรู้ด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ของตนเองได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และได้รับเลือกเป็นตัวแทนเยาวชนฯ ในที่สุด”
ด้าน น้องลภนชัย เสริมว่า “นอกจากนี้ การได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรักและเรียนรู้ในสิ่งที่ เราสนใจนั้น ทำให้เรามีความสุขในการเรียน จึงทำให้เราประสบความสำเร็จในด้านนั้น อย่างที่เราชื่นชอบการเล่นเกม จนสามารถพัฒนาความรู้ความสามารถด้านคอมพิวเตอร์ และเป็นตัวแทนของประเทศได้ เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าการได้ทำในสิ่งที่เรารัก จะนำไปสู่การประสบความสำเร็จ”
ความตั้งใจ การฝึกฝนและการเตรียมความพร้อมอยู่เสมอ นำพาสู่ความสำเร็จได้ไม่ยาก ดังตัวอย่างของตัวแทนเยาวชนไทยทั้ง 4 น้องวิชชากร กล่าวว่า “การตั้งใจเรียนในห้องเรียน และหมั่นทบทวนบทเรียนอยู่เสมอ ทำให้เรามีความเข้าใจในบทเรียนมากขึ้น และเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนสอบ โดยที่เราไม่ต้องเคร่งเครียดมากเกินไปเวลาสอบ เพราะเรามีการทบทวนบทเรียนเสมออยู่แล้ว และจะทำให้เราสามารถสอบได้คะแนนดี อย่างการเตรียมตัวก่อนเข้าแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกฯ ในครั้งนี้พวกเราก็ต้องหมั่นฝึกฝนทำแบบทดสอบอยู่เสมอ พร้อมทั้งเก็บตัวทดสอบในบรรยากาศจำลองเหมือนการสอบจริง เพื่อเตรียมความพร้อมในการแข่งขัน ก็ช่วยสร้างความมั่นใจในการเข้าแข่งขันมากยิ่งขึ้น”
ด้าน น้องพศิน กล่าวว่า “นอกจากการตั้งใจเรียน และการหมั่นฝึกฝนทำแบบทดสอบแล้ว การร่วมทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การเป็นสมาชิกชมรม การเล่นดนตรี หรือการเล่นกีฬา ก็ยังช่วยให้เรารู้จักการเข้าสังคม และที่สำคัญยังทำให้เราได้แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นกับผู้อื่นอีกด้วย นอกจากนี้การทำกิจกรรม และการเรียน หากเราทำควบคู่กันไปนั้น ก็เป็นการฝึกให้รู้จักแบ่งเวลา และฝึกการเตรียมความพร้อมได้อีกทางหนึ่ง สุดท้ายสิ่งที่สำคัญที่สุด คือความตั้งใจ หากพวกเรามีความตั้งใจที่จะสิ่งใด ก็ย่อมนำไปสู่ความสำเร็จได้ไม่ยาก”
ปัจจุบันสสวท. ได้ให้การสนับสนุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นสาขาวิชาที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศ แต่ในประเทศยัง ขาดแคลนบุคลากรในสาขาวิชานี้อย่างมาก โดยทางสสวท. เห็นว่าการผลักดันบุคลากร โดยเฉพาะในระดับเยาวชนให้สนใจด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์นั้น จะช่วยทำให้การพัฒนาบุคลากรนั้นเติบโตไปด้วยดี ดังนั้นทางสสวท. จึงมีการจัดกิจกรรมต่างๆ มากมาย สำหรับเยาวชนในแต่ละระดับ ตั้งแต่การจัดอบรมค่ายวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ การสอบแข่งขันโอลิมปิกวิชาการทั้งในระดับประเทศ และระดับนานาชาติ ซึ่งกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้มีตั้งแต่นักเรียนระดับประถมศึกษา ไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย รวมถึงการจัดทุนการศึกษาเพื่อให้ศึกษาต่อด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะ ซึ่งเป็นทุนการศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงระดับปริญญาเอก
สำหรับการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศในครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 23 โดยประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน ระหว่างวันที่ 22 — 29 กรกฎาคม 2554 ณ โรงแรมรอยัล คลีฟ บีช รีสอร์ท เมืองพัทยา