สถานการณ์ราคาน้ำมันประจำสัปดาห์ และแนวโน้มในสัปดาห์นี้ ที่ 1 — 5 ส.ค. 54

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 1, 2011 16:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ส.ค.--ปตท. ฝ่ายบริหารความเสี่ยงราคาและวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันว่า ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์ที่ 25-29 ก.ค. 54 ราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เฉลี่ยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.52 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล อยู่ที่ระดับ 111.79 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เฉลี่ยปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.06 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล อยู่ที่ 117.55 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล และน้ำมันดิบเวสเท็กซัส (WTI) เฉลี่ยปรับตัวลดลง 0.24 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรลอยู่ที่ 97.87 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 2.11 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล อยู่ที่ 127.47 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล และน้ำมันดีเซลเฉลี่ยลดลง 0.48 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล อยู่ที่ 129.75 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล โดยมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคา ได้แก่ ผลกระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก - กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 23 ก.ค. 54 ลดลง 24,000 ราย จากสัปดาห์ก่อน อยู่ที่ 398,000 ราย (ต่ำที่สุดในรอบ 3 เดือน) - The Conference Board รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 59.5 ในเดือน ก.ค. 54 (เพิ่มขึ้น 3.3% จากเดือนก่อน หรือจาก 57.6 ในเดือน มิ.ย. 54) สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ 56-57 จุด - ปริมาณส่งมอบน้ำมันดิบ Forties จากทะเลเหนือเดือน ส.ค. 54 เกิดความล่าช้า จากการลดปริมาณการผลิตของแหล่งผลิตน้ำมันในเขตทะเลเหนือ - อินเดียนำเข้าน้ำมันดิบเดือน มิ.ย. 54 เพิ่มขึ้น 6.5% มาอยู่ที่ระดับ 3.34 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้น 0.21 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากช่วงเดียวกันของปีก่อน) - รัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันของอิรัก นาย Abdul-Kareem Luaibi ประกาศจะไม่เพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ เพราะเห็นว่าภาวะตลาดปัจจุบัน (อุปสงค์และอุปทาน) สมดุล และราคาอยู่ในระดับที่เหมาะสม (ปัจจุบันอิรักผลิต 2.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน) - โรงกลั่น Aden (130,000 บาร์เรลต่อวัน) ของเยเมนกลับมารับน้ำมันดิบจากแหล่งน้ำมันดิบในประเทศปริมาณ 1.12 ล้านบาร์เรล เป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน หลังจากการปิดดำเนินการชั่วคราวเนื่องจากท่อขนส่งน้ำมันดิบถูกก่อการร้าย ผลกระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ - อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ไตรมาสที่ 2 ปี 2554 เพิ่มขึ้น 1.3% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 1.8% อีกทั้งมีการปรับตัวเลขของไตรมาสที่ 1 ลงมาอยู่ที่ 0.4% จากการประกาศก่อนหน้าที่ 1.9% - กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานยอดขายบ้านใหม่ ลดลงติดต่อเป็นเดือนที่สอง อยู่ที่ 312,000 หน่วย ในเดือน มิ.ย. 54 (ลดลง 1% จากเดือนก่อน หรือจาก 315,000 หน่วย ในเดือน พ.ค. 54) - Bureau of Ocean Energy Management ของสหรัฐฯ รายงานว่าบริษัทผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซในอ่าวเม็กซิโกเริ่มกลับมาดำเนินการหลังจากพายุ Don เริ่มอ่อนตัวลง ปัจจุบันกำลังการผลิตน้ำมันและก๊าซลดลงอยู่ที่ 6% และ 3.5% ตามลำดับ จากเดิมผลิตลดลงอยู่ที่ 11.9% และ 6.2% เมื่อปลายสัปดาห์ก่อน - สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (Energy Information Administration, EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ สัปดาห์สิ้นสุด 22 ก.ค. 54 เพิ่มขึ้น 2.3 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 354.03 ล้านบาร์เรล, Gasoline เพิ่มขึ้น 1.02 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 213.48 ล้านบาร์เรล และ Distillates เพิ่มขึ้น 3.39 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 151.85 ล้านบาร์เรล ขณะที่อัตราการกลั่นลดลง 2% อยู่ที่ 88.3% - จีนนำเข้าน้ำมันดิบในเดือน มิ.ย. 54 ลดลง 11.5% จากเดือนก่อน อยู่ที่ระดับ 4.81 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น ในระยะสั้นราคาน้ำมันดิบ Brent และ WTI มีแนวรับแนวต้านอยู่ที่ 115-123 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรลและ 94-100 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรลตามลำดับ ราคาน้ำมันมีแนวโน้มแข็งแกร่งขึ้นจากสหรัฐฯ บรรลุข้อตกลงในการเพิ่มเพดานหนี้ของประเทศ ส่งผลให้นักลงทุนคลายความกังวลในการซื้อสินทรัพย์เสี่ยง อย่าไรก็ตามการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังไม่แข็งแกร่งนักโดยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไตรมาสที่สอง ต่ำกว่าประมาณการณ์ ขณะที่อัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับสูง ประกอบกับภาคอุตสาหกรรมของจีนเริ่มชะลอตัวตามอุปสงค์ในประเทศที่ลดลง ควรจับตามองโยบายการเงินของรัฐบาลจีนที่ยืนยันการใช้มาตรการการเงินที่เข้มงวดต่อไปเพื่อควบคุมอัตราเงินที่สูงถึง 6.4% ในเดือน มิ.ย. 54 ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โทร. 0 2537-1630 โทรสาร 0 2537-2171

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ