กรุงเทพฯ--3 ส.ค.--กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในฐานะรองประธานกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบแนวนโยบายและแนวปฏิบัติในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศของหน่วยงานของรัฐเพิ่มเติมอีก 2 หน่วยงาน ทำให้มีหน่วยงานของรัฐที่ได้จัดทำแนวนโยบายและแนวปฏิบัติดังกล่าวแล้ว จำนวน 8 หน่วยงาน คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ธนาคารออมสิน กรมการค้าต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย
“การจัดทำแนวนโยบายและแนวปฏิบัติในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศของหน่วยงานของรัฐนี้ เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ พ.ศ. 2549 มาตรา 5 ที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องจัดทำแนวนโยบายและแนวปฏิบัติดังกล่าว เพื่อให้การดำเนินการใดใด ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์กับหน่วยงานของรัฐ หรือโดยหน่วยงานของรัฐมีความมั่นคงปลอดภัยและเชื่อถือได้ รวมทั้งมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งแนวนโยบายและแนวปฏิบัติฯ ที่จัดทำขึ้นนั้น อย่างน้อยจะต้องมีเนื้อหาที่ประกอบไปด้วยการเข้าถึงหรือควบคุมการใช้งานสารสนเทศ การจัดให้มีระบบสารสนเทศและระบบสำรองของสารสนเทศที่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน รวมทั้งจัดทำแผนเตรียมพร้อมกรณีฉุกเฉินในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ เพื่อให้สามารถใช้งานสารสนเทศได้ตามปกติอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนมีการตรวจสอบและประเมินความเสี่ยงด้านสารสนเทศอย่างสม่ำเสมอ” นางจีราวรรณ กล่าว
หลังจากกำหนดแนวนโยบายและแนวปฏิบัติในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศแล้ว หน่วยงานของรัฐจะต้องจัดทำเป็นประกาศ เพื่อเสนอขอรับความเห็นชอบจากคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ก่อนจึงจะมีผลบังคับใช้ โดยขณะนี้มีหน่วยงานที่แจ้งการดำเนินงานไว้ 79 หน่วยงาน คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว 8 หน่วยงาน รอการนำเสนอคณะอนุกรรมการความมั่นคงปลอดภัย 6 หน่วยงาน ส่งเรื่องคืนเนื่องจากการดำเนินงานไม่ครบถ้วน 6 หน่วยงาน และอยู่ระหว่างการตรวจและประสานงานอีก 59 หน่วยงาน
“การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่แพร่หลายมากขึ้นในปัจจุบัน ทำให้ต้องมีการนำกฎหมาย ข้อบังคับต่างๆ มาบังคับใช้กับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งในส่วนที่ต้องกระทำและในส่วนที่ต้องงดเว้นการกระทำ เพื่อช่วยให้การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงานของรัฐมีความมั่นคงปลอดภัยและมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น” นางจีราวรรณ กล่าว
นอกจากนั้นคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ยังได้พิจารณาให้ความเห็นชอบออกใบอนุญาตการประกอบธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2551 ให้กับบริษัทเอกชน จำนวน 3 ราย ได้แก่ บริษัท บางกอก สมาร์ทการ์ด ซิสเทม จำกัด บริษัท ไอพี เพย์เมนท์ โซลูชั่น (IPPS) จำกัด และบริษัท ทูซีทูพี (ประเทศไทย) จำกัด
?
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 021416747 MICT