“ส่งออก” ดัน SMEs ไทยสู่ตลาดโลก พร้อมเผย SMEs ไทยถือเป็นตัวจักรสำคัญการส่งออก ดึงเงินเข้าประเทศไทยกว่า 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 3, 2011 09:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ส.ค.--กรมส่งเสริมการส่งออก นางมาลี โชคล้ำเลิศ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังจากให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานสัมมนา “ธุรกิจกิจติดปีก : จุดประกายความคิด SMEs พลังแห่งการสร้างสรรค์ 360 องศา” ว่า การสัมมนาในครั้งนี้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องระหว่างวันที่ 1-3 สิงหาคม 2554ในรูปแบบของการสัมมนาเชิงปฏิบัติการการเจาะตลาดเชิงลึกใน 4 ตลาดส่งออกที่มีศักยภาพ ได้แก่ จีน อินเดีย แอฟริกา เวียดนามและอาเซียน โดยเน้นเสริมสร้างการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง การสร้างตราสินค้า การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ การพัฒนาช่องทางการตลาดรูปแบบใหม่ๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs ไทยก้าวทันกระแสเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโลกและสร้างผู้ส่งออกรุ่นใหม่ให้มีความเข้มแข็งมีศักยภาพที่โดดเด่นเป็นของตัวเองให้เป็นที่ยอมรับในตลาดโลก “ผู้ประกอบการในกลุ่ม SMEs นับเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ โดยกว่าร้อยละ 99 ของผู้ประกอบการไทยเป็นธุรกิจ SMEs และร้อยละกว่า 80 ของผู้ส่งออกไทยมาจากภาคธุรกิจ SMEs เช่นเดียวกัน และธุรกิจ SMEs ยังก่อให้เกิดการจ้างงานซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 76 ชองการจ้างงานทั้งหมด ซึ่งสร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปีคิดเป็นร้อยละ 30 ของมูลค่าการส่งออกทั้งประเทศ ธุรกิจ SMEs ที่มีแนวโน้มดีปานกลาง ได้แก่ อาหาร ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กระดาษ ปิโตรเคมี ค้าส่ง/ค้าปลีก และโรงพยาบาลเอกชน ที่น่าสนใจคือ กลุ่มอาหารและผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งมีราคาและการส่งออกขยายตัวดีเมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนภาคการค้าได้รับปัจจัยหนุนจากการเติบโตของการบริโภคจากเอกชน อย่างไรก็ตามธุรกิจที่ควรระวัง ได้แก่เฟอร์นิเจอร์ไม้ เสื้อผ้าสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับ เนื่องจากธุรกิจดังกล่าวค่อนข้างมีข้อจำกัดด้านความสามารถในการแข่งขัน และอาจได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากต้นทุนดอกเบี้ย และต้นทุนค่าจ้างที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น” นางมาลี กล่าวเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาศแรกของปี 2554สามารถขยายตัวได้ถึงร้อยละ 3 โดยการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนมีส่วนสำคัญอย่างมากในการผลักดันอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจถึงร้อยละ 3.4 แบ่งเป็นการบริโภคร้อยละ 1.6 และการลงทุนร้อยละ 1.8 เป็นไปในทิศทางเดียวกับเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจอย่างการส่งออกที่มีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวถึงร้อยละ 2.8

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ