กรุงเทพฯ--3 ส.ค.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานอิทธิพลของพายุโซนร้อนนกเตน ส่งผลให้เกิดสถานการณ์อุทกภัยรวม 14 จังหวัด 43 อำเภอ 134 ตำบล 492 หมู่บ้าน ได้แก่ แพร่ เชียงใหม่ น่าน ลำพูน ลำปาง แม่ฮองสอน อุตรดิตถ์ พิจิตร พิษณุโลก นครพนม อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ และสกลนคร ผู้เสียชีวิต 1 ราย
นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวถึง อิทธิพลของพายุโซนร้อน “นกเตน” (NOCK - TEN)ที่เคลื่อนตัวเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย ทำให้มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2554 ถึงปัจจุบัน ส่งผลให้มีพื้นที่ประสบภัยรวม 14 จังหวัด 43 อำเภอ 134 ตำบล 492 หมู่บ้าน มีผู้เสียชีวิต 1 ราย ดังนี้
แพร่ ลำน้ำสาขาของแม่น้ำยม ลำห้วยแม่ยาง ลำห้วยแม่หล่าย ลำห้วยแม่แคม ไหลเข้าท่วมพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองแพร่ และร้องกวาง
เชียงใหม่ เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 11 อำเภอ ราษฎรเดือดร้อน 3,593 ครัวเรือน 6,940 คน ได้แก่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ สันทราย สันกำแพง
ดอยสะเก็ด แม่ออน พร้าว แม่ริม อมก๋อย ไชยปราการ และฮอด
น่าน น้ำในอ่างเก็บน้ำแก่นล้นสปริงเวย์เข้าท่วมพื้นที่อำเภอภูเพียง
ลำพูน เกิดน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอลี้
ลำปาง เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองลำปาง แจ้ห่ม งาว แม่เมาะ วังเหนือ และห้างฉัตร
แม่ฮองสอน น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอปาย และปางมะผ้า
อุตรดิตถ์ น้ำป่าจากภูเขาไหลลงสู่ห้วยน้ำพี้ เอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ทองแสนขัน น้ำปาด และฟากท่า
พิจิตร น้ำในลุ่มน้ำยมไหลเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสามง่าม โพธิประทับช้าง และโพทะเล
พิษณุโลก น้ำในลำน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรในพื้นที่อำเภอชาติตระการ
นครพนม น้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบ้านแพง ท่าอุเทน และนาทม
อุดรธานี น้ำท่วมบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอนายูง น้ำโสม และเพ็ญ มีผู้เสียชีวิต 1 ราย ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว อยู่ในระหว่างการฟื้นฟู
หนองคาย น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่อำเภอโพนวิสัย และมีน้ำท่วมขังในเขตเทศบาลเมืองหนองคาย อำเภอเมืองหนองคาย บริเวณถนนประจักษ์ตลอดสาย ปัจจุบันระดับน้ำลดลงแล้ว รถสามารถสัญจรผ่านได้แล้ว แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำบางพื้นที่
บึงกาฬ น้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเซกา และศรีวิไล
สกลนคร เกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมขังบ้านเรือนในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสกลนคร คำตากล้า และโคกศรีสุพรรณ
นอกจากนี้ ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องยังทำให้ทัศนวิสัยในจังหวัดเชียงรายไม่ดี ส่งผลให้สายการบินต้องระงับการบินจนกว่าทัศนวิสัยจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ปัจจุบันสายการบินได้เปิดให้บริการตามปกติแล้ว ส่วนจังหวัดระยอง เกิดลมกระโชกแรงในพื้นที่อำเภอแกลง ตำบลพังราด ส่งผลให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 30 ครัวเรือน ความเสียหายอยู่ในระหว่างการสำรวจ
สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตและสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดที่ประสบภัยได้ประสานความร่วมมือกับจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ประสบภัย จัดส่งเรือท้องแบนพร้อมเครื่องยนต์ เครื่องอุปโภคบริโภค พร้อมเจ้าหน้าที่ชุด ERT สนับสนุนการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยด่วนแล้ว ตลอดจนจัดเจ้าหน้าที่เร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ สุดท้ายนี้ หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานและให้ความช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป