กรุงเทพฯ--3 ส.ค.--ซีพีเอฟ
นายวันชัย ธัญญพันธ์ ผู้แทนบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า บริษัทเป็นผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร ที่ให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรอันทันสมัยสู่เกษตรกร และสร้างองค์ความรู้เพื่อช่วยยกระดับมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรของประเทศไทยมาโดยตลอด ล่าสุด ซีพีเอฟเดินหน้าสร้างสรรค์บุคลากรด้านประมง ด้วยการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ จ.พระนครศรีอยุธยา ดำเนินการจัดการเรียนการสอนรายวิชาด้านวิทยาศาสตร์การประมง ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง และระดับปริญญาตรี ผ่านโครงการ “ผลิตปลาทับทิมรุ่นซีพีเอฟ” เพื่อผลิตกำลังคนด้านประมง ตอบสนองความต้องการบุคลากรในอุตสาหกรรมประมงของประเทศ
“การจัดการเรียนการสอนนี้เป็นการถ่ายทอดความรู้ทางด้านการผลิตสัตว์น้ำ จากภาคเอกชนสู่สถานศึกษา ทั้งนี้ซีพีเอฟ โดยนายศาทิตย์ แสงไพโรจน์ ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายของบริษัท ให้การสนับสนุนในส่วนของลูกปลาสายพันธุ์ดีและอาหารคุณภาพดีของซีพีเอฟแก่โครงการ และการลงทุนอื่นๆ เป็นเงิน 300,000 บาท เป็นทุนตั้งต้นและจะสนับสนุนพันธุ์ปลาและอาหารตลอดโครงการ นอกจากนี้ ซีพีเอฟจะส่งเจ้าหน้าที่ประมงและพนักงานของบริษัท เข้าไปเป็นวิทยากรให้ความรู้ทั้งในห้องเรียนและภาคปฏิบัติแก่น้องๆ นักศึกษา เมื่อจบรุ่นการเลี้ยงใช้เวลาประมาณ 3 เดือนครึ่ง ทางมหาวิทยาลัยจะมีผลผลิตปลารุ่นประมาณ 4,200 กิโลกรัม และตัวแทนจำหน่ายจะให้งบประมาณสนับสนุนด้านวิชาการของมหาวิทยาลัยฯ ประมาณ 35,700 บาทต่อรุ่น จากผลผลิตปลาดังกล่าว นี่จึงถือเป็นการสนับสนุนภาคการศึกษาของรัฐฯ ให้สามารถผลิตกำลังคนด้านการประมงอย่างมืออาชีพ ผ่านรายวิชาการเลี้ยงปลา การเพาะขยายพันธุ์ปลา ทักษะวิชาชีพประมง3-6 การจัดการคุณภาพน้ำในบ่อเลี้ยงปลา รวมถึงคุณภาพน้ำในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยจะเริ่มดำเนินการในปีการศึกษาใหม่ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2554 นี้เป็นต้นไป” นายวันชัยกล่าว
ด้าน ผศ.จริยา หาสิตพานิชกุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ กล่าวว่า สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การประมง คณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ มีเป้าประสงค์ในการจัดการเรียนการสอนทางด้านการประมง เพื่อผลิตกำลังคนด้านประมงให้มีความเป็นเลิศในวิชาชีพและมีความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยี มีความรู้มีความสามารถ ความเข้าใจในกระบวนการผลิต และการจัดการแก้ไขปัญหาด้านการประมง โดยอาศัยพื้นฐานความรู้และกระบวนความคิดทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งการได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญและเป็นเลิศในด้านเกษตรอุตสาหกรรม ตลอดจนการประมงเข้ามาเช่นนี้ เชื่อว่าจะสร้างประโยชน์ด้านการผลิตกำลังคนด้านประมงได้ตามวัตถุประสงค์