กรุงเทพฯ--4 ส.ค.--แม็กซิม่า คอลซัลแตนท์
ปิดฉากลงไปแล้วสำหรับการประกวดของเหล่านิสิตนักศึกษาปริญญาตรีที่มีจิตอาสาพัฒนาสังคมไทยให้ยั่งยืน กับการประกวด 2011 SIFE Thailand National Exposition ผลสำเร็จโครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิรากแก้ว ณ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา จ.นครปฐม โดยในปีนี้มีมหาวิทยาลัยเข้าร่วมในโครงการทั้งหมด 21 แห่งทั่วประเทศ และมีสามมหาวิทยาลัยแนวหน้าของประเทศ ที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหิดล
ล่าสุด ในปีนี้ทีม นิสิตจากรั้วจามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คว้าแชมป์การแข่งขันเป็นปีที่สามติดต่อกัน ด้วย 3 ผลงาน ได้แก่ การนำมูลไส้เดือนมาหมักเป็นปุ๋ยน้ำ ใช้ในการทำการเกษตรเพื่อลดการใช้สารเคมี การส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับชาวบ้านในชุมชนเกาะเกร็ด และการส่งเสริมให้ชาวบ้านรู้จักการคิดคำนวณต้นทุนทางการเกษตรแบบง่าย เพื่อการดำรงชีพอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังได้รับโอกาสเป็นตัวแทนนักศึกษาไทยขึ้นโชว์ศักยภาพบนเวทีระดับโลก ในงาน “ 2011 SIFE World Cup ” ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 3-5 ตุลาคมศกนี้
มรว. ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานมูลนิธิรากแก้ว ในฐานะผู้บริหารโครงการ SIFE (Students in Free Enterprise) ประเทศไทย เผยว่า “โครงการ SIFE Thailand เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้นักศึกษา ได้ลงพื้นที่จริง เก็บข้อมูล รับทราบปัญหาอย่างถ่องแท้ ร่วมศึกษากับชุมชนเพื่อนำเสนอโครงการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆอย่างตรงจุด และมีประสิทธิภาพวัดได้ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยปีนี้ SIFE ทั่วโลก ยังได้ปรับเกณฑ์การตัดสินที่เคยเน้นธุรกิจนำหน้า มาเป็นรูปแบบที่เน้นสาระสำคัญ 3 ด้าน คือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยทั้งหมดที่กล่าวมานั้น ประเทศไทยได้มีองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นตัวอย่างในการทรงงานโดยคำนึงถึงสาระสำคัญเหล่านี้ มานานมากแล้ว ด้วยหลักเกณฑ์ใหม่ในปีนี้เราจึงเน้นในเรื่องของขบวนการเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งตัวประธานเอง กรรมการ มหาวิทยาลัย นิสิตนักศึกษา ชาวบ้าน ร่วมแชร์กัน ดังนั้นเราจึงต้องให้ความใส่ใจกับตัวชุมชนอย่างถ่องแท้ ต้องเข้าใจ และเข้าถึง เพื่อให้ชาวบ้านอยู่ได้อย่างยั่งยืน ถ้าหน่วยงานของรัฐ รัฐบาล ทำอย่างที่ SIFE ทำ ความเหลื่อมล้ำทางสังคมจะน้อยลงไปอย่างสิ้นเชิง เพราะเราแก้ไขอย่างตรงจุด โดยการประกวดในไทยปีนี้เป็นปีที่เจ็ด ได้ตั้งความหวังที่จะสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย ในการประกวดระดับนานชาติต่อไปในอนาคต ”
โชติ จินดารัตนชลกิจ ปี 3 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีหลักสูตรนานาชาติ สาขาภาควิชาการธนาคารและการเงิน จุฬาฯ ในฐานะประธานโครงการ SIFE จุฬาฯ กล่าวว่า “การทำโครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ต้องเป็นความต้องการของชุมชน จึงจะได้รับความร่วมมือ และโครงการจะยั่งยืน เช่น โครงการ Soil Booster ที่ทำติดต่อมา 3 ปี และขยายผลอย่างต่อเนื่อง เป็นโครงการที่ชวยให้เกษตรกรลดต้นทุนโดยการลดการใช้ปุ๋ยเคมีด้วยน้ำปุ๋ยหมักมูลไส้เดือน ซึ่งโครงการนี้สามารถลดขยะอินทรีย์ได้ถึงกว่า 4 ตันต่อปี ส่วนอีก 2 โครงการ คือ โครงการ อเมซิ่งเกาะเกร็ด และโครงการ (Cost Board) เป็นโครงการที่เราเริ่มใหม่ และเราก็จะพยายามทำให้ได้ตามระยะเวลาที่เราวางไว้ โดยโครงการ Cost Board เป็น โครงการที่ทำให้เกษตรกร อ.แก่งคอย จ.สระบุรี รู้จักวิธีการจดต้นทุนทางการเกษตรแบบง่าย เพื่อจะได้รู้ถึงค่าใช้จ่ายในการผลิตผลทางเกษตรกรรมของตน และนำความรู้มาแลกเปลี่ยนถึงวิธีการลดต้นทุนทางเกษตรกรรมระหว่างกัน เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ส่วนโครงการสุดท้าย โครงการ อเมซิ่งเกาะเกร็ด เป็นโครงการที่ช่วยให้ชาวบ้านในเกาะเกร็ด จ.นนทบุรี สร้างรายได้เพิ่มในส่วนการท่องเที่ยว และการค้าขายผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น รวมทั้งยังรักษาศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวไทยมอญ ให้คงอยู่สืบไป และปีนี้รู้สึกดีใจ และเป็นประวัติศาสตร์ที่จุฬาฯ ชนะ 3 ปีติดกัน รู้สึกภูมิใจมากๆ เพราะแข่งมาทั้งหมด 7 ปี จุฬาฯคว้ารางวัลชนะเลิศ ทั้งหมด 4 ครั้ง คือปีแรก และ 3 ปีล่าสุด และในปีนี้อีกเช่นกันจะได้เป็นตัวแทนไปแข่งระดับโลก ที่ผ่านมา เห็นรุ่นพี่เล่าให้ฟังว่าโครงการของนักศึกษาชาติอื่นๆ เช่น อียิปต์ อเมริกา แคนาดา เป็นโครงการทีมีผลต่อประชาชนและสังคมค่อนข้างมาก มีส่วนช่วยคนในสังคมเป็นแสนคน อย่างไรก็ดี เราจะพยายามอย่างเต็มที่ที่จะพัฒนาโครงการ และนำเสนออย่างเต็มที่”
ทั้งนี้ยังมีอีกสองมหาวิทยาลัยที่เข้ารอบชิงชนะเลิศที่ถึงแม้ไม่ชนะการประกวดในครั้งนี้ แต่โครงการของทั้งสองมหาวิทยาลัยก็มีส่วนช่วยให้ชุมชนพัฒนาทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน จิตตินันต์ ใจสุทธิ์ ประธาน SIFE มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รองชนะเลิศอันดับหนึ่งกล่าวว่า “เป็นโอกาสดีที่เราจะได้ลงมือปฏิบัติจริง ด้วยการนำความรู้ในห้องเรียนมาใช้ เช่น ปัญหาชาวนา ซึ่งเป็นปัญหาหลักของประเทศ เราเลือกทำโครงการข้าวไทย คืนสุขภาพที่ดีให้กับชาวนา ด้วยนาอินทรีย์ และเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับชุมชน 11,200 ตารางเมตร พร้อมเพิ่มรายได้ให้แก่กลุ่มชาวนา 16 ราย ประมาณกว่า 1.5 ล้านบาท เป็นต้น ส่วนโครงการระบบชุมชนอินทรีย์ เพื่อวิถีที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นการเลี้ยงสุกรหลุม ได้ลดปัญหาน้ำเน่า และกลิ่นเหม็น สำหรับภาคการท่องเที่ยวซึ่งนำรายได้เข้าสู่ประเทศอันดับต้นๆ เราได้ทำโครงการ โครงการเครือข่ายชุมชน โฮมสเตย์ไทย โดยขยายโฮมสเตย์เพิ่มอีก 51 ครัวเรือน จากรุ่นพี่ก่อนๆ เป็นต้น”
รวมไปถึงมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ส่งโครงการดีๆ เข้าร่วมประกวดในครั้งนี้ ธนกฤต บรรดาศักดิ์ ประธาน SIFE ,มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ครองตำแหน่งรองชนะเลิศอันดับสอง กล่าวว่า "โครงการมี 3 โครงการ ได้แก่ นาโยน บานารา และอีคอนไชล์ด ที่เราเลือกทำโครงการทั้ง 3 นี้เพราะ ดูจากกลุ่มเป้าหมายก่อนว่าต้องการอะไร หรือว่าวิเคราะห์ปัญหาก่อน ปัญหารวมๆ ของประเทศมีอะไรบ้าง แต่เราไม่สามารถแก้ไขได้ทั้งหมด เราจึงเลือกปัญหาที่ส่งผลกระทบมากที่สุด แล้วเราสามารถแก้ไขได้ เริ่มจากจุดเล็กๆ ก่อน อย่างโครงการบานารา เราได้แรงบรรดาลใจจากรุ่นพี่ คือเป็นโครงการที่รุ่นพี่เค้าทำมาก่อน เรามาสานต่อ ส่วนโครงการนาโยน ได้มาจากนักศึกษา คือบ้านของเขาได้ไปเห็นการโยนข้าวที่จีนแล้วได้นำมาประยุกต์ใช้ในประเทศและได้ผลดี สามารถลดต้นทุนการทำนาลดลง30%-39% และโครงการอีคอนไชล์ด เราเล็งเห็นว่าสมัยนี้ เด็กเป็นรากฐานที่สำคัญของประเทศแต่ว่ายังมีเด็กที่ด้อยโอกาส จึงอยากช่วยพัฒนาศักยภาพ ให้เด็กมีความรู้ทางด้านภาษา และเทคโนโลยีเพื่อการแข่งขันในอนาคต”
การแข่งขัน 2011 SIFE Thailand National Exposition ในปีนี้ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเด็กไทยทีมีความรู้ความสามารถ และจิตอาสาที่ดี ที่จะช่วยกันพัฒนาบ้านเมือง และประเทศชาติให้คงอยูได้อย่างยั่งยืน โดยพลังของเยาวชนเหล่านั้น คือรากแก้วของแผ่นดิน ที่จะหยั่งรากความมั่นคงให้ประเทศให้ก้าวเดินทัดเทียมนานาประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยไม่ว่าการประกวดในครั้งนี้ทีมใดจะเป็นผู้ชนะ แต่ชาวบ้าน และชุมชนที่พวกเขาเหล่านั้นเข้าไปพัฒนา สามารถชนะความยากจน และสามารถเลี้ยงดูตนเอง ครอบครัว และใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างยั่งยืน นั่นคือสิ่งที่ประสพความสำเร็จที่สุดสำหรับโครงการ 2011 SIFE Thailand National Exposition
(อนึ่ง SIFE (Students in Free Enterprise) เป็นองค์กรระดับโลกที่ไม่แสวงหาผลกําไรก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2518 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา สร้างเครือข่ายระหว่างนักศึกษา มหาวิทยาลัย และภาคธุรกิจ และสนับสนุนทีมนักศึกษากว่า 1,500 ทีมใน มหาวิทยาลัยกว่า 40 ประเทศทั่วโลก SIFE มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาถ่ายทอดความรู้ทางธุรกิจ และเศรษฐศาสตร์ โดยใช้แนวทางการเป็นผู้ประกอบการมาดำเนินโครงการปฏิบัติจริงในชุมชนที่ต้องการความช่วยเหลือ เพื่อเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้นด้วยพลังของธุรกิจ การเข้าร่วมโครงการ SIFE เป็นการพัฒนาทักษะของนิสิต นักศึกษาในด้านต่างๆ เช่น การบริหารจัดการ การทำงานเป็นทีม ความเป็นผู้นำ และการแก้ปัญหา เพื่อเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาก่อนก้าวเข้าสู่โลกการทำงานจริงและเป็นการปลูกฝังเยาวชนให้เป็นผู้นำที่มีศักยภาพ มีความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และประเทศชาติต่อไป )