กรุงเทพฯ--4 ส.ค.--สมาคมผู้เลี้ยงสุกรเพื่อการค้านครราชสีมา
นายวรพจน์ สัจจาวัฒนา นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรเพื่อการค้านครราชสีมา เปิดเผยว่า ขณะนี้เป็นที่ทราบกันว่าอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรของไทยกำลังประสบปัญหาโรคระบาดหลายโรคแล้ว ช่วงนี้ยังเข้าสู่ช่วงของการเปลี่ยนฤดูกาล ทำให้สภาพอากาศแปรปรวน ซ้ำเติมให้สุกรอ่อนแอเข้าไปอีก ความสูญเสียที่เกิดขึ้น ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงและการผลิตหมูเป็นเพิ่มขึ้นราว 25% หากรวมภาระค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์เช่น ปลายข้าวที่ขยับตัวสูงขึ้นจากนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลใหม่ด้วยแล้ว นับว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรต้องแบกรับภาระต้นทุนที่หนักหนาเอาการ
“สิ่งที่เกษตรกรต้องการให้ภาครัฐช่วย คือการปล่อยราคาเนื้อหมูให้เป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งความต้องการซื้อและปริมาณผลผลิตที่มีจะเป็นตัวควบคุมราคาเอง เมื่อผู้ผลิตเห็นว่าตลาดสามารถแข่งขันได้อย่างเสรี ก็จะกล้าลงทุนเลี้ยงหมูส่งผลให้ปริมาณหมูมากขึ้น ระดับราคาก็จะปรับลดลงเองโดยอัตโนมัติ จึงขอวิงวอนให้รัฐบาลใหม่เข้าใจถึงสภาวะที่เกษตกรกำลังประสบอยู่ ซึ่งวันนี้แทบไม่ต้องพูดถึงกำไรเพราะต้นทุนสูงมาก ขอแค่ให้กลไกตลาดเป็นตัวควบคุมราคา เพื่อให้เกษตรกรพออยู่ได้และมีที่ยืนก็พอ” นายวรพจน์กล่าว
ด้าน นายสุนทราพร สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ ให้ความเห็นที่สอดคล้องกันว่า กลไกตลาดจะช่วยคลี่คลายปัญหาราคาสุกรได้ และที่ปัจจุบันคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเนื้อสุกรทั้งหมดมีราคาแพงที่กิโลกรัมละ 150-160 บาทนั้น ในฐานะเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทราบดีว่าชิ้นส่วนของสุกรไม่ได้ขายในราคาดังกล่าวได้ทั้งหมด เพราะหากคิดที่สุกรขุนหนึ่งตัวน้ำหนักประมาณ 100 กิโลกรัม เมื่อถูกชำแหละและนำเอาเลือด ขน อวัยวะภายใน และส่วนที่อยู่ในทางเดินอาหารออกแล้วจะได้ซากสุกรที่ขายได้จริงเพียง 75 กิโลกรัม และมีส่วนของเนื้อที่ขายได้ในราคาดังกล่าวอยู่เพียงประมาณ 42 กิโลกรัมเท่านั้น
“ถ้าถามจากพ่อค้าเขียงหมูจะทราบชัดเจนว่า ทั้งสันใน สันนอก กระดูกซี่โครง หรือสามชั้น ล้วนขายกันคนละราคาทั้งสิ้น ซึ่งหากนำมาเฉลี่ยแล้ว ราคาสุกรจะแพงไม่ถึง 150-160 บาทดังที่เข้าใจกัน ทั้งนี้ เชื่อว่าสถานการณ์ราคาจะยืนอยู่ในระดับนี้ และน่าจะคลี่คลายในอีก 6 เดือนข้างหน้า” นายสุนทราพรกล่าวทิ้งท้าย
นายวรพจน์ สัจจาวัฒนา นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรเพื่อการค้านครราชสีมา
นายสุนทราพร สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ