TK park ขยายเครือข่าย รุกคืบพื้นที่ 3 จว.ภาคใต้ เพิ่มโอกาสเยาวชน เข้าถึง ‘ห้องสมุดมีชีวิต’

ข่าวทั่วไป Thursday August 4, 2011 14:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ส.ค.--TK parkห้องสมุดมีชีวิต”ปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น หลายคนคงได้สัมผัสห้องสมุดแนวใหม่ที่เรียกว่าอุทยานการเรียนรู้ หรือ TK park แต่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นเยาวชนในกรุงเทพฯ ขณะที่ยังมีเด็กและเยาวชนจำนวนมากในพื้นที่อื่นๆ ที่ห่างไกล ขาดโอกาสที่จะเข้าถึงแหล่งเรียนรู้สร้างสรรค์ที่ทันสมัยดังกล่าวเพื่อเพิ่มพูนความรู้ และพัฒนาคุณภาพของตนเอง สำนักงานอุทยานการเรียนรู้(สอร.)สังกัดสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้(องค์การมหาชน) เปิดให้บริการ อุทยานการเรียนรู้ หรือ TK park มาตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2548 บนศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ด้วยแนวคิดแหล่งเรียนรู้สร้างสรรค์รูปแบบใหม่ภายใต้บรรยากาศที่ทันสมัย มีกิจกรรมส่งเสริมการอ่านอย่างสร้างสรรค์ สื่อการเรียนรู้ที่หลากหลายทั้งการอ่าน การเขียน ดนตรี กิจกรรม ศิลปะ ไอที เกมคอมพิวเตอร์ต่างๆ รวมถึงสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และมินิเธียเตอร์ จึงทำให้ TK park กลายเป็น “ต้นแบบห้องสมุดมีชีวิต” ที่หลายหน่วยงานต้องการนำรูปแบบดังกล่าวไปปรับใช้กับห้องสมุดหรือพัฒนาแหล่งเรียนรู้ของตน เพื่อปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้กับเด็กและเยาวชนในชุมชน ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาคุณภาพคนสู่สังคม จากศูนย์การค้าฯ ขยายสู่ “อุทยานการเรียนรู้ยะลา” เครือข่ายแห่งแรกในภูมิภาค สำนักงานอุทยานการเรียนรู้(สอร.) คือองค์กรหนึ่งที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเสริมสร้างและสนับสนุนองค์กรหลักที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการอ่านการเรียนรู้ให้สังคมไทยเป็นสังคมฐานความรู้ จึงได้ขยายเครือข่ายออกไปในภูมิภาคต่างๆ เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับเด็กและเยาวชนอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ห่างไกล “อุทยานการเรียนรู้ยะลา หรือ TK park ยะลา” เป็นอุทยานการเรียนรู้แห่งแรกที่จัดตั้งขึ้นในส่วนภูมิภาค มีเทศบาลนครยะลาเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ แม้จะตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่อุทยานการเรียนรู้ยะลาก็สามารถฟันฝ่าอุปสรรคจนสามารถเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2550 และที่นี่ถือเป็นต้นแบบของการจัดการการเรียนรู้ที่มีการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาผสมผสานกับองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัยได้อย่างกลมกลืน นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลา กล่าวว่า เจตนารมณ์ของการจัดตั้งอุทยานการเรียนรู้ยะลา เพื่อช่วยแบ่งปันและกระจายโอกาสในการเข้าถึงการอ่าน และการเรียนรู้สำหรับเด็กเยาวชนในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส นอกจากนั้นยังมีภารกิจสำคัญ คือ การดำเนินยุทธศาสตร์ในการเป็นศูนย์กลาง เพื่อการกระจายองค์ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการห้องสมุดมีชีวิต และส่งเสริมการอ่านการเรียนรู้ให้กับหน่วยงานต่างๆ ที่สนใจในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง โดยมีสอร.เป็นผู้ให้คำปรึกษาแนะนำ รวมทั้งให้แนวทางการบริหารจัดการห้องสมุดมีชีวิตในทุกมิติ ได้แก่ การให้บริการหนังสือ นิตยสาร และสื่อมัลติมีเดีย ภายในห้องสมุด การจัดกิจกรรมบริเวณลานสานฝัน การจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ภายในห้องสมุดเด็กเล็ก การจัดกิจกรรมอบรมเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความสนใจจากเด็กๆในพื้นที่เข้ามาใช้บริการและร่วมทำกิจกรรมเป็นอย่างมาก อุทยานการเรียนรู้ยะลา ยังเปรียบเสมือน “เครื่องมือ” สำหรับการเสริมสร้างความเข้าใจ และความสงบสุขของชาวยะลา เพราะสถานที่แห่งนี้จะกลายเป็นพื้นที่เสริมสร้างพลัง และจินตนาการในทางสร้างสรรค์ของเยาวชนให้เท่าทันกับสภาวะแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และจะทำให้เยาวชนที่มาจากหลากหลายพื้นที่ หลากหลายวัฒนธรรมมีโอกาสได้ทำกิจกรรมร่วมกัน เกิดการปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นโอกาสที่เด็กและเยาวชนจะได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกัน ทั้งยังจุดประกายการส่งเสริมการอ่าน และการเรียนรู้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนให้ทั่วถึง เพื่อกระตุ้นให้มีนิสัยรักการอ่าน รักการศึกษาค้นคว้า และแสวงหาความรู้อย่างสร้างสรรค์ตลอดชีวิต ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริการและพัฒนาองค์ความรู้ และผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park) กล่าวว่า ปัจจุบันนอกจากอุทยานการเรียนรู้ยะลาที่ถือเป็นต้นแบบสำคัญที่แสดงถึงความสมานฉันท์ของคนในพื้นที่ และเป็นเครือข่ายแห่งแรกของเราแล้ว ล่าสุด TK park ยังได้ขยายเครือข่ายเพิ่มขึ้นอีก 2 แห่ง ได้แก่ อุทยานการเรียนรู้สตูล และ อุทยานการเรียนรู้สงขลา โดยเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2553 TK park ได้ลงนามความร่วมมือกับเทศบาลเมืองสตูล จ.สตูล จัดตั้งโครงการอุทยานการเรียนรู้สตูล ซึ่งจะก่อสร้างขึ้นบนพื้นที่กว่า 800 ตารางเมตร จำนวน 2 ชั้น ภายในบริเวณสำนักงานเทศบาลหลังเก่า อ.เมือง จ.สตูล ด้วยงบประมาณกว่า 37 ล้านบาท ที่เทศบาลยะลงทุ่มทุนสร้างเพื่อให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่ทันสมัยแก่เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไปในจังหวัดสตูลได้เข้ามาใช้ประโยชน์ในการแสวงหาความรู้อย่างสร้างสรรค์และต่อเนื่องตลอดชีวิต ซึ่งขณะนี้โครงการฯ มีความคืบหน้าไปกว่า 80 % แล้ว จากยะลา...ถึงสตูล กำเนิด “อุทยานการเรียนรู้ภูมิภาคแห่งที่ 2” “เมืองสตูลน่าอยู่ เชิดชูวัฒนธรรม ก้าวนำการศึกษา ปวงประชาเป็นมิตร เศรษฐกิจรุ่งเรือง ประตูเมืองชายแดน” จากคำขวัญของจังหวัด จะเห็นถึงนโยบายของจังหวัดสตูลที่เน้นให้ความสำคัญกับการศึกษาได้อย่างชัดเจน นายพิบูลย์ รัชกิจประการ นายกเทศมนตรีเมืองสตูล กล่าวว่า จังหวัดสตูลให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก และอยากเห็นเด็กสตูลพัฒนาตัวเองอย่างเต็มความสามารถแม้จะอยู่ในพื้นที่ห่างไกล แต่เด็กและเยาวชนทุกคนในจังหวัดสตูลสามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ที่ทันสมัยได้เช่นเดียวกับเด็กที่อยู่ในเมืองใหญ่ และเห็นว่าการจะปลูกฝังนิสัยรักการอ่านและการเรียนรู้ได้ดีที่สุด ควรเริ่มจากเด็กๆ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาทรัพยากรบุคคลในพื้นที่ให้มีคุณภาพได้อย่างยั่งยืน สำหรับความคืบหน้าในการก่อสร้างนั้น หลังจากได้มีการจัดพิธีวางศิลาฤกษ์และลงเสาเอก “โครงการอุทยานการเรียนรู้สตูล หรือ TK park สตูล” ไปเมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2553 แต่จากภาวะน้ำท่วมหนักที่เกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2554 ทำให้การดำเนินการก่อสร้างล่าช้า แต่ทั้งนี้หวังว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ก่อนวันที่ 5 ธันวาคม หรือ อย่างช้าก่อนสิ้นปีนี้ อย่างไรก็ดี รู้สึกภูมิใจที่อุทยานการเรียนรู้สตูล เป็นอุทยานการเรียนรู้ภูมิภาคแห่งที่ 2 และยังเป็นอุทยานการเรียนรู้แห่งที่ 3 ของประเทศ รองจาก กรุงเทพฯ และยะลา นายพิบูลย์ กล่าวอีกว่า เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ เชื่อว่านอกจากจะตอบโจทย์ความต้องการแหล่งเรียนรู้ที่ทันสมัยในการเข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ใหม่ๆ เพื่อความเท่าเทียมในระบบการศึกษาแล้ว อุทยานการเรียนรู้แห่งนี้ยังจะช่วยดึงดูดความสนใจให้เด็ก เยาวชน ตลอดจนผู้ปกครองทั้งในและนอกพื้นที่เข้ามาใช้บริการและจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ได้อย่างดี แนวคิด ‘ห้องสมุดมีชีวิต’ โดนใจชาวสงขลา ผุด “ โครงการอุทยานการเรียนรู้สงขลา ” จากนโยบายของเทศบาลนครสงขลา ที่ต้องการพัฒนาเมืองสงขลาให้กลายเป็น “เมืองแห่งการเรียนรู้” ด้านการศึกษา มรดกทางด้านวัฒนธรรม ศิลปกรรม สถาปัตยกรรม ภูมิปัญญา วัฒนธรรมท้องถิ่น และเพิ่มคุณค่าความเป็นเมืองประวัติศาสตร์ ประกอบกับแนวคิด “จากทรัพย์ในดิน สู่สินทางปัญญา รักษาสิ่งแวดล้อม” ของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(ปตท.สผ.) ที่เชื่อว่า “ปัญญา” คือรากฐานสำคัญของการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน โดยเฉพาะเยาวชน ในโอกาสครบรอบ 25 ปี บริษัทฯ จึงคิดจัดทำห้องสมุดมีชีวิตขึ้น เนื่องจากจังหวัดสงขลาเป็นพื้นที่ปฏิบัติการโครงการขนาดใหญ่ของบริษัทฯ ในอ่าวไทยหลายโครงการ แนวคิดดังกล่าวสอดรับกับสอร.ที่เล็งเห็นศักยภาพของจังหวัดสงขลาในการจัดทำอุทยานการเรียนรู้ภูมิภาคขึ้นเช่นกัน จึงเกิดเป็นความร่วมมือขึ้นระหว่าง 3 หน่วยงานหลัก คือ เทศบาลนครสงขลา จะเป็นผู้จัดหาสถานที่และก่อสร้างอาคาร , ปตท.สผ.สนับสนุนงบประมาณและการตกแต่งภายใน และสอร.ในฐานะต้นแบบห้องสมุดมีชีวิตสนับสนุน “องค์ความรู้” ด้านการบริหารจัดการ การคัดเลือกหนังสือ สื่อการเรียนรู้แนวใหม่ และมัลติมีเดียต่างๆ รวมถึงจัดวางระบบ และการพัฒนาบุคลากร ด้วยงบประมาณกว่า 25 ล้านบาท ซึ่งได้มีการลงนามข้อตกลงขึ้นเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2554 ที่ผ่านมา นายพีระ ตันติเศรณี นายกเทศมนตรีนครสงขลา กล่าวยอมรับว่า “ การจัดสร้าง “อุทยานการเรียนรู้สงขลา” เป็นโจทย์ที่ยากมากสำหรับการก่อสร้างโครงการ ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ทันสมัยบนใจกลางย่านเมืองเก่าที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 169 ปี แต่หากก่อสร้างแล้วเสร็จ จะทำให้บริเวณดังกล่าวกลายเป็น ‘จัตุรัสของเมือง’ ที่ประชาชน เด็กและเยาวชนเข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่สาธารณะแห่งนี้ได้ต่อไป ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบตัวอาคาร ที่จะต้องสอดคล้องกลมกลืนไปกับสถาปัตยกรรมย่านเมืองเก่า และต้องได้รับความเห็นชอบจากชุมชนในพื้นที่ก่อน แม้การจัดตั้งแหล่งเรียนรู้ทันสมัยแห่งใหม่ในใจกลางย่านเมืองเก่านี้ จะได้รับความสนใจและตอบรับอย่างดีจากภาคีคนรักสงขลาแล้วก็ตาม แต่ก็เชื่อมั่นว่าหลังเปิดให้บริการ จะทำให้บรรยากาศของเมืองสงขลาคึกคักขึ้น รวมทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเมืองสงขลาต่อไปในอนาคต” ด.ญ.หนึ่งเดียว พยัฆโส อายุ 11 ปี นักเรียนชั้น ป.5/1 โรงเรียนเทศบาล 3 (วัดศาลาหัวยาง) กล่าวว่า เป็นเรื่องน่ายินดีที่ทางเทศบาลฯ เห็นความสำคัญของการศึกษา และการจัดสร้างอุทยานการเรียนรู้สงขลาขึ้น จะทำให้เด็กๆ ได้มีแหล่งเรียนรู้ และตระหนักถึงคุณค่าของวัฒนธรรมของคนในชุมชนและยังสอดคล้องกับนโยบายของเทศบาลนครสงขลา ที่จะพัฒนาเมืองสงขลาให้เป็น “เมืองแห่งการเรียนรู้” ขณะที่นายตะวัน เผือกผ่อง ตัวแทนนักศึกษาชั้นปีที่ 1 จากมหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวเสริมว่า การสร้างสติปัญญา ถือเป็นการสร้างอาวุธทางปัญญาที่แท้จริงให้แก่เด็กและเยาวชน จึงหวังว่าอุทยานการเรียนรู้สงขลา จะช่วยสร้างสติปัญญา ความคิด และความรักในอัตลักษณ์ของความเป็นชาวสงขลาต่อไป เช่นเดียวกับนายทรงฤทธิ์ ฤทธิภักดี อายุ 15 ปี ตัวแทนเยาวชนสงขลา กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่จะมีอุทยานการเรียนรู้เกิดขึ้นในพื้นที่ เพราะจะได้มีสื่อการเรียนรู้ที่หลากหลายและทันสมัยมากขึ้น จึงอยากเห็นแหล่งเรียนรู้มีชีวิตเกิดขึ้นในจังหวัดสงขลาเช่นกัน เสียงตอบรับจากเยาวชนเหล่านี้ ถือเป็นการตอกย้ำถึงความต้องการของเด็กๆ ที่ต้องการให้มีแหล่งเรียนรู้สร้างสรรค์รูปแบบใหม่เกิดขึ้นในพื้นที่ เพื่อที่พวกเขาจะได้ใช้พื้นที่ได้อย่างสร้างสรรค์ และเก็บเกี่ยวความรู้จากสื่อการเรียนรู้ที่หลากหลายและทันสมัย รวมทั้งเป็นแหล่งรวมกิจกรรมสร้างสรรค์ ก่อเกิดประโยชน์ของชุมชนในพื้นที่ ที่เรียกว่า “อุทยานการเรียนรู้ ” หรือที่เราอาจเรียกอีกอย่างว่า “แหล่งมั่วสุมทางปัญญาของชุมชน” นั่นเอง!!

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ