กรุงเทพฯ--4 ส.ค.--สศค.
การสัมมนาดังกล่าวเป็นการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สศค. และหน่วยงานในโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินหรือ Financial Safety Net ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) ในการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ฝากเงินและสถาบันการเงินเกี่ยวกับประเด็นการคุ้มครองเงินฝากและการกำกับดูแลสถาบันการเงินในภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมกราคม 2554 ที่จังหวัด เชียงราย พิษณุโลก อุดรธานี เชียงใหม่ ภูเก็ต ชลบุรี นครราชสีมา นครปฐม และสุราษฎร์ธานี โดยเน้นสาระสำคัญ 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) ความมั่นคงและการกำกับดูแลสถาบันการเงินของ ธปท. ตลอดจนเกณฑ์หรือข้อมูลที่ผู้ฝากเงินควรพิจารณาเมื่อฝากเงินหรือทำธุรกรรมกับสถาบันการเงิน 2) แนวคิดพื้นฐานที่มาของระบบการคุ้มครองเงินฝาก และ 3) รายละเอียดสำคัญของพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้ฝากเงิน ทั้งนี้ การสัมมนาแต่ละครั้งมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังทั้งในส่วนผู้ฝากเงินและเจ้าหน้าที่สถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องโดยเฉลี่ย 300 — 400 ราย
อย่างไรก็ตาม สศค. ได้ตระหนักถึงกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญภายหลังจากการปรับลดระดับวงเงินความคุ้มครองจากเต็มจำนวนเป็นไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อรายผู้ฝากเงินต่อสถาบันการเงินในวันที่ 11 สิงหาคม 2554 ว่าคือผู้ฝากเงินซึ่งมีภูมิลำเนาหรือประกอบธุรกิจส่วนใหญ่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ดังนั้น จึงได้หารือร่วมกับ ธปท. และ สคฝ. ตลอดจนสมาคมธนาคารไทย เพื่อขอความร่วมมือในการจัดงานข้างต้น โดยกำหนดจัดงานในช่วงก่อนการลดระดับวงเงินความคุ้มครอง ในรูปแบบการปาฐกถาและเสวนาโดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงการเงินและสถาบันการเงินของไทย อาทิ ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท.
ดร. นริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการ สศค. และประธานคณะกรรมการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ดร. ธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย และนายสิงหะ นิกรพันธุ์ ผู้อำนวยการ สคฝ.
สศค. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคาดว่า การสัมมนาครั้งนี้จะมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังทั้งในส่วนผู้ฝากเงิน เจ้าหน้าที่ระดับกลางและสูงของสถาบันการเงิน ภาคราชการ ภาควิชาการ และสื่อมวลชน จำนวนกว่า 1,700 คน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เมื่อทุกภาคส่วนเกิดความมั่นใจต่อระบบการคุ้มครองเงินฝากก็จะช่วยลดปัญหาการตื่นตระหนก ตลอดจนมีการบริหารจัดการเงินฝากและสินทรัพย์ของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทั้งผู้ฝากเงินและสถาบันการเงิน รวมทั้งภาครัฐในการดำเนินนโยบายดังกล่าวให้เกิดสัมฤทธิผลอย่างยั่งยืนสูงสุด
กำหนดการสัมมนาวิชาการ
เรื่อง “การคุ้มครองเงินฝากและการกำกับดูแลสถาบันการเงิน”
วันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม 2554
เวลา 9.00 — 12.00 น.
ห้องบางกอกคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ โรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์
8.00 - 9.00 น. ลงทะเบียน
9.00 - 9.15 น. ดร. นริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวเปิดงาน
9.15 - 10.15 น. การบรรยายพิเศษ เรื่อง ความมั่นใจต่อระบบคุ้มครองเงินฝากและการกำกับดูแลสถาบันการเงิน โดย
1. ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
2. ดร. ธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย
3. ดร. นริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และประธานคณะกรรมการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก
ดำเนินรายการโดย นางสาวปฏิพร สิทธิพงศ์
10.15 - 12.00 น. การเสวนาเรื่อง “การคุ้มครองเงินฝากและการกำกับดูแลสถาบันการเงิน” โดย
1. นายสรสิทธิ์ สุนทรเกศ ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย
2. นายสิงหะ นิกรพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก
3. นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายระบบการคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงิน
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
ดำเนินรายการโดย นายอมรศักดิ์ มาลา สำนักนโยบายระบบการคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงิน
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
12.00 น. รับประทานอาหารกลางวัน