ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น สนับสนุนกฎหมาย ป.ป.ช. ใหม่ ยกระดับ การต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น เทียบเท่ามาตรฐานโลก พร้อมจัดตั้งสำนักงานภาคีฯ

ข่าวทั่วไป Friday August 5, 2011 09:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ส.ค.--หอการค้าไทย ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น สนับสนุนกฎหมาย ป.ป.ช. ใหม่ ยกระดับการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น เทียบเท่ามาตรฐานโลก พร้อมจัดตั้งสำนักงานภาคีฯ ที่หอการค้าไทย เตรียมพร้อมรบเต็มที่ ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น สนับสนุนกฎหมาย ป.ป.ช.ใหม่ ที่จะช่วยยกระดับการดำเนินงาน ภารกิจป้องกันและปราบปรามการทุจริตของประเทศในภาพรวม ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และดำเนินการจัดตั้ง สำนักงานศูนย์ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น เพื่อเป็นศูนย์กลางดำเนินการ และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กิจกรรมการต่อต้านคอร์รัปชั่นอย่างต่อเนื่อง นายดุสิต นนทะนาคร ประธานภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น เปิดเผยว่า “จากการที่ภาครัฐได้มีการกระตุ้นหน่วยงานต่างๆ ปรับปรุงมาตรการป้องกันความเสี่ยงของการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างโครงการภาครัฐ และความต้องการของภาคประชาชนที่ต้องการความโปร่งใสและเป็นธรรม รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ทั้งนี้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ต้องการปรับปรุงกฎหมายที่จะเพิ่มระดับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตให้มากขึ้น จึงได้เสนอให้มี พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 และได้มีประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งจะช่วยยกระดับภารกิจการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น ให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล “โดยเฉพาะในมาตรา 103/7 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้” และมาตรา 103/8 บัญญัติว่า “ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่รายงานต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อสั่งการให้หน่วยงานของรัฐจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างตามมาตรา 103/7 วรรคหนึ่ง ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ หากหน่วยงานของรัฐใดฝ่าฝืนหรือไม่ดำเนินการ ให้ถือว่าผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องมีความผิดทางวินัย หรือเป็นเหตุที่จะถูกถอดถอนจากตำแหน่งหรือต้องพ้นจากตำแหน่งแล้วแต่กรณี” ซึ่งการจัดตั้งกฎหมายดังกล่าวจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของภาคีฯ ในการตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานรัฐ” นายดุสิต ยังกล่าวเสริมอีกว่า “ประเด็นสำคัญจากการประกาศใช้กฎหมายคือ จะเพิ่มกลไกและเครื่องมือใหม่ๆ ในการต่อต้านการทุจริต เช่น การคุ้มครองพยาน และการกันบุคคลไว้เป็นพยานในคดีการกระทำทุจริต การเพิ่มอำนาจการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้กระทำทุจริต ที่ถือครองหรือครอบครองเอง ไปจนถึงการตรวจสอบทรัพย์สินที่ให้ผู้อื่นหรือนอมินีถือแทน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากล ตามพันธกรณีที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต (UNCAC)รวมถึงการพัฒนาระบบงานด้านการไต่สวนให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น โดยจัดแบ่งการทำงานของกระบวนการแสวงหาหรือตรวจสอบข้อเท็จจริง กับกระบวนการไต่สวนออกจากกันอย่างชัดเจน ซึ่งจะให้การบริหารงานคดีทุจริตมีประสิทธิภาพและความเป็นธรรมยิ่งขึ้น นอกจากนี้การที่กฎหมายกำหนดให้เริ่มมีคณะกรรมการ ป.ป.ช.จังหวัด หลังวันประกาศใช้กฎหมาย 2 ปี เพื่อสรรหาคนเก่ง คนดี มีคุณธรรมในแต่ละจังหวัดมาดำเนินงานต่อต้านการทุจริต จะช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในการต่อต้านการทุจริตมากยิ่งขึ้น ประการสุดท้าย กฎหมายยังกำหนดให้เพิ่มมาตรการป้องกันการทุจริตตั้งแต่ขั้นเริ่มต้นโครงการ รวมทั้งยังกำหนดให้ต้องมีการประกาศสูตรคำนวณราคากลางในการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐการรายงานค่าใช้จ่ายของโครงการที่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานรัฐต่อกรมสรรพากร ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งผลดีที่เกิดขึ้นจากการประกาศใช้กฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับดังกล่าว จะช่วยยกระดับการดำเนินงานภารกิจป้องกันและปราบปรามการทุจริตของประเทศในภาพรวมให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และเป็นไปตามมาตรฐานสากลที่นานาประเทศให้การยอมรับ ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น พร้อมสนับสนุน กฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับใหม่นี้เต็มที่ ซึ่งขณะนี้ ได้เข้าร่วมกับกระทรวงการคลัง ในการดำเนินโครงการนำร่องตามแนวร่วมปฏิบัติต่อต้านทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (Collective Action) รวมทั้งจะเป็นศูนย์กลางในการเชิญชวนให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน สังคม และสื่อมวลชน เข้ามามีส่วนร่วมกับการดำเนินการตามกฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับใหม่นี้ด้วย พร้อมกับได้จัดทำภาพยนตร์โฆษณา “การต่อต้านคอร์รัปชั่น” ความยาว 60 วินาที เผยแพร่ผ่านสถานีโทรทัศน์ และได้จัดทำสปอตวิทยุ ความยาว 30 วินาที เผยแพร่ทางสถานีวิทยุ ทั้งนี้ เพื่อให้สาธารณชนให้ได้รับทราบอย่างกว้างขวาง โดยจะเริ่มเผยแพร่ตั้งแต่ วันที่ 1 สิงหาคม 2554 เป็นต้นไป นายดุสิต กล่าวสรุปเพิ่มเติมว่า “ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น ได้ดำเนินการจัดตั้ง สำนักงาน ศูนย์ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น ขึ้นชั่วคราว ที่ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เลขที่ 150 ถ.ราชบพิธ แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กทม. และมีการจัดหาผู้จัดการและเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ เพื่อเป็นศูนย์กลางการรับเรื่องร้องเรียนและประสานงานกับภาคีเครือข่ายทั้งหมด เพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ ในการต่อต้านคอร์รัปชั่นต่อไป นอกจากนั้นยังเปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมแสดงพลัง และเสนอ ความคิดเห็นหรือแจ้งเบาะแสผ่านทางเฟซบุคส์ ThaiAntiCorruption หรือตู้ปณ.000 ปณ.มหาดไทย กรุงเทพฯ 10206” ฝ่ายสื่อสารองค์กร หอการค้าไทย โทร. 02-6221860-76 ต่อ 402-7

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ