อุตสาหกรรม เตือน รบ. ขึ้นค่าแรง 300 อย่างเป็นระบบ หวั่นกระทบธุรกิจส่งออกรุนแรงอาจเจ๊งนับ 1,000 ราย

ข่าวทั่วไป Friday August 5, 2011 12:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ส.ค.-- อุตสาหกรรม เตือน รบ. ขึ้นค่าแรง 300 อย่างเป็นระบบ หวั่นกระทบธุรกิจส่งออกรุนแรงอาจเจ๊งนับ 1,000 ราย ชี้ ทำศก.ไทยสูญเงินนับแสนล้าน แนะ 3 ทางออก ตั้งกก.ไตรภาคีดูแล พร้อมชี้ช่องรัฐเข้าชดเชยส่วนต่างโดยตรงแก่แรงงานแทน โรงแรมโนโวเทล สยามสแควร์ ได้มีงานแถลงข่าว “ผลกระทบ 300 บาท เรื่องจริงที่ต้องฟัง” จัดโดย 12 สมาคมอุตสาหกรรม รวม 2,273 สมาชิก ประกอบด้วย สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย 330 ราย, กลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 130 ราย, สมาคมเครื่องเขียนและเครื่องใช้สำนักงานไทย 400 ราย, สมาคมสินค้าของตกแต่งบ้าน 445 ราย, สมาพันธ์ผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ไทย , สมาคมไทยพัฒนาการปลูกป่าเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไม้ 200 ราย, สมาคมโรงเลื่อยจักร 60 ราย, สมาคมการค้าเครื่องใช้ในครัวเรือนไทย 116 ราย, สมาคมอุตสาหกรรมของเล่นไทย 120 ราย, สมาคมของขวัญของชำร่วยไทยและของตกแต่งบ้าน 300 ราย, สมาคมธุรกิจไม้ 120 ราย, และสมาคมอุตสาหกรรมไม้ยางพาราภาคตะวันออก 52 ราย นายอารักษ์ สุขสวัสดิ์ อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย เปิดเผยว่า จากกรณีที่รัฐบาลใหม่มีนโยบายกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทนั้น 12 สมาคมอุตสาหกรรมได้ประชุมเพื่อหารือผลกระทบจากนโยบายดังกล่าว โดยพบว่าผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิก 12 สมาคม ซึ่ง 95% เป็นผู้ประกอบการ SME และ 5% เป็นอุตสาหกรรมใหญ่ โดย 50% ของสมาชิกเป็นผู้ประกอบการส่งออก ที่จะได้รับผลกระทบทันทีและรุนแรง เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมในกลุ่มที่มีมูลค่าการส่งออก 107,680 ล้านบาท/ปี และมีอัตราการจ้างแรงงาน 972,000 คน ดังนั้นถ้าปรับค่าแรงเป็น 300 บาทต่อวัน จะทำให้ต้นทุนค่าแรงสูงขึ้น 35-40% ซึ่งยังไม่รวมต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับสูงขึ้นตามกลไกของวัตถุดิบ ดังนั้นคาดว่าจะทำให้ต้นทุนรวมสูงขึ้นจากฐานเดิม 12-16% ส่งผลให้ต้องขึ้นราคาขายสินค้า ในขณะที่คู่แข่งของไทยในตลาดโลก ทั้งจีน เวียดนาม อินโดนีเซีย ไม่มีการปรับราคา ผลที่ตามมาคือ ไทยถูกยกเลิกคำสั่งซื้อ และอาจทำให้ประเทศเสียหายนับแสนล้าน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ และเครื่องนุ่งห่ม ที่มีอัตราการจ้างแรงงานมาก และเป็นรายได้หลักของประเทศ อาจได้รับผลกระทบมากแน่นอน “ในส่วนผลกระทบต่อเนื่องสู่เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เมื่อการส่งออก ซึ่งรายได้หลักของประเทศลดลง นำไปสู่เงินไหลเข้าประเทศน้อยลง ส่งผลต่อกำลังซื้อโดยรวมของประเทศ เช่นเดียวกับประเทศกรีซ ที่มีปัญหามาจากการแข่งขันนโยบายประชานิยมของพรรคการเมือง โดยไม่คำนึงถึงความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก สุดท้ายนำไปสู่จุดจบของเศรษฐกิจของประเทศในที่สุด อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบอัตราค่าแรงขั้นต่ำของไทยกับประเทศคู่แข่งในอุตสาหกรรม พบว่าไทยมีอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่สูงอยู่แล้ว ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับเวียดนาม อินโดนีเซีย ยังถือว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำของไทยสูงกว่าเป็นเท่าตัว” นายอารักษ์ กล่าว 12 สมาคมอุตสาหกรรมมีข้อนำเสนอต่อการดำเนินนโยบายการขึ้นค่าแรง 300 บาท 3 แนวทาง ได้แก่ 1.สมาคมเข้าใจปัญหาผู้ใช้แรงงาน แต่ผลกระทบที่มีต่อระบบเศรษฐกิจ จึงไม่เห็นด้วยกับการนำนโยบายนี้มาใช้อย่างทันทีทันใด แต่เห็นด้วยที่จะใช้รูปแบบของคณะกรรมการไตรภาคีตามกฎหมาย (นายจ้าง ตัวแทนลูกจ้าง และตัวแทนจากกระทรวงแรงงาน) ขึ้นมาพิจารณาค่าแรงดังเดิม โดยจะต้องปราศจากการแทรกแทรงทางการเมือง 2.ขอเสนอให้มีการประชุมร่วมกัน เพื่อกำหนดการปรับค่าแรงอย่างมีระบบและเป็นขั้นบันไดตามที่คณะกรรมการไตรภาคีเห็นชอบ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวและอยู่รอดได้ในตลาดโลก 3. 12 สมาคมเห็นด้วยในการเพิ่มคุณภาพชีวิตแรงงาน โดยรัฐบาลจะต้องให้การช่วยเหลือด้านการเงินแก่แรงงานโดยตรง โดยไม่ต้องผ่านผู้ประกอบการ ซึ่งอาจจะจ่ายผ่านรูปแบบของประกันสังคม (คล้ายกับการจ่ายสงเคราะห์บุตร) ที่ไม่ส่งผลต่อราคาสินค้าต่างๆ ที่จะต้องก้าวกระโดดจากการปรับค่าแรง รวมถึงเป็นการลดปัญหาเงินเฟ้อรุนแรง อีกทั้งไม่กระทบต่อค่าแรงของแรงงานต่างด้าว ที่ต้องปรับตามตามสนธิสัญญาสากลด้วย ทั้งนี้ รัฐบาลสามารถลดการชดเชยลงตามการปรับตัวของค่าแรงตามมติคณะกรรมการไตรภาคี” หากรัฐบาลยังคงดำเนินนโยบายการขึ้นค่าแรง 300 บาท โดยไม่มีมาตรการตามที่ 12 สมาคมนำเสนอ เชื่อว่าจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรง และคาดว่าจะมีผู้ประกอบในสมาชิกจำนวนกว่า 1,000 ราย ที่ต้องปิดดำเนินการ นั่นหมายถึงจำนวนของผู้ตกงานก็จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ