กรุงเทพฯ--15 พ.ย.--แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์
ตามรอยอารยธรรมแห่งสำคัญของโลกกับแม่น้ำคงคาอันยิ่งใหญ่ สายน้ำที่หล่อเลี้ยงประชากรในอินเดียทั้งประเทศ พบการเดินทางของแม่น้ำกว่า 2,500 กิโลเมตร ร่วมค้นหาจุดกำเนิดแรกของแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ตั้งบนเทือกเขาหิมาลัย วัดโบราณกับลำธาร 4 สาย ซึ่งเชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำคงคา สถานที่สำคัญที่ผู้คนนิยมไปสักการบูชา จนถึงปลายสายน้ำที่บ่งบอกอารยธรรมอันเจริญรุ่งเรืองแห่งประวัติศาสตร์อินเดีย พลาดไม่ได้กับการเดินทางของสายน้ำนับอดีตถึงปัจจุบันที่หล่อเลี้ยงทุกชีวิต และสรรพสิ่งแห่งอินเดีย
วันจันทร์ที่ 19 พ.ย. 50 มุ่งหน้าสู่เนินเขา บัดรีนาถ (Badrinath) จุดกำเนิดแห่งที่ 3 บนยอดเขาสูง สถานที่ที่มีสภาพอากาศเลวร้ายที่สุด เยี่ยมเยือนวัดที่ติดกับชายแดนธิเบต ซึ่งมีรูปปั้นแกะสลักเป็นเทพเจ้าที่เป็นสัตว์ ซึ่งเชื่อว่าคือ เครื่องเตือนใจว่าโลกธรรมชาติ และจิตวิญญาณเชื่อมโยงกัน เดินทางสู่วัดศักดิ์สิทธิ์ กางโกงตรี (Gangotri) จุดกำเนิดแห่งสุดท้ายที่แยกย่อยออกเป็นลำธารสายเล็กๆ ที่คนฮินดูเชื่อว่า คงคาเทวี ลงมาจากสวรรค์ เพื่อช่วยเหลือมนุษยชาติ แต่น้ำที่ส่งมาช่วยเหลือนั้นมีจำนวนมากมายมหาศาล องค์พระศิวะ จึงใช้พระเกศารองรับแม่น้ำที่กำลัง ไหลลงมา และแบ่งแยกแตกแขนงเป็นลำธารกว่าหลายพันสาย
วันอังคารที่ 20 พ.ย. 50 พบหลักฐานที่บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ เมื่อแม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ ได้ไหลผ่านลงสู่ที่ราบ กานเจติก (Gangetic) ก่อให้เกิดกระแสน้ำเชี่ยวกรากมาถึงพื้นดินกลายเป็นทุ่งหญ้าเขียวขจี ทุ่งหญ้าเทไร (Terai) สถานที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดของอินเดีย ซึ่งมีหญ้าที่สามารถโตได้ถึงปีละ 4 เมตร ขณะที่ทะเลทรายทางภาคตะวันตกของอินเดีย เป็นจุดกำเนิดของแม่น้ำจัมพาล (Chambal) แหล่งโอเอซิสของสัตว์ป่า เช่น ห่านหัวลาย, เป็ดพม่า, นกปากช้อนขายาว, นกกรีดน้ำอินเดีย และตะโขง สัตว์เลื้อยคลานที่ใกล้สูญพันธุ์ และเหลืออยู่ในธรรมชาติเพียง 200 ตัว
วันพุธที่ 21 พ.ย. 50 เส้นทางของแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์เปลี่ยนธรรมชาติให้กลายเป็นพื้นที่ทำการเพาะปลูก ด้วยดินอันสมบูรณ์ และแม่น้ำซึ่งมีน้ำไหลตลอดปี ทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่กลายเป็นทุ่งนา มีการปลูกข้าว ปลูกธัญพืชได้หลากหลายชนิด จนถูกเรียกขานว่า ชามข้าวของอินเดีย รวมถึงการเลี้ยงเป็ดซึ่งเป็นอาชีพโบราณ และความเจริญทางการเกษตรก่อให้เกิดแหล่งชุมชนผุดขึ้นอย่างรวดเร็วตามแนวแม่น้ำคงคา การสัญจรในแม่น้ำกลายเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนสินค้า หรือท่าเรือขนาดใหญ่ที่ชุบชีวิตผู้คนริมฝั่งแม่น้ำคงคาให้คึกคักขึ้นในพริบตา
วันพฤหัสบดีที่ 22 พ.ย. 50 พบสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ริมฝั่งแม่น้ำ เมืองพาราณสี (Varanasi) กับความเกี่ยวพัน เรื่องศรัทธา และความเชื่อของศาสนาฮินดูมายาวนาน การสร้างบันไดสำหรับอาบน้ำให้หันหน้าไปทางดวงอาทิตย์ขึ้น เพื่อผู้แสวงบุญนับพันๆ คน มาขออธิษฐานต่อแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ จุดกำเนิดของลัทธิซึ่งเชื่อในเรื่องของวิญญาณ การบูชาพระพิฆเนศ (Ganesh) และความเชื่อจากอำนาจพรพิเศษที่สามารถเอาชนะพิษงูได้ พบความเปลี่ยนแปลงเมื่อผู้รุกรานกลุ่มแรก พวกโมกุล (Moghuls) นำแนวคิดใหม่ๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยี ศิลปะ และวัฒนธรรมเข้ามา ก่อนที่ชาวอังกฤษจะเข้ามาแสวงหาโอกาสทางการค้า และเปลี่ยนอินเดียสู่ยุคอุตสาหกรรม
วันศุกร์ที่ 23 พ.ย. 50 พบตลาดค้าขายวัวควายที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย โสณปุระ เมฬา (Sonepur Melah) ที่ทุกวันพระจันทร์เต็มดวงแรกของเดือนพฤศจิกายน จะคึกคักเป็นพิเศษจากผู้คนทั่วทั้งภาคเหนือของอินเดียที่มาต่อรองราคาซื้อขายกัน และความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่างช้างกับคน ที่ยืนยาวมาหลายพันปี ซึ่งช้างที่อยู่ในสภาพดีจะมีราคาสูงถึง 10,000 ปอนด์ พบการต่อสู้ระหว่างชาวบ้านกับช้างในอ่าวเบงกอล ที่การเพาะปลูกแย่งพื้นที่ป่าไปมากจนช้างป่าจำเป็นต้องเข้ามาขโมยอาหาร และแม่น้ำสายสำคัญ ฮูคลี (Hugli) ที่ไหลผ่านเมือง กัลกัตต้า (Calcutta) เมืองที่มีบทบาท และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเร็วที่สุดในโลก
ติดตามชม “คงคามหานทีแห่งอินเดีย” ในรายการแดนสนธยา วันที่ 19 - 23 พฤศจิกายน 2550 ตั้งแต่เวลา 18.00 — 18.30 น.ทางโมเดิร์นไนน์ ทีวี
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ บริษัท แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์ จำกัด
โทร. 0-2434-8300 คุณสุจินดา, คุณแสงนภา และคุณวิภาวัลย์