กรุงเทพฯ--8 ส.ค.--บรอดคาซท์ วิตามิน บี
วัฒนธรรมและประเพณีพื้นบ้าน คือภาพสะท้อนที่เล่าย้อนไปถึงภูมิปัญญาอันเป็นอัตลักษณ์ของแต่ละชุมชน ซึ่งก่อกำเนิดขึ้นมาจากพื้นฐานของความเชื่อดั้งเดิมในชุมชน โดยแต่ละกิจกรรมต่างๆ ล้วนมีเป้าหมายเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสมาชิกในชุมชน ปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมตามหลักธรรมคำสอนในพุทธศาสนา
แต่ในปัจจุบันประเพณีพื้นบ้านหลายๆ อย่างกำลังถูกบิดเบือน กลายเป็นเพียงงานรื่นเริงและแหล่งรวมอบายมุขทั้งเหล้าและบุหรี่ อีกทั้งผู้ร่วมงานไม่เข้าใจถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการจัดงาน หากปล่อยทิ้งไว้ต่อไปในอนาคตประเพณีพื้นบ้านที่ทรงคุณค่าที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานก็อาจสาบสูญไปในที่สุด
องค์กรพัฒนาเอกชนนาม “กลุ่มสร้างสรรค์สุข” จึงได้ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งฮั้ว อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง จัดทำโครงการ “ลด ละ บุหรี่เหล้า ในงานประเพณี/สื่อพื้นบ้าน” ขึ้น เพื่อให้ชุมชนตระหนักถึงปัญหาจากเหล้าและบุหรี่ ซึ่งส่งกระทบทั้งด้านสุขภาพกาย สุขภาพใจ สังคม และจิตวิญญาณของชุมชน โดยใช้ประเพณีสื่อพื้นบ้านเป็นเครื่องชี้นำให้ชุมชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากค่านิยมที่ผิด ไปสู่การลด ละบุหรี่เหล้าในงานพิธีต่างๆ และปลูกฝังให้เยาวชนเข้าใจถึงความหมายที่แท้จริง เพื่อสืบทอดประเพณีดั้งเดิมได้อย่างถูกต้อง เกิดประโยชน์ต่อตนเองและชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นายเวชยันต์ วงค์ลอดแก้ว ประธานกรรมการกลุ่มสร้างสรรค์สุข หัวหน้าโครงการฯ เปิดเผยว่า ประเพณีและสื่อพื้นบ้าน คือกฎระเบียบที่ชุมชนได้มีการสืบทอดมายาวนาน แตกต่างกันไปตามความเชื่อตามบริบทของท้องถิ่น ในตำบลทุ่งฮั้ว อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง มีประเพณีโบราณที่ได้รับการปฏิบัติสืบทอดมาตั้งแต่อดีตมากมาย ที่เป็นกุศโลบายแยบยลหลายเรื่อง ซึ่งเป็นเครื่องชี้นำจิตวิญญาณให้แก่คนในชุมชน
“ประเพณีดั้งเดิมของตำบลทุ่งฮั้ว อาทิ ประเพณีเลี้ยงผีปู่ยา สลากภัตร เลี้ยงผีเจ้าบ้าน สู่ขวัญควาย ฯลฯ ล้วนมีเหล้าบุหรี่เป็นเครื่องสร้างสุขภาพทางสังคม เหล้า 1 จิบ บุหรี่ 1 สูบ ที่ผู้ร่วมพิธีได้เสพร่วมกัน เป็นกุศโลบายที่ปลุกให้คนเกิดความฮึกเหิม มีความสามัคคีและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ก่อนจะร่วมลงแรงเกี่ยวข้าว หรือปฏิบัติงานอื่นๆ ที่ต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจของคนหมู่มาก แต่ในปัจจุบันเหล้าบุหรี่กลายเป็นเครื่องสร้างความบันเทิงให้แก่ผู้ร่วมงานจนเกินงาม ทำลายสุขภาพของตนเองและผู้อื่น สร้างความวุ่นวายแตกแยก เกิดปัญหาที่ซับซ้อนในชุมชนทั้งเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม” หัวหน้าโครงการฯ อธิบาย
โครงการ ลด ละ บุหรี่เหล้าในงานประเพณีและสื่อพื้นบ้าน ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2553 โดยมีแนวร่วมจาก 12 หมู่บ้าน ประกอบไปด้วย พระสงฆ์ ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อบต. มัคนายก ผู้สูงอายุ ตัวแทนแม่บ้าน และแกนนำเยาวชน โดยแต่ละฝ่ายจะค่อยๆ กระตุ้นให้ชุมชนตระหนักถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการจัดงานประเพณีสำคัญที่จะมีขึ้นในเดือนต่างๆ ด้วยการเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับประเพณีและสื่อพื้นบ้านต่างๆ ผ่านเวทีกลุ่มย่อย การประชุมหมู่บ้าน รวมถึงเมื่อมีกิจกรรมสังสรรค์รื่นเริง งานบุญ และงานศพ แกนนำของโครงการฯ จะเข้าไปพูดคุยเจ้าภาพผู้จัดงานเห็นถึงผลร้ายของการมีเหล้าและบุหรี่ในงาน
พระครูวิทยา นรุต เจ้าอาวาสวัดทุ่งฮั้ว กล่าวว่า วัดเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในหมู่บ้าน ในงานประเพณีและสื่อพื้นบ้านส่วนใหญ่ จะมีการนิมนต์พระภิกษุสงฆ์ไปร่วมพิธี การสวดให้พรและการแสดงธรรมเทศนาจึงต้องสอดแทรกเรื่องราวความเป็นมาที่แท้จริงของงานพิธีต่างๆ เข้าไปด้วย อย่างเช่น ประเพณีเลี้ยงผีเจ้าบ้าน ที่จัดขึ้นในเดือนมิถุนายนของทุกปี เพื่อบวงสรวงเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนในตำบลวังเหนือให้ความเคารพนับถือ เป็นอีกประเพณีหนึ่งที่มีเหล้าเป็นเครื่องบวงสรวง จึงใช้โอกาสนี้เทศนาอธิบายให้ชาวบ้านเข้าใจว่าเหตุใดในพิธีต้องมีเหล้า
“ตามเรื่องราวที่ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าต่อกันมากว่า 100 ปี เจ้าพ่อข้อมือเหล็กเป็นผู้ที่มีอิทธิฤทธิ์ ฟันแทงไม่เข้า หากใช้ข้อมือฟาดฟันสิ่งใดก็แตกเป็นเสี่ยงๆ ทุกวันที่ 14 มิถุนายน ชาวบ้านจะนำเครื่องบวงสรวงไปถวายที่ศาล เหล้าที่ร่างทรงเจ้าพ่อยกดื่มแล้ว ชาวบ้านก็จะนำส่วนที่เหลือแบ่งจิบคนละนิดเพื่อเป็นสิริมงคล ด้วยเชื่อว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ และในพิธีจะมีเด็กๆ และหนุ่มสาวมาร่วมด้วย เพราะอยากเห็นเจ้าพ่อแสดงอิทธิฤทธิ์ต่างๆ ผ่านร่างทรง เกิดการสืบทอดพิธีต่อๆ กันมา แต่ในช่วง 20 ปีหลัง เหลือแต่ผู้ใหญ่ไปร่วมพิธีและตั้งวงดื่มเหล้าจนมึนเมา แม่บ้านก็ไม่อนุญาตให้เด็กและหนุ่มสาวมายุ่งเกี่ยว เพราะเกรงจะลอกเลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ประเพณีเลี้ยงผีเจ้าบ้านจึงขาดผู้สืบทอด ในฐานะพระสงฆ์จึงต้องชี้แนะและชักจูงให้ชาวบ้านและเยาวชนหันกลับมาสืบทอดพิธีที่ดีงาม ด้วยการเทศนาอธิบายเรื่องราวที่ถูกต้อง” พระครูวิทยากล่าว
นายใจกล้า ขัติศรี สมาชิกอบต.ทุ่งฮั้ว แกนนำจากบ้านแม่ทรายเงิน เล่าว่า ตนเองเป็นเจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีหน้าที่ต้องดูแลและเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ประชาชน แต่ในอดีตที่ผ่านมาเคยประพฤติตนไม่ดี มีค่านิยมที่ผิดด้วยการใช้เหล้าในการเข้าสังคม ในที่สุดประชาชนก็ไม่เคารพนับถือ
“เวลาที่ได้รับเชิญไปร่วมงานพิธีต่างๆ ทั้งงานประเพณี งานบุญและงานศพ เจ้าภาพและผู้ร่วมงานก็จะยื่นเหล้าให้ดื่ม เราก็รับมาเพราะคิดว่าหากปฏิเสธจะเป็นการไม่ให้เกียรติ นานๆ เข้าก็เสพติดและดื่มหนักขึ้นจนมึนเมา กลับไปทะเลาะกับแม่บ้าน ลูกๆ ก็หนีหายไม่อยากเข้าใกล้ เงินเก็บที่มีก็ร่อยหรอ เพราะต้องจ่ายเป็นค่าเหล้าเดือนละเกือบ 4,000 บาท ครั้งหนึ่งมีคนชกต่อยกันในงานบุญเพราะความเมาถึง 9 คู่ ชื่อเสียงของชุมชนเสียหาย เราห้ามก็ไม่มีใครเชื่อเพราะเราเองก็ดื่ม จึงตัดสินใจเลิกเหล้าเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีและอธิบายให้คนในชุมชนเห็นผลร้ายของเหล้าและบุหรี่ โดยมีเรื่องคู่มวยประวัติศาสตร์เป็นกรณีศึกษา” นายใจกล้ากล่าว
นายนครินทร์ สติดี มัคนายกวัดทุ่งฮั้ว บอกว่า หลังจากที่แกนนำร่วมกันรณรงค์ลด ละเหล้าบุหรี่ในงานพิธีต่างๆ บรรยากาศงานประเพณีและสื่อพื้นบ้านในตำบลทุ่งฮั้ว ก็กลับมางดงามเหมือนในอดีตอีกครั้ง
“หลังจากที่สกัดบุหรี่และเหล้าออกไปจากงานพิธีได้ ทางวัดเริ่มเห็นพ่อแม่จูงมือเด็กเล็กเข้ามาร่วมพิธีมากขึ้น มีหนุ่มสาวมาช่วยกันจัดเตรียมอาหารและสิ่งของกันอย่างขะมักเขม้น แม่บ้านอนุญาตให้ลูกหลานมาร่วมงาน มีการร้องรำเพลงพื้นบ้านเป็นที่สนุกสนาน โดยเฉพาะเยาวชนจะชอบฟังผู้ใหญ่เล่าเรื่องราวความเป็นมาในพิธีต่างๆ มาก เพราะประเพณีดั้งเดิมของเรามีเอกลักษณ์ หาฟังที่อื่นไม่ได้” นายนครินทร์กล่าว
“การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดื่มเหล้า โดยใช้ประเพณีและสื่อพื้นบ้านที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตของชุมชนมายาวนานเป็นเครื่องมือ นอกจากจะช่วยรื้อฟื้นสืบสานประเพณีดั้งเดิมได้ ยังสร้างสุขภาวะที่ดีให้แก่คนในชุมชน ลดปัญหาหนี้สิน การทะเลาะวิวาท ช่วยสร้างสัมพันธ์ภาพที่ดีระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ให้อยู่เคียงคู่ประเพณีและสื่อพื้นบ้านที่งดงามอย่างยั่งยืน” หัวหน้าโครงการกล่าวสรุป.
?
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0805533283 บรอดคาซท์ วิตามิน บี