กรุงเทพฯ--8 ส.ค.--บรอดคาซท์ วิตามิน บี
ย้อนกลับไปในอดีตกว่า 30 ปีที่แล้ว ตำบลหนองแวง อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ เคยเป็นพื้นที่ตะเข็บชายแดนที่คุกกรุ่นไปด้วยบรรยากาศการสู้รบ เมื่อความขัดแย้งเบาบาง ภาครัฐจึงได้นำประชาชนกลับสู่พื้นที่ด้วยการจัดสรรที่ทำกิน ส่งเสริมอาชีพ พร้อมจัดให้มีสถานีอนามัยกระจายอยู่ทั่วทั้งตำบลถึง 6 แห่ง เพื่อให้การดูแลเบื้องต้นกรณีเจ็บป่วยเล็กน้อย เพราะพื้นที่แห่งนี้อยู่ห่างไกล การเดินทางเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลประจำจังหวัดจึงยากลำบาก
ด้วยความยากลำบากดังกล่าว เทศบาลตำบลหนองแวง จึงได้มีแนวคิดในการจัด ระบบสวัสดิการชุมชน ให้แก่คนในท้องถิ่น ด้วยการจัดตั้ง กองทุนโรงพยาบาลตำบล ขึ้นในปี 2545 โดยให้สมาชิกชุมชนจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเพียงเดือนละ 2 บาท ก็จะอุ่นใจไปตลอดชีวิตเพราะมีระบบสวัสดิการชุมชนดูแลตั้งแต่แรกเกิด จนถึงเสียชีวิต ผ่านบริหารจัดการอย่างเป็นระบบเพื่อให้เกิดสวัสดิการชุมชนที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อให้สมาชิกในชุมชนได้เชื่อมั่นและเห็นความสำคัญของการพึ่งพาตนเองในการฟื้นฟูและป้องกันโรค สร้างสังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน และศรัทธาในระบบสวัสดิการที่ตนเองมีส่วนร่วม
จากจุดเริ่มต้นของระบบการดูแลสุขภาพด้วยเงินเพียง 2 บาท ปัจจุบันตำบลหนองแวงได้กลายเป็นตำบลน่าอยู่ที่ประชาชนมีสุขภาพดีในทุกมิติ สามารถประกอบอาชีพได้อย่างเต็มความสามารถ และเพื่อให้การพัฒนาไม่หยุดนิ่ง เทศบาลตำบลหนองแวง จึงได้ร่วมกับ เทศบาลตำบลพนมรุ้ง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ และ องค์การบริหารส่วนตำบลจระเข้มาก อำเภอประโคนชัย จัดทำโครงการ “ประสานพลังเครือข่ายท้องถิ่นขับเคลื่อนตำบลน่าอยู่ที่สุด” เพื่อพัฒนาระบบการเรียนรู้ภายใต้บริบทของแต่ละตำบล อันจะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดประสบการณ์ผ่านบทเรียนต่างๆ เพื่อประยุกต์ใช้ในการพัฒนาตำบลของตนเองต่อไป โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นายประสิทธิ์ บรรเทา นายกเทศมนตรีตำบลหนองแวง หัวหน้าโครงการฯ อธิบายว่า ในแต่ละตำบลล้วนมีจุดเด่นและจุดแข็งของตนเอง ซึ่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเปิดรับประสบการณ์ใหม่ๆ ในการบริหารจัดการท้องถิ่นของชุมชนอื่นๆ จะทำให้ชุมชนสามารถรับมือกับปัญหาใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นได้
“เมื่อชาวหนองแวงได้ร่วมกันทำให้เทศบาลตำบลหนองแวงกลายเป็นตำบลน่าอยู่ได้สำเร็จ ก็มีความเชื่อมั่นว่าท้องถิ่นอื่นๆ ก็สามารถสร้างสรรค์พื้นที่ของตนเองให้น่าอยู่ได้เช่นเดียวกัน หัวใจสำคัญอยู่ที่ทัศนคติของผู้นำท้องถิ่นที่จะต้องลดทิฐิ แล้วหันกลับไปทบทวนและยอมรับศักยภาพของตนเอง พร้อมเปิดใจรับความรู้และประสบการณ์ใหม่ๆ กลับไปประยุกต์เพื่อใช้พัฒนาท้องถิ่นโดยให้คนในชุมชนมีส่วนร่วม เมื่อมีประสบการณ์มากขึ้น ก็สามารถคิดสร้างสรรค์พัฒนาสิ่งใหม่ๆ ได้ คนในชุมชนก็จะมีโอกาสในการพัฒนาศักยภาพ และสามารถพึ่งพาตนเองได้โดยไม่ต้องรอการช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอก” หัวหน้าโครงการฯ กล่าว
โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 3 แห่ง ในจังหวัดบุรีรัมย์ ที่เข้าร่วมโครงการฯ ต่างมีจุดแข็งที่สามารถนำไปถอดบทเรียนเป็น ชุดความรู้การจัดสุขภาวะชุมชนตามบริบทของแต่ละพื้นที่ โดย เทศบาลตำบลพนมรุ้ง มีจุดแข็งด้านการเป็นแหล่งท่องเที่ยว องค์การบริหารส่วนตำบลจระเข้มาก มีจุดแข็งเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ ในขณะที่ เทศบาลตำบลหนองแวง มีจุดแข็งเรื่องการจัดระบบสวัสดิการสุขภาพ
โดยเทศบาลตำบลหนองแวง มีแหล่งเรียนรู้ในเรื่องการจัดสวัสดิการระบบสุขภาพของชุมชนที่น่าสนใจกว่า 20 แหล่ง โดยมีศูนย์กลางการเรียนรู้อยู่ที่ โรงพยาบาลตำบลหนองแวง ประกอบไปด้วย แหล่งเรียนรู้กองทุนโรงพยาบาลตำบลหนองแวง และ แหล่งเรียนรู้จิตอาสาสุขภาพดีวิถีไทย
นางพนมพร ไกรสูรย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองแวง กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาสุขภาพของคนในชุมชนได้อย่างตรงจุด จะต้องสอบถามความต้องการจากคนในท้องถิ่นโดยไม่ใช้การคิดแทน ซึ่งชาวตำบลหนองแวงส่วนใหญ่ยังกังวล และมีความลำบากที่จะต้องไปรับการรักษาในตัวอำเภอ เพราะติดปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทางและการประกอบอาชีพในแต่ละวัน
“การจัดตั้งกองทุนโรงพยาบาลตำบล โดยระดมทุนจากประชาชนและการสนับสนุนงบประมาณจากเทศบาล ภายใต้การบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ช่วยให้เกิดพื้นที่การให้บริการรักษาพยาบาล 24 ชั่วโมงขึ้น ถือเป็นสวัสดิการที่โดดเด่นของกองทุน ที่นอกจากจะทำให้ประชาชนเกิดความอุ่นใจแล้ว ทุกคนยังได้เรียนรู้ว่าการมีส่วนร่วมด้วยเงินเพียง 2 บาท สามารถบรรเทาปัญหาเรื่องบุคลากรการแพทย์ที่ไม่เพียงพอได้ เพราะเงินจากกองทุนเป็นทั้งค่าจ้าง และเป็นทุนการศึกษาให้เด็กได้เรียนต่อทางด้านสุขภาพ แล้วกลับมาทำงานให้ชุมชนของตนเอง อีกทั้งยังเป็นเงินสนับสนุนแก่ผู้มีจิตอาสาที่ทำงานเพื่อชุมชนด้วย” นางพนมพรกล่าว
โดยผู้ที่จะเข้ามาเรียนรู้ดูงานด้านกองทุนโรงพยาบาลตำบล จะได้เรียนรู้วิธีบริหารจัดการกองทุนที่สามารถนำไปปรับใช้กับท้องถิ่นของตนเองได้ ในขณะที่แหล่งเรียนรู้จิตอาสาสุขภาพดีวิถีไทย เน้นมุ่งถ่ายทอดแนวคิดและกระบวนการจัดการสังคมที่เกื้อกูล เนื่องจากวัยทำงานต้องออกไปทำเกษตรกรรมและรับจ้าง ส่วนผู้สูงอายุและเด็กจะต้องอยู่บ้านตามลำพัง ขาดคนดูช่วยเหลือ
นายประยุทธ เพชรโยธา หัวหน้าแหล่งเรียนรู้จิตอาสาสุขภาพดีวิถีไทยเล่าว่า คนในวัยทำงานมักมีปัญหาเจ็บป่วยปวดเมื่อยกล้ามเนื้อจากการทำงานหนัก ในขณะที่ผู้สูงอายุที่อยู่บ้านโดยไม่ได้ทำงาน อาจมีภาวะเครียดและซึมเศร้า ผู้ที่เป็นจิตอาสาสุขภาพดีวิถีไทยจะได้รับการฝึกอบรมการนวดแผนไทย เพื่อเป็นผู้ให้การช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ โดยจะทำหน้าที่คอยบริการนวดคลายอาการปวดเมื่อยให้ผู้ป่วยเพื่อผ่อนคลาย และเพิ่มบรรยากาศด้วยการสนทนาไปด้วย ช่วยให้รู้ข้อมูลปัญหาของผู้ป่วยที่เข้าเยี่ยม
“เมื่อจิตอาสาได้เข้าไปบีบนวดและพูดคุย กลุ่มเป้าหมายก็จะสามารถระบายปัญหาและความทุกข์ออกมาอย่างไม่ขัดเขิน ข้อมูลเหล่านี้เป็นประโยชน์ในการวางแผนแก้ปัญหาต่อไป ส่วนผู้มีจิตอาสานอกจากได้บำเพ็ญประโยชน์ ยังได้ฝึกวิชานวดแผนไทยให้แข็งแกร่ง สามารถสร้างอาชีพเสริมได้” นายประยุทธกล่าว
“แต่ละท้องถิ่นมีบริบทของชุมชนที่งดงาม น่าสนใจ และเป็นเอกลักษณ์ แต่หากการเรียนรู้หยุดนิ่ง คนในชุมชนย่อมขาดการพัฒนา การที่แต่ละท้องถิ่นเปิดใจรับความคิดที่แปลกใหม่และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับท้องถิ่นใกล้เคียง ย่อมเกิดการพัฒนาอย่างไม่รู้จบ แต่หัวใจสำคัญที่จะทำให้การพัฒนามีความยั่งยืนคือ การมีส่วนร่วมของทุกคน และพลังเครือข่ายที่แข็งแกร่งนี้เอง จะทำให้ตำบลเล็กๆ กลายเป็นตำบลที่น่าอยู่ที่สุดสำหรับทุกๆ คน” นายกเทศมนตรีตำบลหนองแวงสรุป.