“ลานทอง” หมู่บ้านพึ่งพาตนเองเพื่อสุขภาวะยั่งยืน ชู ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ สร้างชุมชนเข้มแข็ง

ข่าวทั่วไป Monday August 8, 2011 13:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ส.ค.--บรอดคาซท์ วิตามิน บี ปัญหาหลักของเกษตรกรในทุกพื้นที่ของประเทศไทยในปัจจุบันนี้คือ “ภาวะหนี้สิน” ที่เกิดขึ้นจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น โดยมีสาเหตุมาจากการพึ่งพาปุ๋ย ยา และสารเคมีในกระบวนการผลิตเป็นจำนวนมาก นานวันเข้าเมื่อดินเสื่อมสภาพ ไม่เพียงแต่ผลผลิตจะตกต่ำ สุขภาพก็ยังทรุดโทรม บ้านลานทอง ตำบลเขาวงกต อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี ก็เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งในกระบวนการผลิตชาวบ้านส่วนใหญ่ยังใช้สารเคมีต่างๆ อยู่เป็นจำนวนมาก จึงส่งผลกระทบต่อสุขภาพทำให้มีสารเคมีจำนวนมากตกค้างในร่างกายของเกษตรกรผู้ผลิตและผู้บริโภค สิ่งแวดล้อมโดยรวมก็เสื่อมโทรมลง และเกิดภาวะหนี้สินเพิ่มมากขึ้นในชุมชน ด้วยเหตุดังกล่าว “ศูนย์การเรียนรู้พึ่งพาตนเองร่วมสมัย” จึงได้ร่วมกับ ภาคประชาชน องค์การบริหารส่วนตำบลเขาวงกต โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเขาวงกต และโรงเรียนบ้านหนองเจ๊กสร้อย จัดทำโครงการ “ร่วมสร้างหมู่บ้านพอเพียง เพื่อรากฐานสุขภาพที่ยั่งยืน หมู่บ้านลานทอง” เพื่อน้อมนำแนวคิดหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาพัฒนาชุมชนให้เกิดการพึ่งพาตนเอง แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนอย่างยั่งยืน โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นางสาวอารีรัตน์ พูนปาล หัวหน้าโครงการฯ เปิดเผยว่าศูนย์การเรียนรู้พึ่งพาตนเองร่วมสมัยเกิดขึ้นมาจากการที่ครอบครัวของตนเองเป็นหนี้สินมากกว่า 8 แสนบาทจากการทำเกษตรสมัยใหม่ที่พึ่งพาแต่ปุ๋ยยาและสารเคมี ยิ่งทำมากก็ยิ่งเป็นหนี้มาก แถมสุขภาพของสมาชิกในครอบครัวก็ย่ำแย่ จึงเริ่มปรับเปลี่ยนแนวคิดและกระบวนการผลิตเป็นเกษตรอินทรีย์ ใช้เวลาเพียง 4 ปีก็สามารถปลดหนี้ได้สำเร็จ จึงใช้พื้นที่บริเวณบ้านจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้เพื่อถ่ายทอดความรู้ในการทำการเกษตรแบบพึ่งพาตนเองให้แก่ผู้ที่สนใจ “ปัญหาที่เราพบในชุมชนก็คือเรื่องสุขภาพ ชาวบ้านป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมัน และสารเคมีตกค้างในร่างกาย สาเหตุมาจากการบริโภคผักและผลไม้ที่ปนเปื้อนสารเคมี และการใช้ยาปราบศัตรูพืช ปัญหาต่อมาก็คือต้นทุนการผลิตสูง จึงต้องหาวิธีปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและแนวคิดการในผลิต ทำอย่างไรให้ชาวบ้านรู้วิธีการลดต้นทุนการผลิต ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน จึงได้ทำโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อให้ในชุมชนตระหนักถึงปัญหาต่างๆ และพึ่งพาตัวเองได้” นางสาวอารีรัตน์กล่าว โดยโครงการฯ ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “พิษภัยของสารเคมีต่อสุขภาพของชุมชน” และสาธิตตัวอย่างการ “สร้างเสริมสุขภาพในวิถีพอเพียงพึ่งพาตนเอง” ให้กับเกษตรกรในพื้นที่เพื่อถ่ายทอดความรู้ในเรื่องการผลิตอาหารที่ปลอดภัย การลดต้นทุนการผลิต การสร้างแหล่งอาหารในครัวเรือน การใช้พลังงานทดแทน การใช้สมุนไพรในชีวิตประจำวัน การปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่างเพื่อให้เกษตรกรนำความรู้ไปปรับใช้กับการประกอบอาชีพของตนเองและครอบครัว รวมถึงกระตุ้นให้ชุมชนตระหนักถึงพิษภัยของสารเคมี และหันมาพึ่งพาตนเองตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง และยังได้ร่วมกับ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเขาวงกต นำเรื่องของสุขภาพมาเชื่อมโยงและสร้างความเข้าใจกับชุมชน นายรัฐวุฒิ สมบูรณ์ธรรม เจ้าหน้าที่สาธารณสุข รพ.สต.เขาวงกต เปิดเผยว่าจากการตรวจสุขภาพประชาชนพบว่ามีปัญหาสารเคมีตกค้างในร่างกายสูงกว่าร้อยละ 70 ซึ่งมีสาเหตุมาจากการบริโภคอาหารที่มีการใช้สารเคมีในการผลิต และจากอาชีพการทำเกษตรกรรมที่ใช้สารเคมีและยาปราบศัตรูพืช “เรามุ่งเน้นให้เกิดการ ลด ละ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดี โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ การส่งเสริมให้ทำเกษตรกรรมปลอดสารพิษ และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยใช้ผลตรวจเลือดมาอธิบายให้เห็นสาเหตุของโรค ทำให้เกษตรกรเกิดความตระหนักถึงสุขภาพของตนเองมากยิ่งขึ้น แล้วหันมาให้ความสนใจกับอาหารที่บริโภค ซึ่งจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำรงชีวิตต่อไป” นายรัฐวุฒิระบุ ด้าน นายวิเชียร หนูพิมพ์ทอง อายุ 65 ปี เครือข่ายเกษตรจากบ้านหนองกวาง ต.เขาวงกต กล่าวว่าในอดีตปลูกมันสำปะหลัง และทำสวนทุเรียน แต่ยิ่งทำก็ยิ่งจนเพราะค่าใช้จ่ายสูงขึ้นทุกปี ทั้งค่าแรง ค่าปุ๋ย ค่ายา สุขภาพก็เริ่มทรุดโทรมเนื่องจากต้องพ่นยาเอง พอผลผลิตราคาตกก็เริ่มเป็นหนี้สะสม “เกษตรกรในปัจจุบันมักคาดหวังแต่รายได้สูงๆ แต่ไม่ได้คำนึงถึงการลงทุนและผลเสียที่จะได้รับ ทุกวันนี้จึงหันกลับมาปลูกผักและผลไม้ทำไร่แบบผสมผสาน ปลูกทั้งละมุด เงาะ ทุเรียน มังคุด ลองกอง มะกอกน้ำ ชมพู่ หมุนเวียนมีผลผลิตจำหน่ายได้ตลอดทั้งปี ที่สำคัญคนซื้อเมื่อรู้ว่าเป็นผลผลิตที่ปลอดภัยต่อสุขภาพถึงแม้จะแพงกว่าท้องตลาดทั่วไปก็ยังขายได้ดี” ลุงวิเชียรเล่าถึงประโยชน์ของการทำการเกษตรยั่งยืน และเพื่อปลูกฝังแนวคิด สร้างทักษะและความรู้ในการพึ่งพาตนเองตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงให้กับเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ของชุมชน ศูนย์การเรียนรู้พึ่งพาตนเองร่วมจึงได้ร่วมกับโรงเรียนบ้านหนองเจ๊กสร้อย จัดกิจกรรม “เยาวชนเกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียงบนความยั่งยืน” ให้เด็กๆ ได้ลองปลูกผักปลอดสารพิษ ผลิตของใช้ในครัวเรือนจากสมุนไพรใกล้ตัวฯลฯ นอกจากนี้ยังได้ต่อยอดแนวคิดเกิดเป็นกิจกรรม “ธนาคารคนช่างเก็บ” และ “ตลาดนัดคนรักษ์โลก” เพื่อให้เด็กๆ เห็นคุณค่าของการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยการคัดแยกขยะ เศษอาหารก็จะนำไปผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ สิ่งที่สามารถรีไซเคิลได้ก็นำมาขายสร้างรายได้ ช่วยลดภาระปัญหาขยะของชุมชน เกิดเป็นกองทุนกระตุ้นให้เกิดวินัยการออม และใช้สำหรับเป็นทุนการศึกษาให้กับนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรม น.ส.เพ็ญรุ่ง กวีรัตน์ธำรง ผอ.โรงเรียนบ้านหนองเจ๊กสร้อย กล่าวว่าเนื่องจากโรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนขยายโอกาส ดังนั้นจึงมีนักเรียนส่วนหนึ่งที่ไม่ได้ศึกษาต่อ เพราะต้องออกไปทำงานช่วยเหลือครอบครัว ซึ่งการให้เด็กๆ ได้มาเรียนรู้ด้านการทำการเกษตรอินทรีย์นั้นจะเป็นพื้นฐานที่ทำให้เขาได้มีความเข้มแข็งในการประกอบอาชีพและสามารถพึ่งพาตนเองได้ “นอกจากนี้ใน 8 สาระวิชาเรายังได้สอดแทรกความรู้ในเรื่องของหลักเศรษฐกิจพอเพียงเข้าไปในทุกๆ กิจกรรม เพราะเชื่อว่าการดำรงชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงจะช่วยให้เกิดสังคมที่เข้มแข็ง แล้วการที่เขาได้ลงมือทำด้วยตนเองก็จะเกิดเป็นทักษะและความรู้ที่ติดตัวไปตลอด และที่สำคัญเราอยากให้เด็กๆ เป็นเครื่องมือในการส่งผ่านองค์ความรู้ต่างๆ เหล่านี้ไปสู่ครอบครัวและผู้ปกครอง” คุณครูเพ็ญรุ่งกล่าว “การปรับเปลี่ยนแนวคิดและประกอบอาชีพมาเป็นเกษตรอินทรีย์ ด้วยการทำการเกษตรแบบผสมผสาน โดยเน้นการพึ่งพาตนเอง จะทำให้ชาวบ้านมีสุขภาพที่แข็งแรง และชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง” นางสาวอารีรัตน์ หัวหน้าโครงการกล่าวสรุป.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ