แพทยสมาคมฯ ขานรับ “ฮับสุขภาพ” จัดประชุมครั้งยิ่งใหญ่ระดับอาเซียนในมิติใหม่ "Future Trend of Medical Practices" 16-19 พ.ย. นี้ ที่ แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ

ข่าวทั่วไป Monday October 31, 2005 14:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ต.ค.--โปรคอมมูนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์
แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประกาศเป็นแกนกลางของวงการแพทย์ในการ เคลื่อนไหวรับนโยบายการเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพในเอเชีย (Thailand: Center of Excellent Health Care of Asia) ภายใน 5 ปีข้างหน้า เบิกฤกษ์ด้วยงานประชุมวิชาการครั้งยิ่งใหญ่ระดับอาเซียน 16-19 พฤศจิกายนนี้ พบความโดดเด่นพิเศษสุดกับการมาเยือนประเทศไทยเป็นครั้งแรกของประธานแพทยสมาคมโลก ประธานแพทยสมาคมสหรัฐอเมริกา และประธานแพทยสมาคมอังกฤษ ที่จะมาแสดงปาฐกถาเปิดงาน ตามด้วยอาคันตุกะจากประเทศต่างๆ ทั้งในอาเซียนและนอกอาเซียนอีกกว่า 20 ประเทศ ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในวงการแพทย์ หวังรู้เท่าทันกับโรคใหม่ๆ ในยุคนาโนเทคโนโลยี เผยฝันไกล..เป็นเจ้าภาพงานประชุมวิชาการแพทยสมาคมระดับโลก เชื่อประเทศไทยมีศักยภาพเกินร้อย...
วงการแพทย์ตื่นตัวรับกระแสรักษ์สุขภาพครั้งยิ่งใหญ่ เปิดเวทีสากลระดับอาเซียน พบสุดยอดไฮไลท์ในเวที MASEAN การรับมือพิบัติภัยจากธรรมชาติ ที่ก่อให้เกิดความสูญเสียมหาศาลของมวลมนุษย์ พร้อมถกปัญหาสุขภาพยอดฮิต อาทิ โรคหัวใจ, Health Spa ความเหมือนหรือแตกต่างจาก Medical Spa, สถานการณ์เรื่องเพศ ในคนทุกเพศทุกวัย, ไขมันคั่งสะสมในตับ ภัยเงียบที่ทุกคนควรตระหนัก และหยิบยกประเด็นฮอตยอดฮิตของสังคมไทย อาทิ สังคมมองแพทย์ในด้านลบจริงหรือ?, อันตรายจากการนอนกรน, ผลกระทบจากโทรศัพท์มือถือ, รู้เร็ว รู้ทัน ป้องกันมะเร็ง,วัยรุ่นกับบุหรี่ ฯลฯ หวังตัดไฟแต่ต้นลมก่อนป่วยไข้ถึงมือหมอ
ศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะ เจ้าภาพการจัดงาน เปิดเผยถึงการประชุมครั้งยิ่งใหญ่ประจำปี 2548 นี้ว่า “ความโดดเด่นเป็นพิเศษของการจัดประชุมครั้งนี้ มีอยู่หลายส่วนที่มาผนวกกัน ประการแรกเป็นการจัดงานฉลองครบรอบ 84 ปีของการก่อตั้งแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และเป็นการประชุมวิชาการครั้งที่ 49 ของแพทยสมาคมฯ นอกจากนี้เพื่อฉลองครบ 40 ปี ของความร่วมมือระหว่างมูลนิธิทาเคดะและแพทยสมาคมฯ ที่ให้ทุนแพทยไทยไปศึกษาดูงาน ณ ประเทศญี่ปุ่น เป็นจำนวน 123 คน ตั้งแต่ปี 2508 การประชุมครั้งนี้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายา เสด็จมาเป็นองค์ประธานเปิดการประชุม นอกจากนี้สิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงเป้าหมายการก้าวสู่ความเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพในเอเชียของประเทศไทยภายในปี 2551 นั้น ใกล้เข้ามาอย่างเห็นได้ชัด คือการได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพร่วมจัดประชุม Mid-term Masean ปี พ.ศ. 2548 ครั้งที่ 11 : MASEAN 11th MIDTERM COUNCIL MEETING และจะมีอาคันตุกะจากประเทศต่างๆ ทั้งในอาเซียนและนอกอาเซียนอีกกว่า 20 ประเทศ มาร่วมงาน โดยหัวข้อที่น่าสนใจคือ การเตรียมรับมือกับภัยพิบัติจากธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงที่ผ่านมา อาทิ สึนามิ แผ่นดินไหว พายุเฮอริเคนแคทรีน่า พายุช้างหรือดอมเรย ซึ่งเป็นสิ่งที่แพทย์ทุกคนตระหนักและต้องเตรียมการรองรับเหตุการณ์ร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต และการมาเยือนของบุคคลสำคัญทางการแพทย์ระดับนานาชาติ 3 ท่านได้แก่ ประธานแพทยสมาคมโลก Dr Yank D.Coble Jr., President of WMA, ประธานแพทยสมาคมสหรัฐอเมริกา Dr John C. Nelson,President AMA และ ประธานแพทยสมาคมประเทศอังกฤษ Dr.James Johnson ที่จะให้เกียรติมาแสดงปาฐกถาเปิดการประชุมในครั้งนี้ด้วย ”
นอกเหนือจากความโดดเด่นเป็นพิเศษสุดดังกล่าวแล้ว ในการประชุมวิชาการครั้งนี้ ได้กำหนดหัวข้อใน THEME “Future Trend of Medical Practices” ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นใกล้ตัวประชาชนและสามารถสัมผัสถึงได้ง่าย เพื่อกระตุ้นให้ ตระหนักรู้ และรับทราบถึงความเคลื่อนไหวในวงการแพทย์ ทั้งในเรื่องการรักษาด้วยเครื่องมือทางเทคโนโลยี แนวโน้มของการรักษาโรคใหม่ๆ สถานการณ์ของการป่วยไข้ การรับมือ การเตรียมตัว นายแพทย์ชุมศักดิ์ พฤกษาพงษ์ หนึ่งในคณะกรรมการบริหารของแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ และคณะทำงานฝ่ายประชาสัมพันธ์การจัดงาน กล่าวถึงหัวข้อที่น่าสนใจว่า “การกำหนดหัวข้อที่จะประชุม จะเน้นสร้างความหลากหลาย และเป็นหัวข้อที่ใกล้ตัวประชาชน หรือหัวข้อที่หมออยากรู้ เช่น การผ่าตัดต่อเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจ ในสถานการณ์ล่าสุด ซึ่งการผ่าตัดเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจมีมานานหลายปี แต่มีวิวัฒนาการดีขึ้นเรื่อยๆ อัตราการตายน้อยมาก เพราะความเชี่ยวชาญของแพทย์และเทคโนโลยี เช่น การใช้หุ่นยนต์เข้ามาช่วยผ่าตัดหัวใจ ตอนนี้มีการนำหุ่นยนต์ดังกล่าวมาใช้ ที่ รพ. กรุงเทพ เขามีศูนย์หัวใจโดยเฉพาะ เรื่องเส้นเลือดในสมอง อาจจะอุดตันหรือแตก หรือ สโตรค (Stroke) เช่นความดันโลหิตสูงจะมีโอกาสเสี่ยงต่อเส้นเลือดแตก และอุดตันได้มาก
ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เป็นปัญหาสังคมที่น่าจะนำมาพิจารณา สปา ก็เข้ามามีบทบาท ช่วยมาเสริมให้คนที่รักษาสุขภาพมีสุขภาพที่ดีขึ้น เรื่องของ สุขภาพทางเพศ เป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจจากทางแพทย์ และประชาชนทั่วไป นำมาพูดคุยเพื่อแพทย์จะได้รับรู้ถึงปัญหา และจะได้รับทราบว่ามียาชนิดใดช่วยแก้ปัญหาได้บ้าง หรือแม้กระทั่งเรื่องของ วัยรุ่น วัยรัก วัยเรียน วัยเสี่ยงจริงหรือ ? ก็จะนำมาพูดคุยหาหนทางแก้ไขปัญหากัน นอกจากมีเรื่องภาควิชาการแล้ว ยังมีภาคเศรษฐกิจและสังคม จะมีเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อแพทย์ เช่น ในเรื่องของการลงทุน ความมั่นคงในวิชาชีพ สังคมมองแพทย์ในด้านลบจริงหรือเปล่า กฎหมายที่ควรจะรู้ แพทยสมาคมฯ จะช่วยเหลือหมออย่างไรในกรณีที่หมอโดนฟ้อง สิ่งเหล่านี้จะนำมาพูดคุยในเวทีนี้ด้วย
ศ.พญ.สมศรี กล่าวถึงความคาดหวังที่จะได้รับจากการจัดงานว่า “การประชุมครั้งนี้ เป็นงานประชุมระดับประเทศ มีผลต่อการท่องเที่ยว รวมทั้งต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต และถือเป็นการออกมาขานรับครั้งยิ่งใหญ่ของวงการแพทย์ ต่อนโยบาย HUB HEALTH หรือการเป็นศูนย์กลางสุขภาพในเอเชียของประเทศไทย หากมองในแง่มุมของภาคประชาชน ก็จะได้รับความรู้เรื่องการดูแลรักษาสุขภาพและรู้เท่าทันสถานการณ์ของโรคภัยไข้เจ็บใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นการรวมตัวพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในด้านวิชาการและร่วมสังสรรค์ครั้งใหญ่ของวงการแพทย์ไทย ที่พร้อมจะแสดงศักยภาพให้ต่างชาติเห็นทั้งทางด้านบุคลากรและเครื่องมือเทคโนโลยีอันทันสมัย โดยมีเป้าหมายในการดึงเงินตราเข้าประเทศ คือรับเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมวิชาการแพทยสมาคมโลก เพราะขณะนี้ประเทศต่างๆ จองกันไปแล้วจนถึงปี 2009 หากประเทศไทยสามารถสร้างความเชื่อมั่นและแสดงให้เห็นภาพใหญ่ที่แข็งแรง ในการจัดงานครั้งนี้ได้ เป้าหมายการเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมวิชาการแพทยสมาคมโลก คงไม่ไกลเกินเอื้อมถึง
แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ที่มีอายุครบ 84 ปีในวันนี้ หากเปรียบไปแล้วก็คือผู้อาวุโสที่มีความเพียบพร้อมไปด้วยประสบการณ์และความรู้เท่าทันทั้งทางโลกและทางโรค จะขอเป็นตัวเชื่อมทุกๆ ฝ่ายที่ดำเนินการอยู่ให้เกิดภาพใหญ่ที่แข็งแรง พร้อมก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพในเอเชีย ภายในปี 2551 และจะสะท้อนภาพเหล่านี้สู่ระดับโลก เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมแพทยสมาคมโลก ในปี 2010”
คำบรรยายใต้ภาพ
01 ศ.พญ. สมศรี เผ่าสวัสดิ์
นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย
ในพระบรมราชูปถัมภ์
02 นายแพทย์ชุมศักดิ์ พฤกษาพงษ์
หนึ่งในคณะกรรมการบริหารของแพทยสมาคมฯ
และคณะทำงานฝ่ายประชาสัมพันธ์การจัดงาน
ประชุมวิชาการครบรอบ ๘๔ ปี
03 การประชุมวิชาการ ครบรอบ ๘๔ ปี
THEME “Future Trend of Medical Practices”
วัยรุ่น วัยรัก วัยเรียน วัยเสี่ยง จริงหรือ ?
อีกหนึ่งหัวข้อที่โดดเด่นและน่าสนใจ
04 “จดหมายเหตุทางแพทย์ของแพทยะสมาคมแห่งกรุงสยาม”
วารสารการแพทย์ของไทยเล่มแรกได้จัดออกใน พ.ศ. 2461
เป็นรายไตรมาศ ค่าบำรุงปีละ 5 บาท ขายปลีกเล่มละ 2 บาท
หนังสือเล่มแรกเป็นฉบับประจำวันที่ 1 เมษายน 2461 (ต้นปี)
05 ห้องนิทรรศการของแพทยสมาคมฯ
ห้องรวมรวมภาพ และเรื่องราวของแพทยสมาคมฯ
ที่มีประวัติยาวนานถึง ๘๔ ปี
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
อุมา พลอยบุตร์, วีรยา หมื่นเหล็ก, วรรณวิสาข์ พรหมมา
โทร. 0-2691-6302-4 , 0-274 4961-2 , 0-2274-4782
--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ