กรุงเทพฯ--9 ส.ค.--กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
นายสมบัติ คุรุพันธ์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา(ป.กก.) กล่าวถึงการบรรยายพิเศษ เรื่อง”การพัฒนางานสุขศึกษาสู่สุขภาพที่ยั่งยืน” ให้แก่ผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข ณ โรงแรมจอมเทียนปาล์มบีช รัสอร์ท พัทยา จังหวัดชลบุรี
ป.กก. กล่าวว่า การพัฒนางานสุขศึกษาสู่สุขภาพที่ยั่งยืน มีความเกี่ยวเนื่องกับ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาด้านการท่องเที่ยวและกีฬา บทบาทของกระทรวงที่มีต่อการพัฒนาสุขภาพ โดยกรมพลศึกษา มีภารกิจในการดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาการพลศึกษา สุขภาพ การกีฬา นันทนาการ วิทยาศาสตร์การกีฬา และพัฒนาบุคลากรสาขา ที่เกี่ยวข้อง ส่วนสถาบันการพลศึกษาจัดการศึกษาและศึกษาวิจัยตลอดจนให้บริการทางวิชาการกับชุมชนด้านพลศึกษา สุขศึกษา กีฬา นันทนาการ วิทยาศาสตร์การกีฬา วิทยาศาสตร์สุขภาพ ซึ่งได้ผลิตครูผู้สอนวิชาการพลศึกษา และสุขศึกษา เพื่อสอนทุกระดับชั้น และเป็นผู้นำการออกกำลังกายทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนได้ออกกำลังกายอย่างทั่วถึง และการกีฬาแห่งประเทศไทย นำสุขภาพกีฬาไปสู่อาชีพและความเป็นเลิศ ซึ่งเป็นแนวทางนำไปสู่การพัฒนาสุขภาพอย่างยั่งยืน ทั้งนี้มีตัวอย่างการดำเนินงานที่ประสบผลสำเร็จในการพัฒนาสุขภาพ ได้แก่ โครงการส่งเสริมการออกกำลังกายและกีฬา เพื่อสุขภาพระดับจังหวัด ระยะที่ ๒ มีผู้เข้าร่วมโครงการ ๓๑ จังหวัด นับว่าเป็นนวัตกรรมการส่งเสริมสุขภาพเชิงรุก เพื่อการมีสุขภาวะที่ดีของประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาการกีฬาชาติ ในมิติกีฬา เพื่อมวลชน และยังสอดคล้องกับนโยบายสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนโดยมุ่งเน้นที่ “สร้างสุขภาพ” มากกว่า “ซ่อมสุขภาพ” โดยเน้นการพัฒนาพฤติสุขภาพไปสู่พฤติกรรมที่พึงประสงค์ มีการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน (Sustainable behavior) ซึ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุคคลหรือสังคมให้เกิดการเรียนรู้และตระหนักถึงปัญหา เข้าใจปัญหาด้วยจิตสำนึก และเข้าไปอยู่ในวิถีชีวิต โดยเฉพาะการออกกำลังกาย และหรือเล่นกีฬาเป็นประจำ เป็นกิจนิสัย ให้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน จะทำให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงและมีอายุยืน เพราะสังคมโลกจะเข้าอยู่สังคมผู้สูงอายุโดยในช่วงปี พ.ศ. 2559 ประชากรสูงอายุในโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 81.86 ล้านคนและการเป็นสังคมผู้สูงอายุของประเทศสำคัญ ๆ ในโลกมีผลกระทบต่อประเทศนั้นในหลายๆด้าน โดยเฉพาะรายจ่ายด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น ทำให้งบประมาณสำหรับการลงทุนพัฒนาด้านอื่น ๆ ลดลง ซึ่งประเทศไทย จะก้าวเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ในปี 2568 ขณะที่ประชากรวัยเด็กมีสัดส่วนลดลงอย่างต่อเนื่องทำให้สัดส่วนประชากรวัยแรงงานลดลง อาจกระทบต่อความต้องการแรงงานในระบบเศรษฐกิจในอนาคตภาครัฐและครัวเรือนจะมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการดูแลและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในด้านต่าง ๆ ส่งผลกระทบต่อภาระงบประมาณของภาครัฐ และค่าใช้จ่ายของครัวเรือน ในการดูแลสุขภาพอนามัย และการจัดสวัสดิการทางสังคม
ป.กก. กล่าวปิดท้ายว่า แนวทางการส่งเสริมและลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพดังกล่าว ต้องต้องเสร้างเสริมสุขภาวะคนไทย ให้มีความสมบูรณ์แข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ โดยการพัฒนาความรู้และทักษะในการดูแลสุขภาพของตนเอง ครอบครัว ชุมชน และลดปัจจัยเสี่ยงจากสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อสุขภาพ การใช้ประโยชน์จากยาสมุนไพร เพื่อการป้องกันและรักษาเบื้องต้น และการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการสื่อสารสังคมเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพเชิงรุกและพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขให้มีคุณภาพอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะระบบบริการขั้นพื้นฐาน ควบคู่กับการส่งเสริมการแพทย์ทางเลือก การพัฒนาด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ การพัฒนาระบบฐานข้อมูลสุขภาพของประเทศ การพัฒนาบุคลากรด้านสาธารณสุขให้เหมาะสมทั้งการผลิต การกระจายด้านสาธารณสุข ค่าตอบแทน และการอำนวยความสะดวกในชีวิตความเป็นอยู่ เพื่อเป็นสิ่งจูงใจให้บุคลากรมีการกระจาย ที่เหมาะสม รวมทั้งการใช้มาตรการการเงินการคลังเพื่อสุขภาพที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน ที่สำคัญที่สุด คือ การออกกำลังกายและเล่นกีฬาให้เป็นวิถีชีวิตของคนไทย ( Sports is the way of life) จะทำให้แก้ปัญหาการพัฒนาสุขศึกษาไปสู่สุขภาพที่ยั่งยืน และแก้ปัญหาของ สังคมโลกที่จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นได้อย่างแน่นอนทั้งในปัจจุบัน และในอนาคตต่อไป