ผลสำรวจเอชเอสบีซี เผยชาวเอเชียคาดหวังชีวิตหลังเกษียณจะดีกว่ารุ่นพ่อแม่

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 9, 2011 12:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ส.ค.--ธนาคารเอชเอสบีซี ธนาคารเอชเอสบีซี เผยผลสำรวจแผนชีวิตหลังเกษียณของกลุ่มคนวัยทำงานกว่า 17,000 คนใน 17 ประเทศทั่วโลก พบว่าชาวเอเชียมองชีวิตวัยเกษียณในแง่ดีมากที่สุด โดยชาวเอเชียมีมูลค่าสินทรัพย์เพื่อเกษียณอายุเฉลี่ยเกือบ 35,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกถึงร้อยละ 20 ผู้ตอบแบบสำรวจชาวอินเดียและชาวจีนส่วนใหญ่ (ร้อยละ 78 ของชาวอินเดีย และ ร้อยละ 75 ของชาวจีน) เชื่อว่าจะมีชีวิตในวัยเกษียณที่ดีกว่ารุ่นพ่อแม่ เทียบกับชาวฝรั่งเศส และชาวอเมริกัน ที่มีความเชื่อเช่นนั้นเพียงร้อยละ 13 และร้อยละ 22 ตามลำดับ นอกจากนี้ พบว่าอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของคนวัยทำงานในเอเชีย (ยกเว้นไต้หวัน) คาดหวังว่าชีวิตในวัยเกษียณจะดีกว่ารุ่นพ่อแม่ เทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ร้อยละ 45 มร. เดวิด ไฟรด์ ผู้จัดการทั่วไป และผู้อำนวยการบริหาร กลุ่มธุรกิจด้านประกันภัย กลุ่มเอชเอสบีซี กล่าวว่า “ปริมาณผู้สูงวัยที่เพิ่มขึ้นมาก ซึ่งเป็นหนึ่งในความท้าทายที่สำคัญที่สุดของศตวรรษที่ 21 นั้น จะไม่เป็นเพียงปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกตะวันตกเท่านั้น แต่ภายในปี 2050 คาดการณ์ว่า ประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปีในเอเชียจะเพิ่มจำนวนมากกว่าสามเท่าจนไปอยู่ที่ 900 ล้านคน ซึ่งในจำนวนประชากรที่อายุเกิน 65 ปี ทุก ๆ 4 คน จะมีสัดส่วนคนวัยทำงานเพียงไม่ถึง 1 คนเท่านั้น ซึ่งทำให้แผนการรองรับผู้เกษียณอายุแบบเดิม ๆ ใช้ไม่ได้ผล” “ผลสำรวจระบุว่า ขณะที่คนวัยทำงานในตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะในเอเชีย ยังคงมุ่งสร้างฐานะและเพิ่มพูนความมั่งคั่งของตนเองอย่างต่อเนื่อง กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ร่ำรวยขึ้นก็รู้สึกมั่นใจกับชีวิตในอนาคตมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการดูแลชีวิตในวัยเกษียณกลายเป็นภาระของแต่ละคนแทนที่จะเป็นรัฐบาล และบริษัทเอกชน ชาวเอเชียจึงกำลังหวั่นวิตกเรื่องเงินทองที่ไม่เพียงพอกับการเกษียณอายุเช่นเดียวกับชาวยุโรป” โดยเฉลี่ยแล้ว ชาวเอเชียราวร้อยละ 30 คาดว่าจะเผชิญกับปัญหาด้านการเงินหลังเกษียณ โดยมีสัดส่วนที่ต่ำเพียงร้อยละ 17 ในจีน และสูงพรวดพราดถึงร้อยละ 55 ในเกาหลีใต้ ผลสำรวจเอชเอสบีซี เผยชาวเอเชียคาดหวังชีวิตหลังเกษียณจะดีกว่ารุ่นพ่อแม่/ หน้า 2 การเปลี่ยนแปลงด้านความเสี่ยงครั้งใหญ่ ผลสำรวจแผนชีวิตหลังเกษียณ พบว่า มีชาวตะวันตกจำนวนเพิ่มขึ้นที่กังวลเรื่องเงินบำนาญจากรัฐและบริษัทเอกชนที่ลดลง เช่นเดียวกับคนเอเชีย โดยชาวอินเดียที่ตอบแบบสอบถาม เกือบร้อยละ 10 เชื่อว่าพวกเขาจะมีชีวิตหลังเกษียณที่แย่กว่ารุ่นพ่อแม่ เนื่องจากเงินบำนาญจากบริษัทไม่มากเช่นเดิม นอกจากนี้ ชาวจีนร้อยละ 14 คาดว่าจะได้รับผลประโยชน์ที่น้อยลงจากเงินบำนาญของรัฐบาล คนวัยทำงานสัดส่วนเพียงเล็กน้อยในเอเชีย คาดหวังว่ารัฐบาลจะช่วยดูแลตนเองหลังเกษียณ โดยเป็นชาวอินเดีย (ร้อยละ 3) สิงคโปร์ (ร้อยละ 3) มาเลเซีย (ร้อยละ 9) ไต้หวัน (ร้อยละ 10) ฮ่องกง (ร้อยละ 11) และเกาหลี (ร้อยละ 18) ยกเว้นในจีน ที่กว่าร้อยละ 40 หวังจะพึ่งพาเงินบำนาญจากรัฐเพียงอย่างเดียวสำหรับชีวิตในวัยเกษียณ สำหรับผู้ที่กังวลเรื่องปัญหาการเงินหลังเกษียณ พบว่า คนวัยทำงานในเอเชีย ราว 1 ใน 4 บอกว่าเป็นเพราะต้องดูแลพ่อแม่ที่แก่เฒ่า และพบว่า ชาวสิงคโปร์และจีนก็เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง โดยมีสัดส่วนเกือบ 1 ใน 3 ของผู้ที่ตอบแบบสอบถาม มร.ไฟรด์ กล่าวว่า “ชาวเอเชียกำลังแบกรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในการดูแลพ่อแม่ที่สูงอายุ ทำให้กระทบต่อการเก็บออม ซึ่งอาจส่งผลต่อเนื่องไปถึงการศึกษาของรุ่นลูกและชีวิตวัยเกษียณของตนเอง” รางวัลในการวางแผนชีวิต ผลสำรวจระบุว่า ชาวเอเชียส่วนใหญ่มีแผนการเงินพร้อมแล้ว โดยพบว่าเป็นชาวมาเลเซีย สัดส่วนสูงสุดถึงร้อยละ 84 และชาวจีนร้อยละ 76 เทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ร้อยละ 50 ขณะที่ชาวฮ่องกงมีสัดส่วนร้อยละ 46 น้อยกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกเล็กน้อย แต่ก็ยังสูงกว่าอังกฤษ (ร้อยละ 40) อเมริกา (ร้อยละ 36) และฝรั่งเศส (ร้อยละ 30) ผลสำรวจชี้ว่า ผู้คนในประเทศที่มีวัฒนธรรมบริหารจัดการเงินของตนเองและครอบครัว จะมีพฤติกรรมวางแผนเพื่ออนาคตที่ดีกว่าผู้คนในประเทศที่ภาครัฐหรือเอกชนให้การอุปถัมภ์ในยามเกษียณ นอกจากนี้ ยังพบว่า ชาวเอเชียยอมรับความเสี่ยงในการลงทุนมากกว่าชาติอื่น ๆ เช่น มีชาวจีนเพียงแค่ร้อยละ 12 และชาวอินเดียร้อยละ 18 คิดว่า ตัวเองเป็นนักลงทุนประเภทระมัดระวัง เทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ร้อยละ 31 และพบว่า คนเอเชียออมเงินในบัญชีเงินฝากเป็นหลัก โดยร้อยละ 49 ของคนวัยทำงานในเอเชีย บอกว่า กำลังวางแผนการเงินด้วยการออมระยะสั้น ผู้ตอบแบบสำรวจในเอเชียที่มีแผนการเงิน จะมีสินทรัพย์สะสมเฉลี่ยไว้ใช้หลังเกษียณ ราว 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากกว่าคนที่ไม่มีแผนการเงินเกือบร้อยละ 65 นอกจากนี้ ผู้ที่มีแผนการเงินยังมีสินทรัพย์เฉลี่ยที่ไม่ใช่สินทรัพย์เพื่อการเกษียณราว 33,800 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากกว่าผู้ที่ไม่มีแผนการเงินถึงเท่าตัว มร. ไฟรด์ กล่าวว่า “ผลสำรวจแผนชีวิตหลังเกษียณของเอชเอสบีซี แสดงให้เห็นว่า การวางแผนทางการเงินนั้นจะส่งผลดีในอนาคต โดยมอบผลตอบแทนอย่างแท้จริงทั้งผลประโยชน์เพื่อการเกษียณอายุในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น และมูลค่าทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้น ผลสำรวจของเรายังบ่งชี้ถึงรูปแบบการให้คำปรึกษาทางการเงินในอนาคต โดยลูกค้าระบุว่าการให้คำปรึกษาทางการเงินที่ดีนั้นจะต้องสั้น กระชับ แล้วเสร็จภายในครึ่งชั่วโมง และมุ่งเน้นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนของลูกค้า และเข้าใจง่าย” สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ วรนันท์ สุทธปรีดา, สาวิตรี หมวดเมือง โทรศัพท์ 0-2614-4609, 0-2614-4606

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ