กพช. เห็นชอบแนวทางและหลักเกณฑ์ในการส่งเสริมโครงการลงทุนพัฒนาระบบการขนส่งในเมืองใหญ่

ข่าวทั่วไป Friday November 16, 2007 17:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 พ.ย.--ก.พลังงาน
กพช. เห็นชอบแนวทางและหลักเกณฑ์ในการส่งเสริมโครงการลงทุนพัฒนาระบบการขนส่งในเมืองใหญ่ พัฒนาระบบขนส่งทางรถไฟ และโลจิสติกส์ ในส่วนที่ใช้เงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พร้อมอนุมัติร่างบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้าโครงการน้ำอู นับเป็นโครงการที่ 8 ที่ประเทศไทยรับชื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว กำลังผลิต 1,053 เมกะวัตต์ นอกจากนี้เห็นชอบให้มีการขยายการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ที่ใช้ระบบ Cogeneration จาก 500 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ปริมาณการรับซื้อรวมจะไม่เกิน 4,000 เมกะวัตต์ ตามที่ กพช.เห็นชอบไปแล้ว ภายหลังมีผู้สนใจจำนวนมาก และการขยายส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าให้กับ SPP พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานทำหน้าที่เป็นประธาน วันนี้ (16 พฤศจิกายน 2550) มีมติเห็นชอบการพิจารณาปรับแผนอนุรักษ์พลังงาน ระยะที่ 3 (ปี 2551-2555) จำนวน 2 ส่วน ส่วนแรกคือแนวทางและหลักเกณฑ์ในการส่งเสริมโครงการลงทุนพัฒนาระบบขนส่ง ในช่วงปี 2551-2555 วงเงินประมาณ 70,967 ล้านบาท ในส่วนที่ใช้เงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และส่วนที่ 2 คือ โครงการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ เป็นเรื่องแนวทางการจัดสรรเงินจากกองทุนฯ เพื่อช่วยเหลือผลักดันงานที่จำเป็นต้องเร่งเพื่อเตรียมความพร้อมในช่วง 3 ปีแรก หรือปี 2551-2553 เช่น ด้านกฎหมาย ด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการสร้างความเข้าใจต่อสาธารณชน โดยวงเงินที่จำเป็นต้องใช้ประมาณ 750 ล้านบาท
การประชุม กพช. ครั้งนี้ ยังมีมติเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจ (MOU) การรับซื้อไฟฟ้าโครงการน้ำอู (Nam Ou) จากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยนำร่าง MOU ที่ได้รับความเห็นชอบ ส่งไปให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณา และภายหลังได้ผ่านการพิจารณาผ่านอัยการสูงสุดแล้วให้สามารถนำไปลงนามกับกลุ่มผู้ลงทุนต่อไป
ทั้งนี้ ร่าง MOU ดังกล่าวจะเป็นการทำสัญญาระหว่าง กฟผ. กับบริษัท Sinohydro Coporation จำกัด และผู้ลงทุนไทย ที่อยู่ระหว่างการเจรจา โดยโครงการน้ำอู จะมีกำลังผลิตรวมประมาณ 1,053 เมกะวัตต์ จ่ายพลังงานไฟฟ้าเข้าระบบประมาณ 4,273 ล้านหน่วยต่อปี ในอัตราค่าไฟฟ้าที่รับซื้อเฉลี่ย 2.07 บาทต่อหน่วย อายุสัญญา 27 ปี โดยกำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 ซึ่งนับเป็นโครงการที่ 8 ที่ไทยจะมีการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ต่อจากโครงการห้วยเฮาะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว โครงการน้ำเทิน 2 ที่มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2552 โครงการน้ำงึม 2 จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบปี 2554 โครงการเทิน-หินบุนส่วนขยาย จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบปี 2555 โครงการน้ำเทิน 1 จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบปี 2556 โครงการน้ำงึม 3 จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบปี 2556และโครงการน้ำเงี้ยบ ที่จะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2557
นายวีระพล กล่าวว่า การประชุม กพช. มีมติเห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตจากประเทศไทย(กฟผ.) รับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ที่ใช้ระบบผลิตไฟฟ้าและไอน้ำร่วมกัน (Cogeneration) โดยให้สามารถรับซื้อไฟฟ้าได้มากกว่าที่ประกาศไว้ 500 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ปริมาณรับซื้อโดยรวมไม่เกิน 4,000 เมกะวัตต์ ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2550 ภายหลังมี SPP สนใจยื่นข้อเสนอมาแล้ว 28 โครงการ รวมปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญาทั้งสิ้น 2,191 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ กพช. มีมติเห็นชอบในการสนับสนุนสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) ที่ใช้พลังงานหมุนเวียนจากโครงการพลังงานลม และโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ กำหนดให้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าและกำหนดระยะเวลาสนับสนุนมากขึ้น โดยโครงการพลังงานลมให้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าจาก 2.50 บาทต่อหน่วย เป็น 3.50 บาทต่อหน่วย และขยายเวลาการสนับสนุนจาก 7 ปี เป็น 10 ปี ด้านโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ ให้ส่วนเพิ่มราคาเท่าเดิม 8 บาทต่อหน่วย แต่ให้มีการขยายเวลาจาก 7 ปี เป็น 10 ปี เช่นกัน รวมถึงการอนุมัติให้มีการแก้ไขการกำหนดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้าสำหรับ SPP ประเภท Non-Firm และผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) จากเดิมกำหนดอายุสัญญา ปีต่อปี เป็นอายุสัญญา 5 ปี และต่อเนื่องโดยอัตโนมัติ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น และเป็นการแก้ไขปัญหาให้สามารถจัดหาแหล่งเงินกู้ได้ง่ายขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ