กรุงเทพฯ--9 ส.ค.--ธนาคารทหารไทย
(จากซ้ายไปขวา : นายปพนธ์ มังคละธนะกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจลูกค้าเอสเอ็มอีขนาดเล็ก TMB , นางวิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. และนายวัลลภ เตชะไพบูลย์ รองผจก.ทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย.)
ภาครัฐและสถาบันการเงินออกมาประสานเสียงหลังพบว่าปัญหาเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เป็นปัญหาหลักของเอสเอ็มอีไทย ควรหาทางเยียวยาและแก้ไขให้ตรงจุด ล่าสุด ทีเอ็มบี สสว.และบสย.จับมือรวม ”พลัง” จัดกิจกรรมเสริมความรู้ทางการเงินและวิธีเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศ
นายปพนธ์ มังคละธนะกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจลูกค้าเอสเอ็มอีขนาดเล็ก TMB กล่าวว่า ธนาคารได้จับตาปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของเอสเอ็มอีมาโดยตลอด และเป็นเหตุผลหนึ่งที่ได้มีการพัฒนา สินเชื่อ 3 เท่าด่วน ทีเอ็มบี เอสเอ็มอี ที่ให้วงเงินสูงถึง 3 เท่า และทีเอ็มบี เอสเอ็มอีโอดี ไม่ต้องใช้หลักประกันสินเชื่อแบบวงเงินหมุนเวียน โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่มีข้อจำกัดเรื่องหลักทรัพย์ อย่างตรงจุดที่สุด อย่างไรก็ตาม ยังมีเอสเอ็มอีอีก เป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการดูแล ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ทีเอ็มบีโดยได้รับการสนับสนุนจากสสว. และบสย. จึงจัดกิจกรรม “เติมพลังการเงินให้ SME ก้าวไกล” ขึ้นเพื่อเป็นเวทีที่ให้ข้อมูลและคำแนะนำเกี่ยวกับการบริหารการเงินสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี รวมถึงแนะนำวิธีเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับเอสเอ็มอีโดยเฉพาะ และ นับว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ TMB จะได้เข้าถึงความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า มีส่วมร่วมในการคลี่คลายปัญหา เป็นกิจกรรมที่ TMB จัดขึ้นเพื่อเติมเต็มความต้องการที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง (Underserved) ของลูกค้ากลุ่มนี้ โดยมุ่งหวังให้ลูกค้าได้รับความรู้และประสบการณ์ทางการเงินที่ดี ซึ่งจะช่วยให้การบริหารธุรกิจของเขามีประสิทธิภาพมากขึ้นและมีความพร้อมที่จะรับสถานการณ์ด้านต้นทุนต่อไป กิจกรรม ”เติมพลังการเงินให้ SME ก้าวไกล” เริ่มครั้งแรกที่กรุงเทพฯ หลังจากนั้นจะจัดในส่วนภูมิภาค 5 แห่ง คือ นครศรีธรรมราช เชียงใหม่ นครราชสีมา อยุธยา ระยอง และเวียนมาที่ กทม.เป็นการส่งท้ายกิจกรรมปี 2554
นางวิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ สสว. เปิดเผยว่า สสว.ติดตามให้ความสำคัญกับปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของเอสเอ็มอีตลอดมา พบว่าระดับการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการไทย เมื่อเทียบกับทั่วโลกอยู่ในลำดับที่ 71 ในการจัดอันดับของธนาคารโลก ในขณะที่ความง่ายในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่อยู่ในอันดับ 1 คือ มาเลเซีย ประเทศไทยมีวิสาหกิจประมาณ 3 ล้านราย เป็นเอสเอ็มอี 2.9 ล้านราย ดังนั้นเอสเอ็มอีจึงเป็นหลักในการจ้างงานส่วนใหญ่ของประเทศ แต่สามารถส่งออกได้เพียงประมาณ 30% ของการส่งออกทั้งหมด ดังนั้น ปัญหาที่เห็นชัดคือ เอสเอ็มอีจ้างแรงงานมากแต่กลับส่งออกได้น้อย ในจำนวนเอสเอ็มอี เกือบ 3 ล้านราย มีผู้ประกอบการขนาดกลาง ( Mediem ) เพียง 10,000 ราย นอกนั้นเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก (Small) เป็นจำนวนมาก ปัญหาคือ ผู้ประกอบการขนาดเล็กไม่สามารถเติบโตขึ้นมาเป็นขนาดกลางได้ เนื่องจากปัญหาเรื่องแหล่งเงินทุน นอกจากนี้การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 เอสเอ็มอีไทยจะต้องรับสถานการณ์ 2 ด้าน ด้านลบ คือ การแข่งขันที่สูงขึ้น และด้านบวก คือจะได้ประโยชน์ในเรื่องภาษีที่ลดลงในระหว่างการซื้อขายในประชาคมอาเซียน แต่ความกังวลใหญ่ของเอสเอ็มอีก็ยังหนีไม่พ้นเรื่องแหล่งเงินทุน ดังนั้น การที่ทีเอ็มบี สสว. และ บสย. รวม ”พลัง” จัดกิจกรรมนี้จะทำให้เอสเอ็มอีรู้วิธีเข้าถึงแหล่งเงินทุน และสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ตลอดจนนำองค์ความรู้และข้อมูลต่างๆ ไปใช้เพื่อขยายหรือพัฒนาธุรกิจให้แข็งแกร่งต่อไปได้เป็นอย่างดี
ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)
แนวคิด Make THE Difference ของ TMB คือความมุ่งมั่นค้นหาความต้องการที่ยังไม่ได้รับการตอบสนองทางการเงินของลูกค้า และท้าทายมาตรฐานเดิมๆ ของวงการธนาคาร เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่จะตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง และเปลี่ยนโลกทางการเงินให้ชีวิตลูกค้าดีขึ้น โดย TMB มุ่งตอบสนองความต้องการของลูกค้าประเภทต่างๆ ตามนโยบาย ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ผ่านเครือข่ายสาขารวมทั้งสิ้น 459 สาขา สำนักงานแลกเปลี่ยนเงิน 92 แห่ง เครื่องเอทีเอ็มจำนวน 2,330 เครื่อง รวมทั้งให้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ประเภทต่างๆ
TMB ริเริ่มและเป็นผู้นำในการให้บริการ บริการฝากถอนเงินไม่ต้องใช้สลิป (TMB No Slip Transaction), ผลิตภัณฑ์เงินฝากไม่มีค่าธรรมเนียม (TMB No Fee และ TMB No Limit Savings Deposits), เงินฝากประจำประเภทถอนก่อนดอกเบี้ยไม่ลด (TMB Up & Up Term Deposit), สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีที่ให้วงเงินสูงถึง 3 เท่าของหลักประกัน (TMB SME 3 Times Express Credit), บัญชีกระแสรายวันฟรีค่าธรรมเนียม (TMB SME No Fee - Max) และ บริการระบบงานเพื่อธุรกิจการค้าต่างประเทศที่สมบูรณ์แบบ (State-of-the-Art Trade Finance Workflow Imaging) และล่าสุดกับ เงินฝากไม่ประจำ ทีเอ็มบี ดอกเบี้ยสูง (TMB No Fixed)
TMB เป็นธนาคารที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีสินทรัพย์รวม 638,291 ล้านบาท (ณ วันที่ 31มี.ค. 54)