กรุงเทพฯ--19 พ.ย.--กทม.
ผู้ว่าฯ อภิรักษ์ ร่วมรำลึกเหยื่ออุบัติเหตุจราจร เมาแล้วขับ พร้อมเชิญชวนคนไทยลด ละ เลิก พฤติกรรมเสี่ยงใช้รถขณะเมา ง่วง โทรศัพท์ และขับรถเร็ว ถายพ่อหลวง ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตน่าห่วงปี 50 สูงถึง 9,286 ราย มากกว่าปี 49 ถึง 200 ราย
เมื่อวานนี้ (18 พ.ย.2550) หน้าองค์การสหประชาชาติ ถ.ราชดำเนิน : เวลา 09.25 น. นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีรำลึกถึงเหยื่อผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุจราจร โดยมี Mr.Barry Cable ผู้แทน UNESCAP นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ นายทูน หิรัญทรัพย์ ประธานเครือข่ายศิลปินดาร่วมใจเมาไม่ขับ พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายรณรงค์ลดอุบัติเหตุ ภาครัฐ และเอกชน ร่วมในพิธีเปิด พร้อมทั้งจัดกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงเหยื่อผู้สูญเสียด้วยการกล่าวคำไว้อาลัย ยืนสงบนิ่ง และวางดอกกุหลาบต่อหน้ารูปเหยื่อผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุจราจร รวมถึงขบวนรณรงค์ตลอดเส้นทางถนนสามเสน ถนนบางลำพู ถนนข้าวสาร และถนนราชดำเนิน โดยตลอดเส้นทางมีการแจกสื่อรณรงค์เพื่อเชิญชวนให้คนไทยร่วมรำลึกถึงเหยื่อผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุจราจร
ผู้ว่าฯ อภิรักษ์ เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ มูลนิธิเมาไม่ขับ สำนักงานยูเอ็นเอสแคปประจำประเทศไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงเหยื่อผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุจราจร ด้วยทุกวันอาทิตย์ที่ 3 ของเดือนพฤศจิกายน เป็นวันที่รำลึกเหยื่อผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุจราจร (WORLD VICTIMS DAY) พร้อมทั้งขอเชิญชวนคนไทยร่วมกันลด ละ เลิก พฤติกรรมเสี่ยงในการใช้รถใช้ถนนทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นเมาแล้วขับ ง่วงแล้วขับ โทรแล้วขับ ขับรถเร็ว ขับรถจักรยานยนต์ไม่สวมหมวกนิรภัย ขับรถฝ่าฝืนกฎจราจร ทั้งนี้เพื่อร่วมถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา
ผู้ว่าฯ อภิรักษ์ กล่าวด้วยว่า กรุงเทพมหานคร ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาอุบัติเหตุจราจรที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงได้ส่งเสริมให้มีโครงการระบบขนส่งมวลชน โครงการสวนจราจร โครงการอบรมอาสาจราจร โครงการทางจักรยาน โครงการรณรงค์วินัยจราจร รวมไปถึงโครงการติดตั้งกล้องวงจรปิดบริเวณสี่แยกสัญญาณไฟจราจรและพื้นที่สำคัญ ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถช่วยลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุจราจรของประชาชนได้เป็นอย่างมาก
ปัจจุบัน ประเทศไทยมียอดผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร ตั้งแต่เดือนมกราคม - กันยายน 2550 รวมทั้งสิ้น 9,286 คน ในขณะที่ปี 2549 มียอดผู้เสียชีวิต 9,086 คน ซึ่งสูงกว่าเดิมถึง 200 คน โดยสาเหตุอันดับหนึ่ง คือ เมาแล้วขับ ขับรถเร็ว เป็นต้น