กรุงเทพฯ--10 ส.ค.--สสวท.
ความสำเร็จ รอยยิ้ม และมิตรภาพ คือสิ่งที่เกิดขึ้นในเวทีการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 23 หรือ หรือ International Olympiad in Informatics 2011 (IOI 2011) ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยมีสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จับมือกับหน่วยงานต่างๆ เป็นเจ้าภาพจัดงานกันอย่างเข้มแข็ง สร้างความประทับใจให้แก่ผู้มาเยือนทุกคน
การแข่งขันครั้งนี้มีผู้แทนเยาวชนเข้าร่วมทั้งหมด 78 ประเทศ สำหรับบางคนนี่คือประสบการณ์ครั้งแรกในเวทีระดับโลก... แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ พวกเขาต้องฟันฝ่าอุปสรรคอะไรมาบ้าง ลองมาฟังความเห็นของเยาวชนผู้แทนเหล่านี้
Mr. Rafael Mantilla ผู้แทนเยาวชนจากประเทศโคลัมเบีย เขาคว้าเหรียญเงินจาก IOI 2011 มาด้วยความภาคภูมิใจ หลังจากการสอบสิ้นสุดลง เขาพูดด้วยความกระตือรืนร้นว่า โจทย์ยากพอสมควร แต่ทำได้ดีกว่าที่คาดหวังไว้ ก่อนหน้านี้เตรียมตัวมา 1 ปี ก่อนมาได้เข้าค่ายวิชาการ 3 เดือน เพื่อติวเข้ม มีความสุขมากที่ได้ร่วมในเวทีนื้
Rafael บอกว่า เขาชอบวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์มาก แต่เริ่มมาสนใจเรื่องการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เมื่อทราบว่ามีการแข่งขันระดับนานาชาติ จากนั้นจึงหันมาเรียนรู้เรื่องการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพราะรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่สนุก ท้าทาย
“ปีนี้เพิ่งจบไฮสคูล และกำลังจะเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ผมจะเลือกเรียนด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ต่อไปอย่างแน่นอน” Rafael พูดถึงอนาคต
ด้าน Mr.Aaron Montag ผู้แทนเยาวชนจากประเทศสหพันธรัฐเยอรมนี คว้าเหรียญทองแดง จาก IOI 2011 บอกว่า นี่เป็นประสบการณ์ครั้งที่ 2 แล้วที่เขาได้เป็นผู้แทนประเทศเยอรมันมาแข่งขันในเวทีคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ข้อสอบสำหรับปีนี้เขารู้สึกว่ามันง่ายกว่าครั้งแรก เพราะมีประสบการณ์มาแล้ว และพอใจกับคะแนนที่ได้ และผลลัพธ์ที่ออกมา
Aaron เล่าว่า เขาเริ่มสนใจเกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตั้งแต่อายุ 12 ปี และเรียนรู้มาเรื่อยๆ วิทยาการคอมพิวเตอร์เป็นเรื่องที่น่าทึ่งมากสำหรับเขา จึงพัฒนาตัวเองเรื่อยๆ มาจนกระทั่งจับพลันจับพลูมาแข่งขันในระดับจังหวัดในประเทศเยอรมนี จึงค้นพบว่าตัวเองก็เรียนรู้ทางด้านนี้ได้ดี
“ผมเรียนรู้ด้วยการอ่านหนังสือด้วยตัวเอง เอาข้อสอบเก่าๆในการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกมาลองทำดูตลอด ก็รู้สึกว่า ..อืม..ก็ทำได้ดี”
Aaron บอกว่า เยาวชนเยอรมันมีความสนใจด้านคอมพิวเตอร์มากๆ โดยเฉพาะ IOI ได้รับการตอบรับจากเยาวชนในเยอรมันมาก มีเยาวชนจำนวนมากมาเข้าร่วมเพื่อสอบคัดเลือกเป็นผู้แทนของประเทศ และติดตามการแข่งขัน และคนที่สนใจเรียนรู้ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์มีจำนวนพอสมควร แต่เยาวชนเยอรมันส่วนใหญ่ให้ความสนใจด้านฟิสิกส์ และคณิตศาสตร์ มากกว่า
“ตอนนี้ผมเพิ่งจบระดับไฮสคูล อยากเรียนต่อทางด้านคณิตศาสตร์ในระดับมหาวิทยาลัยในเบอร์ลิน และวางแผนว่าในช่วง 5-10 ปีต่อจากนี้ จะเรียนสาขาวิชาอื่นๆผสมผสานไปด้วย แต่ระหว่างนี้หลังจากกลับไป อยากเดินทางท่องเที่ยวแถบยุโรปตะวันออกสักพักก่อน”
Aaron ยังบอกต่อว่า นี่เป็นครั้งแรกในการเดินทางมาเอเชีย และประเทศไทยด้วย ประทับใจทุกๆอย่าง ทั้งสถานที่ ผู้คน กิริยามารยาทเป็นสิ่งที่แปลกใหม่สำหรับเขา
Mr.Frederikus Hudi ผู้แทนเยาวชนจากประเทศอินโดนีเซีย คว้าเหรียญทองแดงจาก IOI 2011 บอกว่า ข้อสอบค่อนข้างยาก รู้สึกตื่นเต้น เพราะนี่เป็นประสบการณ์ครั้งแรก ก่อนจะได้รับการคัดเลือกเป็นผู้แทนประเทศ เขาต้องผ่านการสอบคัดเลือกในระดับจังหวัดมาก่อน จากนั้นก็มาสู่ระดับภาค จนกระทั่งเหลือ 30 คนในระดับประเทศ มาเข้าค่ายวิชาการ 3 เดือน จนสอบคัดเลือกเหลือ 4 คนมาแข่งขันครั้งนี้ คล้ายๆ กับประเทศไทย
“ผมเริ่มเห็นพี่ชายเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เลยเริ่มสนใจเรียนรู้ และพัฒนาตัวเองเพิ่มขึ้น สำหรับเยาวชนในอินโดนีเซีย เริ่มให้ความสนใจด้านการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้มีสอนในหลักสูตรของโรงเรียน ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง”
Fredrikus บอกว่าประสบการณ์ในการแข่งขันครั้งนี้ ทำให้ได้เรียนรู้ด้านคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้น และได้เพื่อนใหม่ๆ ตอนนี้เพิ่งจบไฮสคูล ตั้งใจว่าจะเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยในอินโดนีเซีย หรือในสิงคโปร์ ด้านคอมพิวเตอร์ต่อไป
Mr.Kensuke Imanishi ผู้แทนจากประเทศญี่ปุ่น คว้าเหรียญเงิน จาก IOI 2011 บอกว่า นี่เป็นครั้งที่สองที่ได้เป็นผู้แทนญี่ปุ่น ข้อสอบยากมาก ยากกว่าปีที่ผ่านมา จึงต้องใช้ความพยายามมากขึ้น แต่ก็มีข้อที่ง่ายๆปะปนกันไป
Kensuke เล่าว่า เขาชอบเล่นคอมพิวเตอร์มาตั้งแต่อยู่ชั้นประถมศึกษาแล้ว เริ่มจากเล่นเกมส์ก่อน หลังจากนั้นก็เริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมบ้าง แต่พอเรียนรู้ไปก็รู้สึกว่าไม่ได้นำมาใช้ เพราะไม่มีในหลักสูตรโรงเรียน
“ตอนนั้นผมรู้สึกว่าไม่รู้จะเรียนรู้ไปทำไม แต่พอรู้ว่ามีการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิก รู้สึกว่ามีจุดมุ่งหมายในการเรียนรู้ จึงพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้แทนประเทศญี่ปุ่นสู่การแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิก สำหรับอนาคตยังไม่ได้ตัดสินใจแน่นอน เพราะยังอยู่มัธยมศึกษาปีที่ 6 ”
สำหรับความสนใจของเยาวชนญี่ปุ่น Kensuke บอกว่า ส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสนใจมากนักเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์โอลิมปิก เพราะมีเยาวชนมาสอบคัดเลือกแค่ 1,000 คน แต่สื่อก็ให้ความสนใจบ้างในช่วงที่มีการแข่งขัน หรือมีผู้แทนที่สามารถคว้าเหรียญรางวัลได้ และส่วนหนึ่งก็มีผู้ให้การสนับสนุน
Mr. Benoit Legat ผู้แทนจากประเทศเบลเยี่ยม คว้าเหรียญทองแดงจาก IOI 2011 บอกว่า ปีนี้คิดว่าตัวเองทำได้ดีกว่าปีที่แล้ว เพราะมีการเตรียมตัวมาพร้อมมากกว่าเดิม มีความสุขมาก เพราะทำคะแนนได้ดีขึ้น เนื่องจากมีประสบการณ์จากปีที่ผ่านมาด้วย
Benoit เล่าว่า เริ่มสนใจการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เพราะก่อนหน้านี้ชอบและเรียนรู้ทางด้านกราฟฟิคดีไซน์อยู่ จึงอยากพัฒนาด้านกราฟฟิคของตัวเองเพิ่มเติม จึงหันมาเรียนรู้ด้านการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และเริ่มรู้สึกว่าน่าสนใจ
“ในประเทศเบลเยียมเอง ก็ไม่ได้มีการเรียนการสอนเฉพาะทางด้านการเขียนโปรแกรมโดยตรงในระดับไฮสคูล ดังนั้น ถ้าใครสนใจต้องเรียนรู้ด้วยตนเองจากเว็บไซต์ต่างๆ สำหรับอนาคต ตั้งใจว่าจะเรียนต่อทางด้านวิศวกรรม ที่มีการประยุกต์คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์เข้าด้วยกัน”
Benoit พูดถึง ประสบการณ์การเป็นผู้แทนประเทศมาแข่งขัน IOI 2011 ในประเทศไทยว่า เป็นการเปลี่ยนมุมมองใหม่ให้กับตนเอง ได้เห็นคนที่มีความสามารถมากกว่าเรา คนที่เก่งกว่า ได้เห็นว่ามีเพื่อนอีกหลายๆคนที่ให้ความสนใจในการแข่งขันฯ
“ผมได้สัมผัสกับความเครียดในการแข่งขัน ได้รู้ว่าหลังจากนั้น มันก็ผ่านไปได้ และได้สัมผัสกับเอเชียเป็นครั้งแรก ได้เห็นวิธีการที่ผู้คนพบปะเข้าหากัน เห็นวัฒนธรรมที่แตกต่าง ทำให้เปลี่ยนชีวิตของผมไปเลย” Benoit พูดถึงประสบการณ์ครั้งนี้
การจัดงานแข่งขันครั้งนี้มีประเทศเข้าร่วมแข่งทั้งหมด 78 ประเทศ ประเทศเข้าสังเกตการณ์ 2 ประเทศ หัวหน้าทีมและรองหัวหน้าทีมรวม 151 คน นักเรียนเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 306 คน visitors 68 คน มีผู้ส่งผลงานเพื่อนำเสนอในการประชุม 14 เรื่อง นิทรรศการผลงานชนะเลิศการประกวดด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 30 ผลงาน
ผลการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศครั้งที่ 23 นี้ MR.GENNADY KOROTKEVICH ผู้แทนเยาวชนจากประเทศเบลารุสทำคะแนนการสอบรวมกัน 2 วันสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งของโลกคือได้คะแนนเต็ม 600 คะแนน อันดับสองคือผู้แทนเยาวชนจากสาธารณรัฐประชาชนจีนทำได้ 599 คะแนน อันดับสามคือผู้แทนเยาวชนจากประเทศรัสเซียและบราซิลทำได้ 598 คะแนน โดยทีมผู้แทนประเทศไทยได้ 2 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน 1 เหรียญทองแดง