กรุงเทพฯ--10 ส.ค.--ฐิติกร
บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้นำด้านการให้สินเชื่อรถจักรยานยนต์ในเขตกรุงเทพมหานคร เตรียมตัวพร้อมรับวิกฤติการเงินโลกตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยออกเครื่องมือทางการเงินเพื่อรักษาระดับต้นทุนทางการเงินให้คงที่และจัดโครงสร้างอายุของแหล่งเงินทุนให้สอดคล้องกับธุรกิจของบริษัท ดังนั้นความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยซึ่งเกิดจากวิกฤติการเงินครั้งนี้ จะไม่กระทบต่อผลประกอบการของบริษัทฯ
นางสาวปฐมา พรประภา กรรมการผู้จัดการ TK เปิดเผยว่าคณะผู้บริหารได้ติดตามภาวะเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยได้เล็งเห็นถึงภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นของตลาดการเงินโลก โดยผู้บริหารได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อเดือนเมษายน ให้ออกหุ้นกู้วงเงิน 2,000 ล้านบาท อายุไม่เกิน 10 ปีนับตั้งแต่วันออกหุ้นกู้ในแต่ละคราว โดยอัตราดอกเบี้ยจะขึ้นอยู่กับสภาวะตลาดในขณะที่ออกและเสนอขายหุ้นกู้ โดยตั้งแต่ปี 2553 — ปัจจุบัน บริษัทได้ออกหุ้นกู้และกู้เงินระยะยาวจากสถาบันการเงินจำนวน 3,950 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยคงที่เฉลี่ยประมาณ 4% ระยะเวลา 3-5 ปี ทำให้ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนเงินกู้อัตราดอกเบี้ยคงที่กว่า 90% ซึ่งคาดว่าอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มสูงขึ้น จะไม่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทในอีก 3-5 ปีข้างหน้านี้ ในทางกลับกันภาวะดอกเบี้ยที่ให้เช่าซื้อมีแนวโน้มสูงขึ้นตามภาวะตลาดซึ่งจะทำให้บริษัทมีโอกาสได้รับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้การออกหุ้นกู้และวงเงินที่ได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องแล้ว บริษัทยังมีวงเงินสินเชื่อพร้อมใช้กับสถาบันการเงินต่างๆ กว่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งทำให้บริษัทมีความพร้อมในการขยายธุรกิจตามเป้าหมาย 20% ของบริษัทในปี 2554 และต่อเนื่องจนถึงปี 2555
ตลาดการเงินโลกได้เข้าสู่ภาวะปั่นป่วนตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่แล้ว โดยสถาบันจัดอันดับเครดิตสแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ (S&P) ได้ลดเครดิตเรทติ้งสหรัฐจาก AAA มาอยู่ที่ AA+ ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบต่อภาวะตลาดหุ้นทั่วโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงและภาวะอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นแล้ว ยังส่งผลไปถึงตลาดทองคำ และสินค้าโภคภัณฑ์ โดยได้ปรับตัวเพิ่มสูงสร้างสถิติใหม่อย่างต่อเนื่อง
นางสาวปฐมากล่าวเพิ่มเติมว่าตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยในปีนี้ไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากความผันผวนทางการเงินโลกครั้งนี้ โดยล่าสุดบริษัท เอพีฮอนด้า จำกัด ได้แจ้งภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในไตรมาส 2 ที่มีการขยายตัวถึง 16% และได้มีการคาดหมายว่าจะมียอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ทะลุ 2 ล้านคันในปีนี้นอกจากนี้ภาวะความผันผวนทางการเงินครั้งนี้ จะส่งผลต่อสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆให้ปรับตัวสูงขึ้น เพราะนักลงทุนลดการถือครองเงินดอลลาร์ และหันมาลงทุนในตลาดสินค้าโลหะมีค่า และสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อราคาพืชผลทางการเกษตรของประเทศไทย และเมื่อผนวกกับนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่อาทิโครงการรับจำนำสินค้าเกษตร การปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท หรือเงินเดือน 15,000 บาทสำหรับปริญญาตรี จะทำให้เงินจำนวนมากสะพัดเข้าไปในกลุ่มลูกค้าที่เกี่ยวข้องในภาคเกษตรกรรมและลูกค้าที่อยู่ในภาคธุรกิจอย่างรวดเร็ว
“คาดว่าจะส่งผลให้ลูกค้ามีกำลังผ่อนชำระค่างวดมากขึ้น และมีความสม่ำเสมอในการผ่อน ซึ่งจะส่งผลถึงคุณภาพลูกหนี้ของบริษัทกว่า 8,000 ล้านบาท มีความมั่นคงและปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพลดลง ในทางการแข่งขันทางตลาดในช่วงครี่งปีหลังคงจะมีความรุนแรงมากขึ้น โดยบริษัทจะยังคงเน้นนโยบายการให้สินเชื่ออย่างระมัดระวังต่อไป ทั้งนี้ปัจจัยบวกอีกตัวหนึ่งก็คือ ผู้ผลิตสินค้า ไม่ว่าจะเป็นฮอนด้าหรือยามาฮ่า คงจะมีสินค้าใหม่ออกมากระตุ้นกำลังในช่วงครึ่งปีหลังอย่างแน่นอน”
ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ วิรัตน์ ตรีรานุรัตน์
ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์
Email: virathr@gmail.com