กรุงเทพฯ--3 พ.ย.--สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
โรคลมชัก เป็นปัญหาทางระบบประสาทที่พบบ่อย มีความชุกของโรค ๔ - ๑๐ ต่อประชากร ๑,๐๐๐ ราย โดยพบมากสูงสุดในช่วงอายุ ๕ ปีแรก หลังจากนั้น จำนวนจะลดลง และสูงขึ้นอีกครั้งในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคลมชักส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะ ผู้ป่วยที่รับประทาน Dilantin เป็นประจำต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจมีความสามารถ ในการดูแลช่องปากได้ไม่ดีนัก อาจทำให้เกิดอาการบวมโตของเหงือกอย่างมาก เหงือกคลุมฟัน ทำให้ผู้ป่วยทำความสะอาดฟันได้ลำบาก ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดสภาวะเหงือกอักเสบ หรือโรคปริทันต์ตามมา
ผู้ป่วยโรคลมชักที่มีอันตรายระหว่างทำฟัน แบ่งเป็น ๒ กลุ่ม คือ ผู้ป่วยโรคลมชักชนิดเกร็ง กระตุกทั้งตัว และผู้ป่วยที่ชัก ทำอะไรไม่รู้ตัว ส่วนในกลุ่มที่ชักเฉพาะส่วน อาจสามารถรู้ว่าเมื่อใดจะชัก ซึ่งหากให้ความสำคัญกับประวัติโรคลมชักตั้งแต่ต้น อาจสามารถป้องกันอันตรายจากการชักได้ ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความพิการทางร่างกาย และ/หรือสมอง ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องดูแลสุขภาพช่องปากเฉพาะที่ และมีคุณภาพ เพื่อการป้องกันการเกิดรอยโรค และความเจ็บปวดในช่องปากได้
การบำบัดรักษาทางทันตกรรม ต้องซักประวัติเพื่อหลีกเลี่ยงการกระตุ้น ที่จะทำให้เกิดการชัก หากยังควบคุมการชักได้ไม่ดี แพทย์อาจเลื่อนการทำฟันที่ไม่รีบด่วน ออกไปก่อนเพื่อความปลอดภัย
(ที่มา :http://www.komchadluek.net/column/health/2005/08/18.php)--จบ--