กรุงเทพฯ--19 พ.ย.--สปส.
สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ย้ำหากบริษัทปิดกิจการ ลูกจ้าง ผู้ประกันตน ถูกเลิกจ้างยังคงใช้สิทธิประโยชน์ประกันสังคมได้อีกนานถึง 6 เดือน ใน 4 กรณี ได้แก่ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย และคลอดบุตร พร้อมทั้ง ได้รับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน
นายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า การที่มี สถานประกอบการปิดกิจการลง ทำให้ลูกจ้าง ผู้ประกันตนหลายรายกลัวว่าตนเองจะไม่สามารถใช้ สิทธิประโยชน์ประกันสังคมได้อีก ประกอบกับข่าวของสถานประกอบการบางแห่งที่เกิดปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ทำให้ต้องลดจำนวนพนักงานหรือปิดกิจการลง ยิ่งส่งผลให้ลูกจ้าง ผู้ประกันตนมีความกังวลเพิ่มขึ้น สำนักงานประกันสังคมขอแจ้งให้ทราบว่า หากลูกจ้าง ผู้ประกันตนถูกเลิกจ้าง ทุกคนยังคงใช้สิทธิประโยชน์ประกันสังคมได้ตามปกติต่ออีก 6 เดือน ไม่ว่าสถานประกอบการนั้น จะประสบปัญหาใดก็ตาม
ทั้งนี้ ได้กำชับให้สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่/จังหวัดคอยสอดส่องดูแลและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจกับลูกจ้าง ผู้ประกันตนให้ทราบถึงสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับจากกองทุนประกันสังคม รวมทั้งสิทธิประโยชน์ในกรณีว่างงานต่อไป
นายสุรินทร์ กล่าวต่อว่า การจะได้รับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเมื่อถูกเลิกจ้าง หรือลาออกนั้น ผู้ประกันตนจะต้องส่งเงินสมทบมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงาน และต้องไปขึ้นทะเบียนหางานที่สำนักงานจัดหางานของรัฐ ทั่วประเทศภายใน 30 วันหลังจากถูกเลิกจ้างหรือลาออกจากงาน ซึ่งสิทธิที่ผู้ประกันตน จะได้รับความช่วยเหลือเมื่อว่างงานนั้นคือ การช่วยเหลือในการบริการจัดหางาน การฝึกอบรมและพัฒนาฝีมือแรงงาน และได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีว่างงาน โดยสาเหตุที่ออก จากงานด้วยสาเหตุถูกเลิกจ้างจะได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงานในอัตรา 50 % ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบ เป็นระยะเวลาสูงสุด 6 เดือนและหากลาออกเองจะได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงาน ในอัตรา 30 % ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบเป็นระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน และยังได้รับ ความคุ้มครองต่ออีก 6 เดือน ใน 4 กรณี ได้แก่ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย ไม่เนื่องจากการทำงาน และคลอดบุตร
ทั้งนี้ ผู้ประกันตนที่มีความประสงค์จะเป็นผู้ประกันตนต่อ สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจตามมาตรา 39 ภายในระยะเวลา 6 เดือนนับแต่วันที่ออกจากงาน หากผู้ประกันตนมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลที่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่/จังหวัด หรือสายด่วน 1506