กรุงเทพฯ--19 พ.ย.--คิธ แอนด์ คินฯ
ผู้บริหารไอบีเอ็มใช้เวที่ ICT FORUM ในงาน ICT Expo 2007 แนะ หากไทยอยากแข่งขันในตลาดโลก และเชื่อมโยงเครือข่ายทั่วโลกด้านธุรกิจ IT ต้องเริ่มลงทุนด้านการศึกษา และพัฒนาบุคคลากร ชี้นโยบายด้านเศรษฐกิจภาครัฐต้องเปิดการค้าเสรี พร้อมผลักดันบุคคลสำคัญของประเทศให้มีบทบาทในเวทีการค้าโลก
นายสตีเฟ่น ดั๊บเบิ้ลยู เบรม รองประธานฝ่ายโครงการภาครัฐ ไอบีเอ็ม แปซิฟิก - เอเซีย กล่าวในงานสัมมนา ICT Expo 2007 ในหัวข้อ “การสร้างศักยภาพท้องถิ่น นำไทยสู่เวทีการค้าโลก” ว่า ปัจจุบันธุรกิจด้าน IT เป็นแบบการเปิดตลาดการค้าเสรี ซึ่งต้องมีการแลกเปลี่ยนด้านความรู้ เทคโนโลยี และบุคคลากรระหว่างประเทศทั่วโลก เพื่อนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมใหม่ การเพิ่มของอัตราการจ้างงาน และการพัฒนาอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของประเทศต่อไป
ดังนั้นหากประเทศไทยต้องการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันระดับโลก จะต้องเริ่มลงมือทำโดยทันที เริ่มจากการลงทุนด้านการศึกษา และพัฒนาบุคคลากร ทั้งนี้หลักสูตรการศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยต้องมีการปรับเปลี่ยนให้หลากหลาย นักศึกษาด้าน IT จะต้องมีความสามารถในหลากหลายศาสตร์ โดยเฉพาะความรู้ ความเข้าใจในธุรกิจระดับนานาชาติ
นอกจากนี้ภาครัฐต้องให้ความสำคัญต่อนโยบายการลงทุนทางด้านการศึกษา โดยสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจและสถาบันการศึกษาโดยทันที ชัดเจนและโปร่งใส พร้อมกันนี้ต้องมีการปรับเปลี่ยนนโยบายด้านเศรษฐกิจให้เปิดเสรีมากขึ้น เพื่อสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดและเศรษฐกิจโลก ซึ่งต้องอาศัยการทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันธุรกิจด้าน IT ของไทยให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายเบรม ยังชี้ให้เห็นว่าการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต และจำนวนการใช้คอมพิวเตอร์ของประชากรนั้นมีความสัมพันธ์สำคัญต่อการเพิ่ม GDP ของประเทศ โดยเปรียบเทียบกับประเทศสิงค์โปร์ที่มีการเพิ่มของ GDP กว่า 5% เมื่อการเข้าถึงสาธารณูปโภคด้านไอทีของประชากรเพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้คู่แข่งที่น่ากลัวของไทยก็คือ ประเทศเวียดนาม ซึ่งรัฐบาลของเวียดนามนั้นให้ความสำคัญต่อการพัฒนาด้านการศึกษา และบุคคลากรอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ดังนั้นไทยจึงควรเริ่มลงมืออย่างจริงจังเพื่อเข้าสู่เวทีการแข่งขันด้านการค้าไร้พรมแดนในระดับโลก
“ปัจจัยสำคัญในการพัฒนาด้านธุรกิจไอทีของไทยควรผลักดันบุคคลทั้งภาครัฐและเอกชนให้มีบทบาทสำคัญในเวทีการค้าโลก เพื่อสามารถต่อรองธุรกิจการค้าระดับโลก และมีส่วนในการกำหนดนโยบายการค้าร่วมระดับนานาชาติ”
ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ คุณธนากร 084 695 1949