กรุงเทพฯ--19 พ.ย.--สกว.
“ปูแสม” เป็นทรัพยากรประมงที่มีคุณค่าและมีความสำคัญทางศรษฐกิจชนิดหนึ่งของไทย ที่คนไทย นิยมนำมาบริโภคในรูปแบบต่างๆ เช่น ดองเค็ม หลน ยำ หรือใช้เป็นส่วนประกอบของส้มตำ เพื่อเพิ่มรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์
ประเทศไทยมีปูแสมถึง 29 สกุล 71 ชนิด แต่ชนิดที่นิยมนำมาดองเค็มและเป็นที่ต้องการของตลาด มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sesarma mederi (H. Milne-Edward) ลักษณะโดยทั่วไปมีสีน้ำตาลดำ ปลายก้ามสีน้ำตาลแดง ขณะที่มีชีวิตบริเวณช่องปากมีสีม่วงเป็นประกาย สีสันของปูแสมจะเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อม และแหล่งที่ปูอยู่อาศัย ปูที่อาศัยอยู่ตามป่าจาก ดงแสมดำ หรือตามป่าบก จะมีก้ามขาว ตัวเขียว แต่ถ้าเป็นปูแสมที่อยู่ในป่าชายเลน ใกล้ทะเล ก้ามจะสีแดงม่วง ตัวสีแดง ปูแสมขนาดใหญ่ที่พบโตประมาณ 4.3 ซม.
ปัจจุบันพบว่า ประชากรปูแสมตามแหล่งธรรมชาติ มีปริมาณลดน้อยลงและหายากขึ้น เนื่องจากแหล่งที่ปูแสมอาศัยอยู่ใกล้ชุมชน ปูแสมจับง่ายโดยไม่ต้องใช้เครื่องมือ เพียงใช้มือก็จับได้แล้ว จึงถูกชาวบ้านจับมาบริโภค หรือจับไปจำหน่ายเป็นจำนวนมาก จนปูรุ่นใหม่เกิดทดแทนไม่ทัน ยิ่งไปกว่านั้น การขยายตัวของเมืองและชุมชนได้ทำให้สภาพสิ่งแวดล้อมที่เคยเหมาะต่อการดำรงชีวิตของปูแสมเปลี่ยนแปลง มีมลภาวะเพิ่มขึ้น ไม่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิต ป่าชายเลนส่วนใหญ่เสื่อมโทรมและถูกทำลาย จนเหลือให้เป็นที่อยู่อาศัยของปูแสมไม่มากนัก จึงเป็นที่น่าวิตกว่า หากยังไม่มีมาตรการจัดการที่ดีและถูกต้อง ในอนาคตอันใกล้นี้ปูแสมคงจะสูญพันธุ์หรือไม่มีเหลือให้คนรุ่นหลังได้รู้จักอีกต่อไป ดังนั้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จึงได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัย “ชุดโครงการปู” โดยมี ผศ.ดร.บรรจง เทียนส่งรัศมี เป็นผู้ประสานงานโครงการ เพื่อฟื้นฟูประชากรปูแสมที่กำลังจะสูญพันธุ์จากป่าชายเลนของไทยให้กลับคืนสภาพและคงอยู่กับท้องถิ่นตลอดไป
ผศ.ดร.บรรจง เทียนส่งรัศมี ผู้ประสานงานชุดโครงการปู ฝ่ายเกษตร สกว. เปิดเผยว่า ปัจจุบันคนไทยบริโภคปูแสมประมาณเดือนละ 45 ล้านตัว (30 ตัว/กก.) หรือประมาณปีละ 1,500 ตัน แต่ปัจจุบันปริมาณปูแสมที่ผลิตได้ในประเทศน้อยกว่า 200 ตัน ไม่เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศ จึงต้องนำเข้าปูแสมจาก ประเทศเพื่อนบ้าน เช่นในปี 2548 ได้นำปูแสมดองน้ำแข็งและปูแสมดองเกลือจากกัมพูชาทางจังหวัดตราด ประมาณ 560 ตัน มูลค่าประมาณ 11 ล้านบาท และจากประเทศพม่าทางด่านแม่สอด จ.ตาก ประมาณ 715 ตัน มูลค่าประมาณ 38 ล้านบาท
การทำฟาร์มปูแสม ในระบบ Silvic aquaculture ” ที่ สกว. ได้พัฒนาและนำไปทดสอบในป่าชุมชน คลองท่าปูน อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี นั้น เป็นระบบที่นำต้นทุนธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับสภาพและวิถีชีวิตของชุมชน เป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถนำไปใช้กู้วิกฤตการณ์ดังกล่าวได้ ถ้าได้มีการนำไปขยายผลไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ที่เหมาะสม
“ปูแสมเลี้ยงไม่ยาก เพาะพันธุ์ง่าย สามารถใช้ลูกพันธุ์จากโรงเพาะฟัก หรือจะเพาะในพื้นที่ก็ได้ แม่พันธุ์หาง่าย มีในท้องถิ่น สามารถเลี้ยงได้ในบ่อกุ้งร้าง ป่าชายเลน สำหรับเกษตรกรที่มีนากุ้งร้างที่อยู่ในบริเวณป่าชายเลน ถ้าไม่ได้ใช้ทำประโยชน์ก็สามารถนำที่เหล่านั้นมาเลี้ยงปูแสมร่วมกับการปลูกป่าชายเลนได้ โดยไม่ต้องใช้เงินลงทุนมาก ขณะที่ในระยะยาวจะเกิดความมั่นคงและยั่งยืน อีกทั้งได้ปูแสมและป่าไปพร้อมๆ กัน”
ผู้ประสานงานชุดโครงการปู กล่าวว่า การเลี้ยงปูแสมในป่าชุมชนในระบบ Silvic aquaculture เป็นวิธีการขยายปริมาณปูในแหล่งธรรมชาติ ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของปู คนเลี้ยงปูแสมนอกจากจะดูแลรักษาปูแสมที่เลี้ยงไม่ให้ถูกคนอื่นมาจับไปก่อนเวลาอันควรแล้วยังช่วยทำหน้าที่ดูแลรักษาป่าให้ชุมชน ถ้าจัดการให้ถูกต้อง “ชุมชนได้ปู รัฐได้ป่า” ทะเลชุมชนที่ติดต่อกับผืนป่าก็จะได้กุ้ง หอย ปู ปลา อีกด้วย
ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างของความสำเร็จในการนำผลงานวิจัยลงสู่ชุมชนที่ชุมชนคลองท่าปูน อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งทาง สกว. ได้เข้าร่วมสนับสนุนในการเลี้ยงปูแสมในพื้นที่ป่าชายเลน ร่วมกับดูแลรักษาป่าชายเลนไปพร้อมๆ กัน ซึ่งผลที่ได้รับคือป่าชายเลนจำนวน 2,500 ไร่ที่เสื่อมโทรมกลับฟื้นคืน มีปูแสมให้สมาชิกของชุมชนได้จับมาบริโภคและจำหน่าย เมื่อป่าสมบูรณ์ ทะเลชุมชนในเขต อ.ไชยา ก็สมบูรณ์ไปด้วย ปลาหลายชนิดที่เคยสูญหายไปก็กลับคืนสู่ถิ่นอีกครั้ง เช่น ปลาดุกทะเลที่เคยมีชุกชุม และได้หายไปจาก คลองท่าปูนมานานกว่า 5 ปี ก็เริ่มปรากฏมีให้เห็น ปูทะเลที่ถูกจับจนเกือบจะสูญพันธุ์ ก็เพิ่มจำนวนมากขึ้น ปัจจุบันป่าชุมชนแห่งนี้มีความสมบูรณ์มากขึ้นเรื่อยๆ ความหลากหลายทางชีวภาพกลับคืนมา มีนกหลายชนิดกลับมาใช้พื้นที่มากขึ้น ซึ่งเป็นตัวชี้วัดอย่างหนึ่งว่ามีระบบห่วงโซ่อาหารธรรมชาติที่ดีขึ้น จึงตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายใน 10 ปีข้างหน้าจะขยายพื้นที่การเลี้ยงปูแสมเป็น 8,000 ไร่บนพื้นที่ป่าเดียวกัน
ผู้ประสานงานชุดโครงการปู กล่าวอีกว่า การเลี้ยงปูแสมในระบบ Silvi aquaculture ควบคู่ไปกับวิธีจัดการ ที่ยึดหลักอุปสงค์และอุปทานในการจัดการทรัพยากรอย่างที่ชุมชนคลองท่าปูน อ. ไชยา จ.สุราษฏร์ธานี และ ชุมชนบ้านเปร็ดใน อ.เมือง จ.ตราด ใช้เป็นแนวปฏิบัตินั้น นอกจากคนเลี้ยงปูแล้วยังต้องอาศัยความร่วมมือจากคนจับปู “....จับได้ทุกพื้นที่ยกเว้นพื้นที่ที่ใช้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ตามธรรมชาติ ไม่จับปูในช่วงฤดูวางไข่ โดยเฉพาะช่วงเดือนเมษายน-กรกฎาคม และเดือนกันยายน-พฤศจิกายน ที่ปูแสมส่วนใหญ่จะมีไข่นอกกระดอง และอพยพไปชะไข่ในทะเล ห้ามใช้ยาเบื่อ และงดจับปูจิ๋ว....” ขณะที่ผู้รับซื้อปู “.... ไม่รับซื้อปูขนาดเล็ก และถ้าพบปูตัวเล็กให้ปล่อยคืนสู่ป่า....” และชุมชนก็ต้องติดตามเฝ้าระวังให้คนที่เข้าไปใช้ประโยชน์จากป่านั้น ปฏิบัติตามกฏระเบียบต่างๆ ที่ชุมชนได้วางไว้
“จากความสำเร็จในงานวิจัยชิ้นนี้ ชุดโครงการปู สกว. จะได้ขยายผลไปสู่ชุมชนอื่นๆ ต่อไป เพราะการทำฟาร์มปูแสมจะเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยสร้างรายได้เสริมให้กับคนในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังช่วยฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรมให้พลิกฟื้นกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยลดการนำเข้าปูแสมจากต่างประเทศ อีกทั้งปูแสมจากการเพาะเลี้ยงสะอาด ถูกสุขลักษณะ ปลอดโรค และผู้บริโภคปลอดภัยมากกว่าปูแสมที่นำเข้าอีกด้วย....” ผศ.ดร.บรรจง กล่าวในที่สุด