กรุงเทพฯ--19 พ.ย.--สกว.
การระบาดของโรคไข้หวัดนกในประเทศไทย ได้สร้างความเสียหายต่อเกษตรกรและธุรกิจการเลี้ยงเป็ดอย่างมาก เพราะไม่เพียงเป็ดบางส่วนจะตายเนื่องจากการติดเชื้ออย่างเฉียบพลัน และเป็ดจำนวนมากถูกทำลายเพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาดของโรคแล้ว ขณะนี้ทางคณะกรรมการพิจารณาแก้ไขสถานการณ์โรคไข้หวัดนก ยังมีมาตรการนำฝูงเป็ดไล่ทุ่งเข้าสู่โรงเรือนที่มีระบบป้องกันโรค มีการให้อาหารที่ถูกหลักวิชาการ ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่สามารถปฏิบัติตามได้ เนื่องจากไม่มีเงินทุน ไม่มีความรู้ รวมถึงบางรายก็ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง
รศ.น.สพ.ดร. ทวีศักดิ์ ส่งเสริม คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน กล่าวว่า ที่ผ่านมาเป็ดไล่ทุ่งเป็นระบบวิถีชีวิตรากหญ้าของคนทั่วไป จนเมื่อมีการระบาดของเชื้อไข้หวัดนก แม้ว่าเป็ดไล่ทุ่งติดเชื้อไข้หวัดนกได้แต่ไม่เคยนำเชื้อเข้าสู่ฟาร์มด้วยตัวของมันเองเลย ขณะเดียวกันการที่ภาครัฐพยายามผลักดันการเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งเข้าสู่ระบบฟาร์ม ต้องใช้ต้นทุนสูง ไม่เหมาะต่อวิถีชีวิตของเกษตรกรที่ยากจน อีกทั้งเมื่อสภาพแวดล้อม อาหาร เปลี่ยนไป และความเครียด ทำให้เป็ดป่วยและให้ผลผลิตลดลงด้วย
ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) รศ.น.สพ.ดร. ทวีศักดิ์ ส่งเสริม จึงได้ทำงานวิจัย “การศึกษาธุรกิจการเลี้ยงเป็ดและการแพร่กระจายของเชื้อไข้หวัดนกในเป็ดไล่ทุ่ง” โดยศึกษาวงจรการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดนก H5N1ในเป็ดไล่ทุ่ง การศึกษาธุรกิจการผลิต การตลาด รวมถึงต้นทุนผลตอบแทนจากการเลี้ยงเป็ดในรูปแบบฟาร์มและการเลี้ยงแบบไล่ทุ่ง เพื่อศึกษาข้อมูลและหาแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมในการป้องกันโรคไข้หวัดนกได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่ไม่ทำให้วิถีชีวิตชาวบ้าน และความเป็นอยู่แบบพึ่งพาตนเองหายไป
รศ.น.สพ.ดร. ทวีศักดิ์ กล่าวว่า ผลการศึกษาวงจรการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดนก H5N1 ในเป็ดไล่ทุ่ง ทำการเก็บตัวอย่างจากทวารหนักของเป็ดเพื่อตรวจหาเชื้อ H5N1 และเจาะเลือดเพื่อนำซีรั่มมาตรวจดูว่ามีระดับภูมิคุ้มกัน พบว่า เจอเชื้อไวรัสไข้หวัดนก H5N1ในเป็ดไล่ทุ่งฝูงเดียวในขณะนั้น และไม่พบการระบาดของสัตว์ปีกในบริเวณใกล้เคียงกับเป็ดไล่ทุ่งฝูงนั้นแต่อย่างใด นอกจากนี้ฟาร์มขนาดใหญ่ที่มีระบบการเลี้ยงที่ดี จะสามารถป้องกันการระบาดของเชื้อได้ 100 % ในกรณีที่พบว่ามีการระบาด ทางฟาร์มจะมีระบบการจัดการที่ดี เชื้อที่ติดจะไม่แพร่ระบาดออกมาข้างนอกได้ โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดการระบาดของเชื้อโรคที่ชัดเจนมากที่สุด เชื่อว่ามาจากคนเป็นส่วนใหญ่ โดยการเคลื่อนย้ายสัตว์ป่วยจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง โดยการสัมผัสเชื้อ ปนเปื้อนไปกับยานพาหนะ อุปกรณ์ เครื่องใช้ในการเลี้ยงสัตว์ การใช้น้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรคนี้โดยไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ และการโยนซากลงแม่น้ำลำคลอง ซึ่งถือเป็นปัจจัยทำให้เกิดความเสี่ยงของโรคมาก
สำหรับผลการศึกษาวงจรการเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งในเกษตรกรจำนวน 10 ราย พบว่า การเลี้ยงเป็ดจะเริ่มตั้งแต่การอนุบาล โดยจะแยกเป็ดเพศเมียและปล่อยให้ไล่ทุ่ง ซึ่งเป็ดจะกินเมล็ดข้าวเปลือกที่ตกหล่นอยู่ในนาข้าว รวมถึงหอยเชอรี่ที่เป็นศัตรูพืชตัวสำคัญ จนเมื่อเป็ดอายุประมาณ 5-6 เดือน หรือ ระยะเป็ดสาว ซึ่งเป็นช่วงเริ่มการวางไข่ จากนี้เกษตรกรจะแบ่งวิธีการเลี้ยงเป็ดออกเป็น 2 แนวทาง คือ 1. นำเป็ดสาวเข้าไปวางไข่ในโรงเรือน ซึ่งระยะเวลาวางไข่ฟองแรกจนถึงฟองสุดท้ายประมาณ 13-14 เดือน และปลดระวางเข้าโรงฆ่าในช่วงอายุ 18-19 เดือนแล้วแต่ความสมบูรณ์ของเป็ด วิธีที่ 2 เลี้ยงเป็ดไข่ที่กำลังให้ผลผลิตแบบไล่ทุ่ง คือการปล่อยให้เป็ดหากินอยู่ในทุ่งนาต่อไป และทำการล้อมคอกไว้สำหรับให้เป็ดมาวางไข่ในช่วงเช้ามืดของทุกวัน
จะเห็นได้ว่าเป็ดสาวไล่ทุ่งก่อนเริ่มวางไข่ที่เข้าโรงเรือนจะมีการปรับตัวและได้รับอาหารเต็มที่ระยะหนึ่ง จึงให้ผลผลิต ซึ่งกรณีนี้เกษตรกรยากจนจะขายเป็ดสาวเหล่านี้ให้กับเกษตรกรที่มีโรงเรือนและสามารถหาอาหารให้กินตลอดช่วงนั้นจนปลดระวาง แต่ส่วนหนึ่งจะยังคงถูกเลี้ยงและวางไข่ในทุ่งต่อไป สำหรับเพื่อค่าครองชีพและเป็นทุน เลี้ยงเป็ดเล็กต่อไป
ดังนั้นหากมีการให้เลี้ยงเป็ดในฟาร์มระบบปิด โดยไม่ให้มีการเลี้ยงแบบไล่ทุ่งเลย เกษตรกรจะต้องอนุบาลเป็ดตั้งแต่ฟักออกจากไข่จนถึงระยะเป็ดสาว ซึ่งใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 เดือนครึ่ง โดยที่ไม่ได้ผลผลิต ต้นทุนการผลิตไข่จึงสูงขึ้นมาก และต้นทุนอาหารมีราคาแพงมากขึ้นทุกวัน เกษตรกรหาซื้อวัตถุดิบจากตลาดทั่วไปได้ยากขึ้นแม้ว่ามีเงินพอที่จะซื้อวัตถุดิบได้ ขณะเดียวกันการที่นำเป็ดที่วางไข่อยู่แล้วในทุ่งนาเข้าสู่โรงเรือน จะส่งผลให้เป็ดไม่สามารถปรับตัวเข้ากับอาหารและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ก่อให้เกิดความเครียด ป่วย วางไข่ได้น้อยลงและตายในที่สุด จึงไม่คุ้มกับการลงทุน
นอกจากนี้การยกเลิกการเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งยังส่งผลกระทบต่อชาวนา เพราะเศษข้าวที่ตกอยู่ในพื้นนาซึ่งมีมูลค่ามหาศาล อาหารชั้นดีของเป็ด ต้องกลายเป็นภาระให้ชาวนาหาวิธีกำจัดทิ้ง เพราะหากปล่อยไว้จะส่งผลให้ผลผลิตข้าวในครั้งต่อไปลดลง ที่สำคัญหากไม่มีเป็ดไล่ทุ่งช่วยกินหอยเชอรี่ซึ่งเป็นศัตรูของต้นข้าว เกษตรกรต้องหวนกลับมาใช้สารเคมีในการฆ่าหอยเชอรี่ ซึ่งจะก่อให้เกิดอันตราย พิษภัยจากการตกค้าง ทั้งนี้ปัจจุบันมีการนำเข้าสารเคมีที่ใช่ฆ่าหอยเชอรี่มูลค่านับหลายล้านบาท
รศ.น.สพ.ดร. ทวีศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตามเมื่อเป็ดไล่ทุ่งมีการติดเชื้อ จะปล่อยเชื้อออกทางอุจจาระได้ใน 7-10 วันก่อนที่จะแสดงอาการป่วย ซึ่งทางภาครัฐสามารถเข้าไปควบคุมและทำลายซากได้ในทันที ดังนั้นแนวทางที่จะคลี่คลายปัญหานี้คือการจัดโซนนิ่งเขตการเลี้ยงที่เหมาะสมร่วมกับการเฝ้าระวังโรคที่สามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งยังคงเป็นอาชีพที่พอเพียงของเกษตรกรที่ยากจน และเป็นแหล่งโปรตีนราคาถูกให้กับผู้คนในท้องถิ่น ที่สำคัญยังเป็นการสืบสานองค์ความรู้และภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตให้คงอยู่สืบไป ไม่เหลือไว้เพียงตำนาน