กรุงเทพฯ--19 พ.ย.--สกว.
บัว ดอกไม้ที่ชาวพุทธนิยมใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา สำหรับตลาดในประเทศมีความต้องการดอกบัวในปริมาณมากอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในวันพระหรือวันสำคัญทางศาสนา ถิ่นกำเนิดของบัวส่วนใหญ่อยู่ในเขตร้อน ดังนั้นจึงสามารถเจริญเติบโตได้ดีในทุกพื้นที่ ระบบผลิต “นาบัว”ในประเทศไทยจึงมีการเพิ่มขึ้นอย่างกว้างขวางและเป็นอาชีพทางเลือกสำหรับเกษตรกรไทย
ผศ.ดร.อุรสา บัวตะมะ อ.ถนอมนวล สีหะกุลัง และรศ.ดร.สุเม อรัญนารถ คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ทีมวิจัยในโครงการการศึกษาสถานภาพการผลิตและการตลาดบัวหลวง ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) จึงเกิดขึ้น
ผศ.ดร.อุรสา หนึ่งในทีมวิจัยเปิดเผยว่า เนื่องจากบัวเป็นไม้น้ำ ลักษณะของแปลงปลูกต้องมีการขังน้ำ ดังนั้นจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่มีความเหมาะสมในการทดแทนกับพื้นที่นาข้าว และเรียกการปลูกบัวเป็นการค้าในพื้นที่ว่า “การทำนาบัว” โดยมีเกษตรกรจำนวนมากจากหลายจังหวัดยึดการปลูกบัวเป็นอาชีพหลัก ด้วยการทำนาบัวนั้นสามารถดูแลรักษาง่ายกว่านาข้าวและเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทั้งในรูปดอก ใบ ฝัก เมล็ด อีกทั้งยังเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและตลาดต่างประเทศ
หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวอีกว่า การทำนาบัวส่วนใหญ่จะนิยมปลูกบัวหลวง เนื่องจากสามารถใช้ประโยชน์จากบัวหลวงได้แทบทุกส่วน ปัจจุบันพื้นที่นาบัวที่สำคัญจะอยู่ในเขตอ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม และกระจายตามพื้นที่ต่างๆในจ.นนทบุรี ปทุมธานี เป็นต้น ส่วนภูมิภาคจะพบการทำนาบัวใน จ.ชลบุรี สุพรรณบุรี ขอนแก่น อุบลราชธานี ชัยภูมิ พิษณุโลก ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่จะนิยมปลูกเพื่อการตัดดอก และมีการทำนาบัวเพื่อการเก็บไหลเก็บฝักหรือเมล็ดบ้างขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดในท้องถิ่นนั้นๆ
งานวิจัยนี้จึงได้ศึกษาถึงสถานภาพการผลิตและการตลาดของบัวหลวงและพบว่า พันธุ์บัวที่นิยมปลูกจะมีทั้งบัวหลวงฉัตรขาว บัวหลวงแหลมขาว บัวหลวงฉัตรแดง บัวหลวงแหลมแดงและบัวหลวงพระราชินี แต่ที่นิยมปลูกมากได้แก่ บัวหลวงฉัตรแดงและบัวหลวงฉัตรขาว
ด้านตลาดของดอกบัวที่สำคัญภายในประเทศจะได้แก่ ตลาดสี่มุมเมือง ปากคลองตลาด ตลาดไท และตลาดจำหน่ายดอกไม้ในทุกจังหวัด โดยมีราคาแต่ละช่วงของปีไม่เท่ากัน ดอกบัวมีราคาดีในช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธุ์ และราคาต่ำในช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายน ราคาเฉลี่ยประมาณดอกละ 60 สตางค์ถึง 1 บาท และตลาดในประเทศไทยจะนิยมบัวหลวงฉัตรขาว
สำหรับ ตลาดดอกบัวต่างประเทศ มีการส่งออกใบบัวแห้ง ฝักบัวอ่อน และบัวตัดดอก อาจมีในรูปแบบของการแปรรูปบ้าง เช่น สบู่ น้ำหอม ประเทศผู้รับซื้อที่สำคัญ ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ที่นิยมบัวหลวงฉัตรแดง
ตัวอย่างจากงานวิจัยนี้ยังได้ศึกษาและเก็บข้อมูลจากเกษตรกรที่ทำนาบัวพบว่า เกษตรกรที่ทำนาบัวมากกว่า 40 ไร่ โดยจะใช้เงินทุนหมุนเวียนประมาณ 20,000 — 40,000 บาทต่อเดือน เกษตรกรที่ทำนาบัวน้อยกว่า 40 ไร่ จะใช้เงินทุนหมุนเวียนประมาณ 12,000 — 20,000 บาทต่อเดือน ทั้งนี้เกษตรกรรายเล็กที่ทำนาบัวน้อยกว่า 10 ไร่ จะใช้เงินทุนหมุนเวียนไม่เกิน 5,000 บาทต่อเดือน นาบัวจะให้ผลผลิตสูงในช่วงเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม โดยมีผลผลิตเฉลี่ย20,000ดอกต่อไร่ ชาวนาบัวจะมีรายได้เฉลี่ย16,000บาทต่อไร่เมื่อหักค่าใช้จ่ายจะได้กำไรประมาณ 5,000 บาทต่อไร่
ผศ.ดร.อุรสา กล่าวว่า นอกจากนี้บัวยังเป็นผลผลิตที่ต้องมีการส่งเสริมในการนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ เช่น ฝัก เมล็ด เกสร และราก และควรมีงานวิจัยเพื่อชี้ให้เห็นถึงการคุ้มทุนและตลาด เพื่อประโยชน์อื่นมากกว่าการตัดดอกเพียงอย่างเดียว รวมทั้งการแปรรูปบัวและการปรับปรุงพันธุ์ของบัวหลวงให้มีความพิเศษในด้านการสกัดสารมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งจะเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยต่อยอดและพัฒนาประโยชน์จากบัวหลวงให้มีคุณค่าต่อสุขภาพของคนไทยได้ต่อไป