กรุงเทพฯ--11 ส.ค.--อพวช.
องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ชวนน้องๆ มาเป็นสมาชิกแฮรี่ พอตเตอร์ ขี่ไม้กวาดเหินฟ้าท่องโลกวิทยาศาสตร์ที่บูธ นิทรรศการภาพสะท้อน (Reflection Exhibition) นิทรรศการที่ใช้ กระจก เป็นเนื้อหาและเครื่องมือหลัก ในการนำเสนอในมุกของภาพสะท้อนที่ปรากฎจากกระจกในรูปแบบที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ยังมีความรู้เสริมอื่นๆ ให้น้องๆ ได้เรียนรู้เรื่อง ได้แก่ หลักการพื้นฐานของแสง การสะท้อนของภาพและแสดง ประวัติ ขั้นตอนการผลิต และพัฒนาการของกระจกที่เราใช้ส่องอยู่ทุกวัน และมาดูกล้องไคโรสโคปยักษ์ที่ใหญ่กว่าขนาดปกติ ถึง 42 เท่า พร้อมกิจกรรมต่างๆ กันที่บูธนิทรรศการภาพสะท้อน (Reflection Exhibition) ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2554 ตั้งแต่วันนี้ ถึง 21 สิงหาคม 2554 (ยกเว้น 9 สิงหาคม 2554) ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมไบเทค บางนา
นิทรรศการภาพสะท้อน ทำให้น้องๆ ได้รู้จักและเข้าใจว่าภาพที่เห็นเป็นภาพลวงตาหรือวิทยาศาสตร์ และทำไมเวลาส่องกระจกจึงเห็นภาพตัวเราอยู่ภายในนั้น หรือทำไมภาพตัวเราที่เห็นในกระจกจึงมีรูปร่างแปลกๆ และขนาดแตกต่างไป อพวช. จึงนำความรู้เรื่องของแสง และการสะท้อนแสงมาให้น้องๆ ได้เรียนรู้สัมผัส ลงมือปฎิบัติจริง และผสมผสานความสนุกสนาน ผ่านการแสดงและกิจกรรมภายในนิทรรศการหลัก ๆ 3 ส่วนด้วยกัน คือ ส่วนแรก แนะนำความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับแสง การสะท้อนของแสงที่อธิบายว่าเราสามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้อย่างไร และจุดกำเนิดกับการค้นพบกระจกครั้งแรกของโลกโดยบังเอิญโดยนักประวัติศาสตร์ชาวโรมันเมื่อ 5,000 ปีที่แล้ว ส่วนที่สอง ปรากฎการณ์จากแสงสะท้อน ผ่านอุปกรณ์การทดลองต่างๆ อาทิ กระจกเงาสร้างภาพที่เกิดจาการสะท้อนกลับไปมาของกระจกเงาสองบาน, กล้องสลับลายไคโรสโคปขนาดยักษ์ ที่จะสะท้อนเงาของน้องๆ กลับไปมาแบบไม่รู้จบและเห็นเป็นหลายๆ ภาพ, แท่นกระจกไม่รู้จบ เหมือนกระจกเวทย์มนต์ที่ทำให้เกิดภาพสะท้อนที่ให้ความรู้สึกว่ากระจกมีความลึกจนมองไม่เห็นปลายทาง, ส่วนน้องๆ ที่อยากลองเป็นพ่อมดแม่มดขี่ไม้กวาดบินได้แบบแฮรี่ พอตเตอร์ ต้องไม่พลาดกิจกรรม ไม้กวาดเหินเวหา โดยนั่งบนไม้กวาดที่ตั้งอยู่บนแท่นกระจกเงา แล้วยกขาด้านหน้ากระจกให้ลอยขึ้นพร้อมขยับไปมา กระจกเงาจะสะท้อนภาพกลับซ้ายเป็นขวา เงาของร่างกายอีกซีกหนึ่งที่อยู่ด้านหน้าจะถูกสะท้อนภาพด้วยกระจกที่ตั้งฉากอีกอัน ภาพที่ปรากฎจึงเหมือนกับว่าน้องๆ กำลังล่องลอยอยู่บนอากาศด้วยไม้กวาดเหิรเวหา, อีกหนึ่งความมหัศจรรย์ของภาพสะท้อนกับกิจกรรมที่ออกแนวสยองขวัญ คือ ศีรษะมายา ที่จะทำให้น้องๆ เห็นภาพของห้องสี่เหลี่ยมและมีเฉพาะศีรษะของเราลอยอยู่ในห้องนั้น ซึ่งเกิดจากกระจกเงาสองบานที่วางตั้งฉากสะท้อนฉากผนังเท่าของจริงแต่จะกลับซ้ายเป็นขวาซึ่งน่ามาทดลองด้วยตนเอง
และส่วนที่สาม ความรู้เรื่องการใช้ประโยชน์จากแสงสะท้อน ไม่ว่าจะเป็นภาพสามมิติ กระจกส่องผู้ต้องสงสัย เลนส์ขยาย ภาพลวงตา ใยแก้วนำแสง นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงแสงสะท้อนจากกระจกธรรมชาติที่เกิดจากสิ่งมีชีวิต อาทิ แสงสีรุ้งที่สะท้อนจากปีกแมลงทับที่มีพื้นผิวไม่เรียบ และมีสันนูนหรือหลุมบนผิวปีก ทำให้เกิดมุมตกกระทบของแสงที่แตกต่างกันสะท้อนออกมาเป็นสีที่หลากหลาย, แสงสีแวววาวจากเปลือกหอยมุก, ปลากัดไทยที่ได้ชื่อว่านักสู้สีรุ้ง ที่จะมีสีสันหลากหลายแตกต่างกันไปบนเกล็ดตัวปลาในขณะที่กำลังพองครีบเพื่อทำการข่มขู่คู่กัด และสายรุ้งลวงโลกของแสงที่สะท้อนจากเกล็ดบนตัวงูแสงอาทิตย์ เป็นต้น
เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของความมหัศจรรย์ของภาพสะท้อน และยังมีอีกมากมายที่รอให้น้องๆ มาร่วมสนุกและพิสูจน์ด้วยตัวเองในนิทรรศการภาพสะท้อน ภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 2554 ที่เปิดให้เยาวชน ครอบครัว และประชาชนทั่วไป สามารถเข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันที่ 6 - 21 สิงหาคม 2554 เวลา 09.00 - 20.00 น. (ยกเว้นวันที่ 9 สิงหาคม) ที่ไบเทค บางนา และพบกับ 3 พรีเซนเตอร์ของงาน อ๋อม อรรคพันธ์, เก้า จิรายุ และญาญ่า อุรัสยา ได้ภายในงาน ติดตามข้อมูลข่าวสารและรายละเอียดงานได้ที่ www.nsm.or.th/nst2011