กรุงเทพฯ--11 ส.ค.--PRdd
นางโชติกา สวนานนท์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยถึงภาพรวมของกองทุนส่วนบุคคล หรือ Private Fund ว่า ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา บริษัทฯมีลูกค้าให้ความสนใจเข้ามาเป็นลูกค้ากองทุนประเภทดังกล่าวเป็นจำนวนมาก โดยปัจจุบัน บริษัทฯมีกองทุนส่วนบุคคลที่อยู่ภายใต้การจัดการคิดเป็นมูลค่าการบริหารทรัพย์สินรวมกว่า 21,000 ล้านบาท (ณ 4 ส.ค. 54) หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเกือบ 100% เมื่อเทียบจากสิ้นปี 53 ที่มียอดบริหารจัดการอยู่ที่ประมาณ 10,522 ล้านบาท
นางโชติกา กล่าวว่า ปีนี้ถือเป็นปีที่ 2 ที่บริษัทฯประสบความสำเร็จสามารถมีอัตราเติบโตของสินทรัพย์ภายใต้การบริหารงานกองทุนส่วนบุคคลสูงเกือบ 100% นับจากปี 2552 ที่มีมูลค่าสินทรัพย์รวมที่ประมาณ 5,342 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับแผนงานและเป้าหมายที่วางไว้ภายใต้นโยบายการเข้าถึงลูกค้ากลุ่มองค์กรมากขึ้น โดยมีการปรับปรุงเรื่องระบบงานภายในและเพิ่มบุคลากรให้เพียงพอต่อการให้บริการ อย่างไรก็ตามปัจจัยสำคัญที่สุดที่ลูกค้ายอมรับและให้ความไว้วางใจในการบริหารกองทุนส่วนบุคคลของบริษัทฯ คือ กลยุทธ์การสร้างทางเลือกในการลงทุนให้กับลูกค้าโดยให้ความสำคัญกับการจัดพอร์ตการลงทุนพิจารณาข้อมูลของลูกค้า โดยคำนึงถึงวัตถุประสงค์ในการลงทุน ระยะเวลา และระดับความยอมรับความเสี่ยงของลูกค้าเพื่อทำการจัดสรรเงินลงทุน (Asset Allocation) ร่วมกันกับลูกค้า
สำหรับลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้ากลุ่มสถาบันกว่า 80% ประกอบด้วย มหาวิทยาลัย ประกันภัย สหกรณ์ออมทรัพย์ บริษัทเอกชน องค์กรอิสระด้านสาธารณกุศล องค์กรกำกับของรัฐ และ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยปัจจุบัน มีสหกรณ์ออมทรัพย์ทั้งหมด 6 แห่ง ให้ความไว้วางใจในการบริหารกองทุนส่วนบุคคล ซึ่งถือว่ามากที่สุดในกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ นอกจากนี้ ยังมีมหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษาอีกทั้งหมด 6 แห่ง ตลอดจนลูกค้าองค์กรที่เป็นบริษัทมหาชนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ฯ ไม่ต่ำกว่า 11 แห่ง ส่วนลูกค้าประเภทบุคคลธรรมดาในกลุ่ม High Net Worth จะมียอดสินทรัพย์ภายใต้การบริหารรวมกว่า 2,400 ล้านบาท (ณ 4 ส.ค. 54)
“บริษัทฯ มองว่าโอกาสการเติบโตของกองทุนส่วนบุคคลยังมีอีกมาก ด้วยจุดเด่นหลายด้านที่ลูกค้าหันมาใช้บริการผู้จัดการกองทุนมากขึ้นเพราะมีมืออาชีพคอยดูแล และสามารถกำหนดนโยบายการลงทุนได้ตามที่ผู้ลงทุนต้องการ โดยผู้ลงทุนวางใจได้ทั้งในด้านกระบวนการลงทุน การซื้อขายหลักทรัพย์ ตลอดจนระบบการบริหาร การปฏิบัติการ และการควบคุมความเสี่ยงของกองทุนที่มีประสิทธิภาพ สามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้อย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลสนับสนุนการลงทุนด้วยงานวิเคราะห์วิจัยพร้อมเพรียง ฉับไวต่อเหตุการณ์ อีกทั้งช่องทางในการลงทุนยังเปิดกว้างกว่า โดยเฉพาะหลักทรัพย์ออกใหม่ หรือหลักทรัพย์ประเภทใหม่ ๆ ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า และยังสามารถลงทุนในหลักทรัพย์ที่เสนอขายเฉพาะเจาะจงกับผู้ลงทุนสถาบันได้อีกด้วย” นางโชติกากล่าวในที่สุด