สกู๊ปเยาวชน : วัยซนท้าคณิต พิชิตฝัน “มหัศจรรย์ป่าเมืองไทย” ผลงานสร้างสรรค์ของคนมีความสามารถพิเศษ ระดับภูมิภาค

ข่าวทั่วไป Thursday August 11, 2011 15:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ส.ค.--สสวท. ในขณะที่หลายคนมองคณิตศาสตร์ว่าเป็นยาขม แต่ก็ยังมีเด็กๆ บางกลุ่มที่เห็นความสวยงามของคณิตศาสตร์ และได้ฝึกฝนทดลองจนเกิดความชอบในวิชาคณิตศาสตร์ สำหรับการส่งเสริมให้เยาวชนได้เรียนรู้คณิตศาสตร์อย่างเข้าใจและถูกใจมากขึ้นนั้น สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้ส่งเสริมให้โรงเรียนต่าง ๆ นำโปรแกรม The Geometer’s Sketchpad หรือ GSP ไปใช้เพื่อช่วยให้การเรียนการสอนคณิตศาสตร์มีประสิทธิภาพและน่าสนใจ โปรแกรม GSP มีจุดเด่นตรงที่สามารถนำเสนอภาพเคลื่อนไหวมาใช้อธิบายเนื้อหายาก ๆ เช่น ทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ (เรขาคณิต พีชคณิต ตรีโกณมิติ แคลคูลัส), ฟิสิกส์ (กลศาสตร์ และอื่น ๆ ) ให้เป็นรูปธรรม ให้นักเรียนได้เรียนรู้และเข้าใจง่าย โปรแกรมยังเน้นให้ผู้เรียนฝึกปฏิบัติได้ด้วยตัวเอง แถมยังสามารถนำไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนวิชาอื่น ๆ เช่น วิทยาศาสตร์ ศิลปะอย่างไม่มีข้อจำกัด ล่าสุด สสวท. ร่วมมือกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดการประกวดผลงานสร้างสรรค์ของคนมีความสามารถทางคณิตศาสตร์โดยใช้โปรแกรม The Geometer’s Sketchpad ระดับภูมิภาค ประจำปี 2554 ระหว่างวันที่ 5 - 6 สิงหาคม 2554 ณ ศูนย์ประกวด 20 ศูนย์ทั่วประเทศ วัตถุประสงค์ของการประกวดเพื่อให้เป็นเวทีสำหรับนักเรียนทุกระดับชั้นในการนำความรู้คณิตศาสตร์ที่ได้รับในห้องเรียนมาประมวลสร้างสรรค์ผลงานเข้าประกวดในระดับภูมิภาคจากศูนย์ประกวดทั้งหมด 20 ศูนย์ทั่วประเทศ จากนั้นคัดเลือกผลงานของผู้ชนะเลิศ และรองชนะเลิศอันดับหนึ่งของแต่ละศูนย์เข้าประกวดระดับประเทศ การประกวดแบ่งออกเป็น 3 ระดับชั้น ได้แก่ ระดับประถมศึกษา ประดับมัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย แต่ละโรงเรียนส่งทีมเข้าร่วมประกวดได้ระดับละไม่เกิน 2 ทีม ทีมละ 2 คน ผลงานที่ส่งเข้าสมัคร เป็นผลงานในหัวข้อ “มหัศจรรย์ป่าเมืองไทย” ศูนย์ประกวดทั้ง 20 ศูนย์ ได้แก่ โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช จ.อุบลราชธานี โรงเรียนสตรีสิริเกษ จ.ศรีสะเกษ โรงเรียนศรีสงครามวิทยา จ. เลย โรงเรียนสตรีราชินูทิศ จ. อุดรธานี โรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ จ. กาฬสินธุ์ โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน จ.ขอนแก่น โรงเรียนเฉลิมขวัญสตรี จ.พิษณุโลก โรงเรียนนวมินทราชูทิศพายัพ จ. เชียงใหม่ โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม จ. เชียงราย โรงเรียนท่าใหม่ “พูลสวัสดิ์ราษฏร์นุกูล” จ.จันทบุรี โรงเรียนราชินีบูรณะ จ.นครปฐม โรงเรียนธัญรัตน์ จ.ปทุมธานี โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย จ.ลพบุรี โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยนนทบุรี จ.นนทบุรี โรงเรียนสุราษฏร์ธานี จ.สุราษฏร์ธานี โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย จ. สงขลา โรงเรียนศรียาภัย จ. ชุมพร โรงเรียนเมืองถลาง จ.ภูเก็ต โรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช โรงเรียนพรหมานุสรณ์ จ. เพชรบุรี เรามาตามไปดูการประกวดผลงานสร้างสรรค์ของคนมีความสามารถทางคณิตศาสตร์โดยใช้โปรแกรม The Geometer’s Sketchpad ระดับภูมิภาคที่ศูนย์โรงเรียนราชินีบูรณะ จ.นครปฐมกัน ศูนย์นี้มีโรงเรียนประถมศึกษาจากจังหวัดราชบุรี นครปฐม และกาญจนบุรี สมัครเข้าร่วมการประกวด 14 ทีม มัธยมศึกษาตอนต้น 34 ทีม และมัธยมศึกษาตอนปลาย 27 ทีม มีอาจารย์นันทิยา จตุรพาหุ หัวหน้ากลุ่มสาระคณิตศาสตร์ของโรงเรียนราชินีบูรณะเป็นผู้ประสานงาน พร้อมทั้งทีมงานไฟแรงร่วมกันจัดงานกันอย่างแข็งขัน และมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทางคณิตศาสตร์จากทั้ง 3 จังหวัดข้างต้นมาร่วมเป็นเกียรติช่วยตัดสินรางวัลการประกวดนี้ด้วย การประกวดในวันแรกนักเรียนได้นำผลงานสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ หัวข้อ มหัศจรรย์ป่าเมืองไทยมานำเสนอต่อคณะกรรมการ ซึ่งคณะกรรมการจะพิจารณาให้คะแนนจากการสร้างสรรค์ผลงานบนโปรแกรม GSP ความหลากหลายชัดเจนของความรู้ทางคณิตศาสตร์ที่ใช้ แนวคิดและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ผลงานสร้างสรรค์ของน้องๆ เยาวชนที่มานำเสนอในวันนี้ พยายามสะท้อนให้เห็นมุมมองของพวกเขาที่มีต่อป่าไม้เมืองไทย ด้วยองค์ความรู้ทางคณิตศาสตร์ สะท้อนออกมาเป็นผลงานศิลปะที่งดงามและมีความโดดเด่นเฉพาะตัว “ความหลากหลายของป่าเมืองไทย เป็นที่อยู่อาศัย แหล่งอาหาร เต็มไปด้วยสีสันต่าง ๆ เสียงจากธรรมชาติ เช่น เสียงลมพัด เสียงนกร้อง เสียงน้ำไหล เป็นแหล่งกำเนิดของต้นน้ำลำธาร เป็นต้นกำเนิดของชีวิตหลายสรรพสิ่ง นี่คือความมหัศจรรย์ของป่าเมืองไทย” ทีมจากโรงเรียนราชโบริกานุเคราะห์กล่าว “ถ้าฉันยังมีชีวิตอยู่ คงมีลมหายใจที่มีหัวใจ ครอบครัวหนึ่งจะยังสมบูรณ์” เป็นธีมการนำเสนอจากโรงเรียนวัดเกาะวังไทร ทีมที่ 2 สื่อความหมายว่าหากธรรมชาติสมบูรณ์ ป่าไม้สมบูรณ์ ชีวิตก็จะสมบูรณ์ ทีมน้องเล็กชั้นประถมศึกษา โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบมหามงคล บอกว่า “ป่าไม้เมืองไทยมีความมหัศจรรย์ตรงที่ป่าทำให้เรามีพลังงานใช้ ถ้าเราไม่อนุรักษ์ป่า เราก็จะไม่มีพลังงานใช้ ไม่มีอาหาร พลังงานธรรมชาติที่เราได้จากป่า ได้แก่ พลังงานน้ำ พลังงานลมเป็นต้น” ส่วนวันที่สองของการประกวด ในช่วงเช้านักเรียนที่ผ่านเข้ารอบจากการตัดสินในวันแรก จะต้องแก้โจทย์ปัญหาทางคณิตศาสตร์ พร้อมทั้งสร้างภาพเรขาคณิตตามโจทย์ที่กำหนดให้ หลังจากนั้นจะนำเสนอผลงานต่อกรรมการในช่วงบ่าย เพื่อนำคะแนนไปตัดสินผลรางวัล และมอบรางวัลในช่วงเย็นของวันนั้น เกณฑ์ตัดสินในวันที่สอง พิจารณาจากผลงานการสร้างและใช้ GSP ในการนำเสนอและสื่อสารความคิดทางคณิตศาสตร์ได้อย่างเป็นเรื่องราวและชัดเจน ผลงานที่นำเสนอสอดคล้องเชื่อมโยงกับสถานการณ์และหัวข้อที่กำหนด ซึ่งการนำเสนอผลงานสร้างสรรค์และแก้โจทย์ปัญหาทางคณิตศาสตร์ในรอบนี้มีความซับซ้อนที่แตกต่างกันออกไปตามระดับชั้น ซึ่งต่างก็น่าสนใจและสวยงาม จนทำให้ทำให้งานนี้กรรมการตัดสินใจอย่างหนักและใช้เวลานานพักใหญ่ในการตัดสินและประกาศผลรางวัล ผลการประกวดทึ่ศูนย์โรงเรียนราชินีบูรณะ ได้แก่ ระดับประถมศึกษา ชนะเลิศ โรงเรียนประถมฐานบินกำแพงแสน รองชนะเลิศอันดับ 1 โรงเรียนอนุบาลนครปฐม ทีม 1 รองชนะเลิศอันดับ 2 โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบมหามงคล ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ชนะเลิศ โรงเรียนวิสุทธรังสีทีม 1 รองชนะเลิศอันดับ 1 โรงเรียนสายธรรมจันทร์ รองชนะเลิศอันดับ 2 โรงเรียนเบ็ญจมราชูทิศราชบุรี ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ชนะเลิศ โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย ทีม 1 รองชนะเลิศอันดับ 1 โรงเรียนเบ็ญจมราชูทิศราชบุรี รองชนะเลิศอันดับ 2 โรงเรียนวิสุทธรังสีทีม 1 เด็กหญิงอันนา แก้วมะไฟ (ข้าวฟ่าง) และเด็กชายถิรวัฒน์ พงศะทัตกิจ (ซีเล็ค) ชั้น ป.5 โรงเรียนประถมฐานบินกำแพงแสน รางวัลชนะเลิศระดับประถมศึกษา เล่าว่า เริ่มรู้จักและฝึกใช้โปรแกรม GSP ในช่วงที่เรียนชั้น ป. 5 นี่เอง มีการเตรียมตัวก่อนประกวดโดยฝึกทำข้อสอบของปีที่ผ่านมา ฝึกซ้อมในตอนกลางวันและในกิจกรรมชมรม โจทย์การประกวดแตกต่างจากที่เรียนมา และโจทย์ค่อนข้างยาก การแข่งขันครั้งนี้ทำให้ได้ประสบการณ์ใหม่ ๆ เพื่อเป็นประโยชน์ในการประกวดครั้งหน้า เด็กชายเศรษฐพงศ์ อภิกุลประภา (นิว) ชั้น ป.6 โรงเรียนอนุบาลนครปฐม ทีม 1 รองชนะเลิศอันดับ 1 ระดับประถมศึกษา เล่าว่า เริ่มรู้จักและฝึกใช้โปรแกรม GSP ตั้งแต่ชั้น ป. 4 เทอม 1 ใน กิจกรรมชมรม และเวลาว่างก็จะฝึกทำโจทย์ใหม่ ๆ ชอบเรียนคณิตศาสตร์ เพราะเป็นวิชาที่ทำให้เราได้คิด เทคนิคการเรียนก็คือ เรียนแบบสนุกๆ โปรแกรม GSP สามารถสร้างภาพเรขาคณิตที่สวยงามได้ ได้ความเพลิดเพลิน ได้ทักษะทางคณิตศาสตร์ “ดีใจที่ได้รางวัล ทำให้เรารู้จุดอ่อนจุดแข็งของตัวเองมากขึ้น จุดอ่อนที่พบคือ การวิเคราะห์โจทย์ การบริหารเวลา ส่วนจุดแข็งคือ การสร้างสรรค์ผลงาน ต่อไปจะฝึกฝนให้เยอะขึ้น ฝึกทำโจทย์บ่อยๆ ครับ” เด็กชายปรินทร อินทรพันธุ์ (น๊อต) ชั้น ป.5 และเด็กหญิงกัญจนาพร อัครวรินทร์ชัย ชั้น ป.6 โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบมหามงคล รองชนะเลิศอันดับ 2 ระดับประถมศึกษา บอกว่า ที่สนใจเข้าร่วมการประกวดเพราะอยากทดสอบฝีมือของตนเองว่าเราอยู่ระดับใด เริ่มเรียนรู้โปรแกรม GSP เมื่อ ป. 4 มีการฝึกฝนเป็นประจำโดยเรียนรู้คิดค้นสิ่งใหม่ โปรแกรมนี้ช่วยให้รู้เรื่องเข้าใจคณิตศาสตร์มากขึ้น โดยเฉพาะความรู้เกี่ยวกับเรขาคณิต ประทับใจและภูมิใจอย่างมากกับผลงานกับผลงานนี้ แบ่งหน้าที่กันโดยช่วยกันทำผลงาน ช่วยกันจำและทำความเข้าใจวิธีทำต่างๆ ส่วนคุณครูช่วยเป็นที่ปรึกษาเมื่อเราไม่เข้าใจ ทั้งนี้ ผู้ชนะเลิศ และรองชนะเลิศอันดับ 1 ของแต่ละศูนย์ทั้ง 20 ศูนย์ จะเข้าร่วมการประกวดผลงานสร้างสรรค์ของคนมีความสามารถทางคณิตศาสตร์โดยใช้โปรแกรม The Geometer’s Sketchpad ระดับประเทศที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งจัดโดย สสวท. ในโอกาสต่อไป นับว่าการประกวดครั้งนี้ นอกจากจะทำให้เยาวชนจะเกิดความตระหนักและเห็นคุณค่าของป่าไม้เมืองไทยแล้ว ยังเกิดความเข้าใจ เห็นคุณค่าของคณิตศาสตร์และเกิดแรงบันดาลใจในการเรียนรู้คณิตศาสตร์เพิ่มมากขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ