กรุงเทพฯ--19 พ.ย.--สกว.
ประเทศไทยปลูกข้าวเป็นหลัก แต่ชาวนายังยากจนกับปัญหาผลผลิตและราคาที่ไม่สัมพันธ์กันเป็นวังวนแห่งหนี้สินและความยากจนที่ไม่ยุติ ทางออกประการหนึ่งคือการสร้างทางเลือกอาชีพเกษตรที่ยั่งยืนสอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของเกษตรกร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จึงสนับสนุนโครงการวิจัยเรื่อง“ความเป็นไปได้ของการผลิตข้าวหอมมะลิในระบบเกษตรอินทรีย์ที่จะเป็นอาชีพทางเลือกที่มีศักยภาพในการแก้ไขปัญหาความยากจนสำหรับเกษตรกรภาคนะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง” โดย รศ.ดร.นันทิยา หุตานุวัตร และทีมวิจัย คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
งานวิจัยนี้ทำการศึกษากับเกษตรกรใน 6 จังหวัดภาคอีสานตอนล่างที่เป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิ คือ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร และร้อยเอ็ด รวมทั้งผู้บริโภค ผู้ประกอบการโรงสีทั้งเอกชนและกลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการค้าข้าวและการส่งออก รวมทั้งตัวแทนหน่วยงานราชการระดับจังหวัดและส่วนกลาง เป็นงานวิจัยทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ เพื่อวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของการผลิตข้าวหอมมะลิในระบบเกษตรอินทรีย์ที่จะเป็นอาชีพทางเลือกที่มีศักยภาพในการแก้ไขปัญหาความยากจนสำหรับเกษตรกร
ผลการศึกษาพบว่า การผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์มีความเป็นไปได้ในการเป็นอาชีพทางเลือกที่มีศักยภาพในการแก้ไขความยากจน ด้วยเหตุผลสำคัญ คือ มีเป้าหมายต่ออาชีพการเกษตรเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับวัฒนธรรมของเกษตรกร สภาพดินได้รับการปรับปรุงให้มีความอุดมสมบูรณ์ การจัดการการผลิตด้วยความพิถีพิถันเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ที่ต้องรับรองมาตรฐานความเป็นอินทรีย์
เกษตรกรให้ความเห็นว่า ข้าวหอมมะลิอินทรีย์สามารถปรับตัวต่อสภาวะฝนแล้งได้ดีกว่าข้าวหอมมะลิทั่วไป ปีการผลิต 2547/48 ผลผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์เฉลี่ยต่อไร่(373 กก./ไร่) สูงกว่าผลผลิตข้าวหอมมะลิทั่วไปเฉลี่ยต่อไร่ (334 กก./ไร่) ประมาณ 40 กก./ไร่ ขณะที่ต้นทุนรวมการผลิตต่อไร่ของการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์แม้จะสูงกว่าการผลิตข้าวหอมมะลิทั่วไปเล็กน้อย แต่มีต้นทุนเงินสดต่ำกว่า ส่วนต้นทุนที่ไม่เป็นเงินสดสูงกว่าเล็กน้อย แสดงว่า การทำนาอินทรีย์จะใช้ปัจจัยการผลิตของตนเองมากกว่าการทำนาเคมี
ที่สำคัญราคาโดยเฉลี่ยของข้าวหอมมะลิอินทรีย์สูงกว่าข้าวหอมมะลิทั่วไป เพราะจะได้รับราคาพิเศษจากความเป็นอินทรีย์และจากการเป็นสมาชิกกลุ่มเกษตรกร ตลอดจนคุณภาพข้าวมีเปอร์เซ็นต์ข้าวต้นสูง ทำให้เกษตรกรผู้ผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์มีรายได้(3,460 บาท/ไร่) สูงกว่าเกษตรกรผู้ผลิตข้าวหอมมะลิทั่วไป(2,801 บาท/ไร่) ประมาณ 660 บาท/ไร่ และพบว่า นาอินทรีย์มีกำไรสุทธิประมาณ 500 บาท/ไร่ หรือ 1.40 บาท/กก. ในขณะที่นาทั่วไปมีกำไรสุทธิ 13 บาท/ไร่ หรือ 0.04 บาท/กก.
เมื่อเปรียบเทียบรายได้กับเส้นความยากจนที่ 1,040 บาทต่อคนต่อเดือนของเขตชนบท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ เดือนมีนาคม 2548 พบว่า อาชีพทำนาข้าวหอมมะลิอินทรีย์มีศักยภาพการแก้ไขความยากจนสูงกว่าอาชีพทำนาข้าวหอมมะลิทั่วไป
งานวิจัยระบุด้วยว่า แม้ตลาดข้าวหอมมะลิอินทรีย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศยังมีขนาดเล็ก แต่ก็พบว่ามูลค่าการส่งออกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ของไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น ดังนั้นการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์เป็นอาชีพทางเลือกจึงไม่ควรมุ่งเน้นเรื่องราคาดีเป็นหลักเพราะการมุ่งหวัง “ราคาข้าวอินทรีย์” อาจทำให้เกษตรกรผิดหวังและเลิกทำ ดังนั้น เกษตรกรจึงควรมีทัศนคติและแรงบันดาลใจในการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ด้วยผลตอบแทน 4 ประการ คือ 1) การฟื้นฟูแปลงนาให้อุดมสมบรูณ์ ซึ่งจะทำให้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น 2) การใช้ปัจจัยการผลิตที่ได้จากฟาร์มของตนเอง ทำให้ลดต้นทุนการผลิตข้าวที่เป็นเงินสด 3) การใช้ประโยชน์ความเป็นอินทรีย์ของฟาร์มทำการผลิตชนิดอื่น ๆ ที่ให้ผลตอบแทนเสริมหรือได้เท่าหรือดีกว่าข้าว 4) การลดความเสี่ยงจากอันตรายในการใช้สารเคมีสังเคราะห์ปราบศัตรูพืชทำให้สุขภาพของตนเองและครอบครัวดีขึ้น
อย่างไรก็ตามงานวิจัยพบว่า การแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกรจะมีศักยภาพสูงขึ้น โดยเกษตรกรต้องมุ่งมั่นเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตสู่การพึ่งตนเองและความพอเพียง รวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อพึ่งพากัน พัฒนาระบบเกษตรผสมผสานที่มีข้าวหอมมะลิอินทรีย์เป็นพืชหลักและ/หรือผลผลิตหลักอื่นๆที่มีศักยภาพทางตลาด ทำบัญชีครัวเรือน/บัญชีต้นทุนเพื่อรู้รายรับรายจ่าย รู้ต้นทุนการผลิต รู้กำไรขาดทุน และนำข้อมูลเหล่านี้เพื่อใช้วางแผนการใช้จ่าย การเก็บออม และการลงทุน ทั้งติดตามข้อมูลข่าวสารทุกด้านเพื่อรู้ทันสถานการณ์การผลิตและการตลาด ตลอดจนการพัฒนาตนเองและอาชีพที่จะไม่ตกสู่ “วงจรความยากจน”