กรุงเทพฯ--19 พ.ย.--สกว.
“ผัก”เป็นพืชเศรษฐกิจที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในระยะเวลาอันสั้นและรวดเร็วเนื่องจากเป็นพืชอายุสั้น และแหล่งเพาะปลูกผักที่สำคัญอยู่บนพื้นที่สูง เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นชาวเขา แต่การผลิตผักสดนั้น ที่สำคัญคือ ต้องผลิตตามที่ตลาดต้องการ และมีความปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง ซึ่งการปลูกผักที่ผ่านมาต้องประสบปัญหาทั้งในเรื่องการใช้ปุ๋ย และสารกำจัดศัตรูพืช ทำให้เกิดการตกค้างของสารเคมีในผัก ส่งผลสภาพแวดล้อม รวมไปถึงแหล่งต้นน้ำลำธาร และดินก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ปลูกและผู้บริโภค
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) ในฐานะแหล่งทุนงานวิจัยที่มีผลงานวิจัยอยู่เป็นจำนวนมาก จึงได้รวบรวมผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเข้าไปช่วยสนับสนุนและถ่ายทอดองค์ความรู้ระบบการจัดการ เทคโนโลยีการปลูกผัก การให้ปุ๋ยระบบน้ำหยด และการจัดการกับแมลงศัตรูพืชที่ถูกต้องให้กับเกษตรกร ภายใต้ชื่อ “โครงการพัฒนาการผลิตผักคุณภาพ และถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกผักปลอดสารพิษในโรงเรือนตาข่ายกันแมลง” ซึ่งเป็นโครงการที่ทำร่วมกับโครงการหลวงตั้งแต่ปี 2547
รศ.ดร. จริยา วิสิทธิ์พานิช นักวิจัยจากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของโครงการฯ มาจากมูลนิธิโครงการหลวงมีความสนใจและไว้วางใจผลงานวิจัยของนักวิจัยจากสกว. และต้องการให้นำผลงานวิจัยเข้าไปช่วยพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกให้กับเกษตรกรที่อยู่ในความดูแลของโครงการหลวง ซึ่งทางโครงการหลวงจะเป็นผู้จัดทำโรงเรือนตาข่ายกันแมลงสำหรับการเพาะปลูกผักบนพื้นที่สูงแต่ยังขาดเทคโนโลยีการเพาะปลูกผักปลอดภัยที่ถูกต้องและเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ จึงเป็นที่มาของความร่วมมือกันดังกล่าว
วัตถุประสงค์หลักของโครงการ เพื่อศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการผลิตผักปลอดภัยในโรงเรือนตาข่ายกันแมลงตามพื้นที่เป้าหมายที่ทางโครงการหลวงกำหนด และสร้างเกษตรกรผู้นำและขยายเครือข่ายการผลิตผักปลอดภัย โดยมีความเชื่อมโยงกับตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มความรู้และทักษะในการผลิตผักที่มีคุณภาพตามความต้องการของตลาดสากล และมีความปลอดภัยจากสารพิษ ที่สำคัญคือ ทำให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดการใช้สารเคมีในการกำจัดแมลงศัตรูพืช และมีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นนอกจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นและสม่ำเสมอ ยังสามารถเป็นทางเลือกในการประกอบอาชีพของเกษตรกรที่ยั่งยืนโดยไม่ทำลายสภาพแวดล้อมได้อีกทางหนึ่ง
สำหรับการดำเนินงานของโครงการ รศ.ดร.จริยากล่าวว่า เริ่มต้นได้ทดลองใช้พื้นที่ของโครงการหลวง 2 แห่ง คือ ที่บ้านอมพาย อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน และ บ้านแม่โถ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ นับเป็นกลุ่มเกษตรกรนำร่องที่โครงการหลวงได้คัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 8 โรงเรือน โดยทางสกว.ได้นำคณะนักวิจัยและนักวิชาการที่เกี่ยวข้องเข้าไปอบรมถ่ายทอดความรู้และวิชาการใหม่ๆ ให้กับเกษตรกรนำร่องซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่าม้ง และกะเหรี่ยง พร้อมกับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมซึ่งเป็นพี่เลี้ยงของโครงการหลวง ซึ่งภายในเวลาเพียง 1 ปีเกษตรกรนำร่องบนพื้นที่สูงสามารถนำความรู้ไปใช้กับโรงเรือนของตนจนมีรายได้เพิ่มขึ้น 4,000-5,000 บาทต่อเดือน ส่งผลให้มีเกษตรกรขอเข้ามาร่วมโครงการเพิ่มขึ้นจาก 8 โรงเรือนเป็น 30 โรงเรือนขยายเป็น 60 โรงเรือน และมากกว่า 200 โรงเรือนในปี 2550 โดยทางโครงการหลวงมีนโยบายที่จะให้นำการปลูกผักแบบ สกว.ไปใช้กับทุกพื้นที่ของโครงการหลวงทั้ง 37 แห่ง เพราะสามารถเห็นผลได้ชัดเจนว่าทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นและสม่ำเสมอ
หลังจากการดำเนินงานในโครงการแรกสิ้นสุดลงในปี 2548 ผลที่เกิดขึ้นสามารถสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของโครงการได้เป็นอย่างดี ทำให้มีเกษตรกรอื่นๆ สนใจจึงได้ขยายพื้นที่ดำเนินโครงการต่อเนื่องเป็นโครงการระยะที่สองตั้งแต่ปี 2549 — 2550 ในพื้นที่ อ.สารภี จ.เชียงใหม่และที่บ้านพระบาทห้วยต้ม อ.ลี้ จ.ลำพูน โดยเฉพาะการดำเนินงานใน อ.สารภี เนื่องจากเกษตรกรผู้ปลูกผักกางมุ้งในพื้นที่ราบต้องการนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้แก้ปัญหาผลผลิตในช่วงฤดูฝนเพราะที่ผ่านมาไม่สามารถผลิตผักได้ทันกับความต้องการของตลาด ทำให้ขาดรายได้ขณะที่ช่วงดังกล่าวผักจะมีราคาแพง
“ หลังจากเกษตรกรผู้ปลูกผักกางมุ้งรายดังกล่าวได้นำเทคโนโลยีการปลูกผักปลอดสารพิษไปทดลองใช้กับแปลงผักกางมุ้ง ประกอบกับการปรับเปลี่ยนวิธีการหว่านเมล็ดในแปลงมาเป็นการเพาะเมล็ดลงในกะบะเพาะแล้วย้ายปลูก และได้แนะนำให้มีการจัดทำหลังคาพลาสติกโค้งคลุมแปลงผักอีกชั้นหนึ่งซึ่งจะช่วยป้องกันแรงกระแทกของฝนได้ ทำให้เกษตรกรรายดังกล่าวมีรายได้เพิ่มมากขึ้นและสามารถปลูกผักได้ในช่วงฤดูฝน โดยมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเกือบ 6 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับการจัดการแบบเดิมๆของเกษตรกรเอง สร้างความพึ่งพอใจให้กับเกษตรกรอย่างมากและยังคงมีการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวมาจนถึงวันนี้แม้จะสิ้นสุดโครงการไปแล้ว ปัจจุบันเทคโนโลยีดังกล่าว กลายเป็นที่รู้จักของกลุ่มเกษตรกร และมีการเรียกสั้นๆ ติดปากว่า ‘ ปลูกผักแบบ สกว.’ ” รศ.ดร.จริยา กล่าว
การผลิตผักปลอดภัยนี้ เป็นการนำเทคโนโลยีจากผลงานวิจัยหลายชุดโครงการภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มาใช้ในการผลิตพืช เริ่มจากการจัดให้มีการอบรมเผยแพร่ความรู้แก่เกษตรกร และเจ้าหน้าที่ส่งเสริม และการปฏิบัติในแปลงปลูกเป็นขั้นตอน โดยเทคโนโลยีที่สกว.ได้นำไปถ่ายทอด ประกอบด้วย การจัดการดินและปุ๋ย โดยอาศัยการวิเคราะห์ดินเพื่อตรวจสอบสภาพดินและการเลือกปุ๋ยให้ตรงกับความต้องการของพืช การทำปุ๋ยหมัก การให้ปุ๋ยระบบน้ำ ( Fertigation ) โดยอาศัยเครื่องวัดความเครียดของน้ำในดิน ( Tensiometer) รวมทั้งการจัดการศัตรูพืชที่เน้นวิธีการผสมผสาน และการส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะเลี้ยงแมลงวัน ตัวห้ำ ซีโนเซียในกระบะเพาะ เพื่อควบคุมหนอนชอนใบและแมลงหวี่ขาว ซึ่งวิธีนี้จะช่วยกำจัดแมลงศัตรูพืชที่เข้ามากัดกินพืชผักให้ได้รับความเสียหายลงได้
รศ.ดร.จริยา กล่าวเสริมว่า วิธีดังกล่าวจะช่วยให้เกษตรกรลดการใช้สารเคมีในการกำจัดแมลงศัตรูพืชลงได้ถึง 50% ยกเว้นหากมีการระบาดหนักของโรคพืช และแมลง ก็จำเป็นต้องนำสารเคมีมาใช้ได้บ้างแต่จะต้องเลือกสารเคมีที่ปลอดภัยต่อผู้ปลูกและผู้บริโภคมาใช้เท่านั้นถือแป็นจุดประสงค์หลักของโครงการที่ต้องการให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะไม่ต้องได้รับผลกระทบจากการพ่นสารเคมี
ภายหลังสิ้นสุดโครงการระยะที่สองแล้วยังได้มีการต่อยอดโครงการไปอีก 3 จังหวัด ทั้งบนที่สูงและที่ราบภายใต้ชื่อ “โครงการผลิตผักคุณภาพ เพื่อการส่งออกและถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกผักปลอดสารพิษในโรงเรือนตาข่ายกันแมลง” เป็นโครงการที่เน้นการผลิตผักเพื่อการส่งออก มีระยะเวลาในการดำเนินโครงการ 1 ปีครึ่งนับตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย. 2549 — 25มี.ค. 2551 ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการใน 3 พื้นที่ประกอบด้วย บ้านปังค่า อำเภอปง จังหวัดพะเยา , บ้านผาตั้ง อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การดูแลของโครงการหลวง ปัจจุบันเกษตรกรที่ได้รับการถ่ายทอดการปลูกผักแบบ สกว. และทางสกว. เป็นผู้สร้างโรงเรือนให้เป็นต้นแบบมีจำนวน 8 โรงเรือน โดยมีเกษตรกรนำร่อง 6 คน และทางโครงการหลวงสร้างให้อีก 10 โรงเรือน โดยผลผลิตส่งจำหน่ายผ่านตลาดโครงการหลวง และที่จังหวัดนครปฐม เป็นพื้นที่เกษตรกรมีตลาดรับซื้อประจำอยู่แล้ว
อย่างไรก็ดี การปลูกผักปลอดภัยในโรงเรือนตาข่ายกันแมลงนั้น ปัจจัยสำคัญคือการตลาด ทั้งนี้ หัวหน้าโครงการฯ ชี้แจงว่า แม้งานวิจัยในโครงการนี้จะเป็นการนำเอาผลงานวิจัยของหลายๆ โครงการที่ได้รับทุนจาก สกว. มาเชื่อมโยงและประยุกต์ใช้ร่วมกันแล้ว แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ‘เป็นผลงานวิจัยที่มีตลาดนำ’ เนื่องจากการเลือกชนิดผักที่จะปลูกจะต้องเป็นสิ่งที่ตลาดต้องการ และต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ เพื่อความคุ้มค่าในการลงทุน ขณะที่วิธีการผลิตก็จะต้องผลิตผักที่มีคุณภาพและปลอดภัย ดังนั้น ในการดำเนินงานในแต่ละพื้นที่จะต้องดำเนินการตามที่ทางโครงการหลวงกำหนดแผนการผลิต เพื่อหลีกเลี่ยงการผลิตพืชชนิดที่มีการผลิตกันมาก และการปลูกพืชสลับหมุนเวียนกันไป ทำให้เกษตรกรมีรายได้สม่ำเสมอตลอดทั้งปี หรือในพื้นที่ราบ เกษตรกรที่ไม่ได้อยู่ในความดูแลของมูลนิธิโครงการหลวง มีตลาดที่ต้องการรับซื้อเป็นประจำอยู่แล้ว โดยเกษตรกรก็จะเป็นผู้วางแผนการผลิตตามที่ตลาดต้องการเช่นเดียวกัน
“ นอกจากนี้ นักวิจัย และเจ้าหน้าที่ส่งเสริม ถือเป็นพี่เลี้ยงที่จะคอยเป็นที่ปรึกษาให้กับเกษตรกรในพื้นที่ หากทั้งเจ้าหน้าที่ส่งเสริมและเกษตรกรไม่ให้ความใส่ใจหรือตั้งใจจริง รวมทั้งขาดการทำงานที่เชื่อมโยงหรือการประสานงานกันเป็นทีมแล้วเชื่อว่าโครงการผักปลอดภัยก็คงไม่สามารถประสบผลสำเร็จได้ โครงการดังกล่าวจึงถือเป็นความภาคภูมิใจของนักวิจัย และ สกว.ที่สามารถนำผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องมาประยุกต์ใช้ได้จริงและเป็นที่พึ่งพอใจของเกษตรกรจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 20% เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เนื่องจากการใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืชลดลง และมีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่ สกว.กำหนดไว้ ” รศ.ดร.จริยา กล่าวในตอนท้าย