กรุงเทพฯ--11 ส.ค.--ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน
เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2554 ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน(ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลสำรวจเรื่อง “ค่าแรง 300 บาท กับ SMEs อีสาน” จากกลุ่มตัวอย่าง 400 ราย พบร้อยละ 59.9 เห็นว่านโยบายการขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ 300 บาท/วัน สามารถทำได้จริง
อาจารย์ประเสริฐ วิจิตรนพรัตน์ หัวหน้าโครงการสำรวจอีสานโพล ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน(ECBER) เปิดเผยว่า การสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการ SMEs ในภาคอีสานต่อนโยบายการปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน ของรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นประเด็นที่มีการพูดถึงกันมากที่สุดในเวลานี้ โดยหลายฝ่ายมองว่าผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำคือ “ผู้ประกอบการ SMEs” ครั้งนี้จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นจากกลุ่มตัวอย่าง 400 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสานทั้งหมด 4 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น อุบลราชธานี อุดรธานี สำรวจระหว่างวันที่ 1-3 สิงหาคม 2554 ผลสำรวจมีดังนี้
ผู้ประกอบการ SMEs อีสานส่วนใหญ่เห็นว่านโยบายดังกล่าวสามารถทำได้จริงร้อยละ 60.0 ไม่สามารถทำได้จริงร้อยละ 38.0 และไม่แน่ใจร้อยละ 2.0 และเมื่อถามต่อว่าผู้ประกอบการจะสามารถจ่ายค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มเป็น 300 บาทได้หรือไม่ ส่วนใหญ่ตอบว่าไม่สามารถจ่ายได้ร้อยละ 63.3 โดยเฉพาะผู้ประกอบการภาคการผลิตที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมากตอบว่าไม่สามารถจ่ายค่าแรงที่เพิ่มขึ้นได้ร้อยละ 64.6 ในส่วนที่ตอบว่าสามารถจ่ายได้ ร้อยละ 35.7 และร้อยละ 1.0 ตอบว่าไม่แน่ใจ โดยผู้ประกอบการตอบว่าอัตราค่าแรงที่เหมาะสามารถจ่ายได้อยู่ในช่วง 200-249 บาท/วัน ร้อยละ 61.4 ช่วง 250-299 บาท/วัน ร้อยละ 21.9 และช่วง 150-199 บาท/วัน ร้อยละ 16.2
พิจารณาแยกตามประเภทธุรกิจ ภาคการผลิตเห็นว่าอัตราค่าแรงช่วง 200-249 บาท/วัน เหมาะสมที่สุด รองลงมา คือช่วง 150-199 บาท/วัน และ ช่วง 250-299 บาท/วัน สำหรับภาคการค้าและบริการมองว่าอัตราค่าแรงช่วง 200-249 บาท/วัน เหมาะสมที่สุด รองลงมา คือช่วง 250-299 บาท/วัน และ ช่วง 150-199 บาท/วัน ตามลำดับ (ภาพที่ 1)
ภาพที่ 1 แสดงอัตราค่าแรงขึ้นต่ำ (ร้อยละ)
เมื่อสอบถามว่าหากนโยบายดังกล่าวปฏิบัติได้จริงแล้วกิจการจะทำอย่างไร ผู้ประกอบการตอบว่าจะปรับเพิ่มราคาสินค้าและค่าบริการมากที่สุด ร้อยละ 63.2 โดยระบุว่าจะปรับเพิ่มขึ้นจากราคาเดิมถึง 50% ลดจำนวนแรงงานรายวัน ร้อยละ 22.9 และปิดกิจการ ร้อยละ 3.1 สำหรับที่ตอบว่าไม่ส่งผลกระทบต่อกิจการ ร้อยละ 9.4 และเมื่อสอบถามเกี่ยวกับการปรับตัวเพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องการให้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือก่อน ร้อยละ 44.7 รองลงมาตอบว่าทำกันเองไม่จ้างแรงงานร้อยละ 16.4 จ้างแรงงานต่างด้าวแทนแรงงานไทย ร้อยละ 10.5 ใช้เครื่องจักรแทนแรงงาน และคัดคนงาน ร้อยละ 6.4
และเมื่อมีการสอบถามความเห็นเกี่ยวนโยบายปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 300 ว่าควรใช้อัตราเดียวทั่วประเทศ หรือใช้เฉพาะภูมิภาค ส่วนใหญ่ตอบว่าควรใช้อัตราเดียวทั่วประเทศ ร้อยละ 53.3 และร้อยละ 46.7 ตอบว่าควรใช้เฉพาะภูมิภาค โดยระบุว่าควรใช้ในจังหวัดที่มีค่าครองชีพสูง และเมื่อถามต่อว่าควรปรับขึ้นในลักษณะใด ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ตอบว่าให้ทยอยปรับขึ้นถึง ร้อยละ 70.9 ซึ่งตอบในลักษณะเดียวกันทุกประเภทธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น ภาคการผลิต ภาคการค้า และบริการ โดยส่วนใหญ่ระบุว่าให้ทยอยปรับขึ้นครั้งละ 50%
สำหรับมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาลผู้ประการภาคการผลิตต้องการให้ลดลงต้นทุนด้านอื่นๆ ชดเชยให้มากที่สุดร้อยละ 32.2 เปิดวงเงินชดเชยให้ผู้ประกอบการ ร้อยละ 31.5 และลดภาษีนิติบุคคล ร้อยละ 25.9 ในส่วนของผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการต้องการให้ลดภาษีนิติบุคคล รองลงมา เปิดวงเงินชดเชยให้ผู้ประกอบการ และลดลงต้นทุนด้านอื่นๆ ชดเชย โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่ระบุว่าควรลดภาษีนิติบุคคลลงจาก 30% เหลือ 15% แทน
ภาพที่ 2 แสดงมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาล (ร้อยละ)
สำหรับผลการสำรวจข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 400 ราย พบว่าส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงจำนวน 225 ราย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 57.1 เพศชายจำนวน 169 ราย คิดเป็นร้อยละ 42.9 แบ่งเป็นผู้ประกอบการภาคการผลิตจำนวน 116 ราย (คิดเป็นร้อยละ 29.0) ภาคการค้าจำนวน 159 (คิดเป็นร้อยละ 39.0) และภาคบริการจำนวน 128 (คิดเป็นร้อยละ 32.0) ช่วงอายุเฉลี่ย 46-60 ปีมากที่สุดจำนวน 124 ราย (คิดเป็นร้อยละ 31.6) รองลงมาอายุ 36-45 ปี จำนวน 111 ราย (คิดเป็นร้อยละ 28.3) อายุ 26-35 ปี จำนวน 110 ราย (คิดเป็นร้อยละ 28.1) อายุ 61 ปีขึ้นไป จำนวน 26 ราย (คิดเป็นร้อยละ 6.6) และ อายุ 18-25 ปี จำนวน 21 ราย (คิดเป็นร้อยละ 5.4) โดยกลุ่มตัวอย่างจบปริญญาตรีเป็นส่วนใหญ่จำนวน 164 ราย(คิดเป็นร้อยละ 43.9) มัธยมศึกษาจำนวน 72 ราย(คิดเป็นร้อยละ 19.3) ปวช./ปวส. จำนวน 66 ราย(คิดเป็นร้อยละ 17.6) ประถมศึกษาจำนวน 53 ราย(คิดเป็นร้อยละ 14.2) และสูงกว่าปริญญาตรีจำนวน 19 ราย(คิดเป็นร้อยละ 5.1)
อัตราค่าแรงที่จ่ายในปัจจุบัน ภาคการผลิตส่วนใหญ่อยู่ในอัตรา 150-199 บาท/วัน ภาคการค้าและบริการอยู่ในอัตรา 200-249 บาท/วัน
ECBER : ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน
คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
อ.เมือง จ.ขอนแก่น
โทรศัพท์ 043-202566 โทรสาร 043-202567 www.ecberkku.com
www.facebook.com/ecberkku