กรุงเทพฯ--11 ส.ค.--เพนเน็ตเทรท
- พร้อมปันผล 18 สตางค์/หุ้น หลัง ‘เน็ต มาร์จิ้น เติบโต 20 %
- มั่นใจทั้งปีเติบโต 40% กำลังประมูลงานมูลค่ากว่า 70,000 ล้านบาท
โตโย-ไทย (TTCL) มั่นใจเติบโตเข้าเป้า 40% โชว์กำไร 6 เดือนแรก พุ่งสูง 32% เป็น 190 ล้านบาท แถมเน็ตมาร์จิ้น เพิ่มขึ้นกว่า 20% พร้อมจ่ายปันผล 18 สตางค์/หุ้นเดือนหน้า
นายฮิโรโนบุ อิริยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโย-ไทย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านรับเหมาก่อสร้าง โรงงานอุตสาหกรรมขนาด ใหญ่แบบครบวงจร (Integrated EPC) รายเดียวของไทย เปิดเผยว่าในงวด 6 เดือนแรกปีนี้ บริษัทฯ มีรายได้รวมเพิ่มขึ้นเป็น 3,424 ล้านบาท จาก 3,128 ล้านบาทในปีที่แล้ว และในไตรมาส 2 ปีนี้ บริษัทมีรายได้รวมเป็น 1,648 ล้านบาท จากเดิม 1,307 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นอัตราการขยายตัวประมาณ 26%
“โตโย-ไทยฯ ภูมิใจที่สามารถขยายการเติบโตของผลประกอบการได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีกำไรสุทธิงวดครึ่งปีแรกเติบโตกว่า 32% เป็น 190 ล้านบาท จาก 144 ล้านบาทในงวดเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ไตรมาส 2 ปีนี้ TTCL มีกำไรสุทธิเติบโต 32% เช่นเดียวกัน เป็น 82 ล้านบาท จาก 62 ล้านบาท ในไตรมาส 2 ปีกลาย และบริษัทฯ มีกำไรจากการดำเนินงานเติบโต 21% ในงวดครึ่งปีแรก เป็น 240 ล้านบาท จาก 198 ล้านบาทในปีก่อน และที่สำคัญสามารถเพิ่มอัตรากำไรสุทธิ (Net Margin) ได้ถึง 20% เป็น 5.55% จาก อัตรา 4.6% ในช่วง 6 เดือนแรกของปีก่อน”
“ณ สิ้นไตรมาส 2 บริษัทฯ มีปริมาณงานคงค้าง (แบ็คล็อค) กว่า 16,000 ล้านบาท ภายหลังบริษัทได้ชนะงาน 2 โครงการใหญ่มูลค่ารวมกว่า 11,000 ล้านบาท คือ โครงการก่อสร้างโรงงานแยกสินแร่หายาก Rare Earth ประเทศมาเลเซีย ให้กับบริษัท ไลนาส (มาเลเชีย) จำกัด มูลค่าประมาณ 5,300-6,000 ล้านบาท และล่าสุด TTCL ชนะงานโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตปุ๋ย ไดแอมโมเนียม ฟอสเฟต (Diammonium Phosphate) ที่ประเทศเวียดนาม มูลค่าประมาณ 6,000 ล้านบาท โดยบริษัทฯ คาดว่าจะรับรู้รายได้ในครึ่งปีหลังประมาณอีก 4,000 ล้านบาท นอกจากนี้ TTCL กำลังอยู่ระหว่างประมูลงานหลากหลายโครงการทั้งในและต่างประเทศ มูลค่ารวมกว่า 70,000 ล้านบาท” นายอิริยากล่าวเสริม
นายกอบชัย ธนสุกาญจน์ รองผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายการเงินและนักลงทุนสัมพันธ์ กล่าวว่า “สำหรับไตรมาสนี้ TTCL หรือ โตโย-ไทย สร้างผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) สูงถึง 23.41% (คิดเฉลี่ยทั้งปี) สูงที่สุดแห่งหนึ่งในกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้างใหญ่ นอกจากนี้ TTCL มีสถานะเป็น Cash Company มาโดยตลอด คือ มีปริมาณเงินสดและเงินทุนชั่วคราวสูงถึง 2,339 ล้านบาท โดยไม่มีภาระหนี้เงินกู้เลย และคณะกรรมการบริษัทฯมีมติ จ่ายเงินปันผล สำหรับงวดครึ่งปีแรกในอัตรา 0.18 บาทต่อหุ้น โดยจะปิดสมุดบัญชีผู้ถือหุ้นในวันที่ 29 สิงหาคมนี้ และจะจ่ายเงินปันผลในวันที่ 9 กันยายนนี้” นายกอบชัย กล่าว
“TTCL มุ่งมั่นใช้กลยุทธ์หมวก 2 ใบเพื่อขยายธุรกิจคือ นอกจากจะรับงานรับเหมาก่อสร้างแบบครบวงจร (EPC) แล้วบริษัทฯยังพร้อมจะร่วมเข้าลงทุนถือหุ้นในโครงการที่น่าสนใจอีกด้วย (ดังเช่นโครงการโรงไฟฟ้านวนคร) เนื่องจากบริษัทฯมีสถานะการเงินที่แข็งแกร่ง มีปริมาณเงินสดในมือสูง และมีทีมผู้บริหารและวิศวกรที่พรั่งพร้อม อีกทั้งมีพันธมิตรหลักระดับโลกที่ร่วมถือหุ้นในบริษัท ถึง 3 บริษัทคือ โตโย เอ็นจิเนียริ่ง (TOYO Engineering) และ ชิโยดะ คอร์ปอเรชั่น (Chiyoda Corporation) ซึ่งเป็นผู้รับเหมาครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 3 และ 2 ในประเทศญี่ปุ่นและ บมจ. อิตาเลียนไทย เดเวล็อปเมนต์ (ITD) ผู้รับเหมาก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุดของไทย” นายกอบชัยกล่าวสรุป
บริษัท โตโย-ไทย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วรวม 480 ล้านบาท ก่อตั้งขึ้นในปี 2528 โดยการร่วมทุนระหว่างบริษัท โตโย เอนจิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น ผู้นำด้านรับเหมาวิศวกรรมโรงงานครบวงจรที่มีประสบการณ์กว่า 48 ปีจากประเทศญี่ปุ่น และ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ผู้รับเหมาทั่วไปที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของไทย และในปัจจุบัน บริษัท ชิโยดะคอร์ปอเรชั่น ผู้นำด้านรับเหมาวิศวกรรมโรงงานครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ในประเทศญี่ปุ่นได้เข้าถือหุ้นในสัดส่วน 7% เช่นกัน
TTCL เป็น เป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างแห่งเดียว ที่มีผลประกอบการที่เติบโตสูงและต่อเนื่องมาตลอดกว่า 26 ปี ปัจจุบัน TTCL มีจำนวนวิศวกรทุกสาขามากที่สุดในประเทศไทยคือ 795 คนจากพนักงานทั้งหมด 1,496 คน บริษัทฯมีประสบการณ์ในการรับเหมาสร้างโรงงานอุตสาหกรรมแบบครบวงจรทั้งในประเทศและต่างประเทศมาแล้วกว่า 170 โครงการ คิดเป็นมูลค่างานรวมกว่า 60,000 ล้านบาท มีฐานลูกค้าครอบคลุมหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ เคมีภัณฑ์ ปิโตรเคมี ปิโตรเลียม ปุ๋ยเคมี โรงไฟฟ้า พลังงานทดแทน ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นบริษัทมหาชนและบริษัทต่างชาติขนาดใหญ่ อาทิ กลุ่มปตท. กลุ่ม SCG หรือปูนซิเมนต์ไทย กลุ่มบมจ. วีนิไทย กลุ่มคาโอของญี่ปุ่น กลุ่มไบเออร์ของเยอรมัน เป็นต้น โดยกลุ่มตลาดหลักในต่างประเทศได้แก่ เวียดนาม ซึ่งบริษัทมีบริษัทย่อยดำเนินงานอยู่ มาเลเซีย จีน กลุ่มประเทศอาเซียน กลุ่มตะวันออกกลาง กลุ่มอาฟริกา และสหรัฐอเมริกา”