SMT ฝ่าคลื่นสึนามิ โชว์กำไรครึ่งปีแรก 202 ล้านบาท ลดลง 14%

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 12, 2011 11:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ส.ค.--เพนเน็ตเทรท - คาดครึ่งปีหลัง กลับมาโตแรงกว่า 50% เตรียมลงทุน 345 ล้านขยายธุรกิจ IC - เน็ต มาจิ้น โต 14% บอร์ดอนุมัติจ่ายปันผล 20 สตางค์ต่อหุ้น ต้นกันยานี้ สตาร์ส ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำของไทย คาดครึ่งปีหลังรายได้เติบโตแรงกว่า 50% จากครึ่งปีแรกที่ทำกำไร 202 ล้านบาท บอร์ดอนุมัติจ่ายปันผล 20 สตางค์ต่อหุ้นทันที คุณพลศักดิ์ เลิศพุฒิภิญโญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SMT หรือ บมจ. สตาร์ส ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจรที่เติบโตสูงของไทยเปิดเผยว่า ผลประกอบการของบริษัทในครึ่งปีแรกของปี 2554 มีรายได้รวม 4,439 ล้านบาท และมีผลกำไรสุทธิ 202 ล้านบาท ลดลงประมาณ 14% จากกำไรสุทธิ 231 ล้านบาท ในครึ่งปีแรกของปีที่แล้วซึ่งมีรายได้รวม 7,300 ล้านบาท เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิในประเทศญีปุ่น “ในช่วงครึ่งปีแรกนี้ SMT มีอัตรากำไรขั้นต้นที่เติบโตขึ้น 34% เป็น 6.38% ในขณะที่อัตรากำไรสุทธิเติบโตขึ้น 14% เป็น 4.58% แต่ปริมาณรายได้และกำไรมาปรับตัวลดลง เนื่องจากในช่วงปลายไตรมาส 2 บริษัทได้รับผลกระทบชั่วคราวจากภัยภิบัติสึนามิและระบบห่วงโซ่อุปทานของวัตถุดิบในส่วนของสายการผลิตทัชสกรีนของสมาร์ทโฟน อย่างไรก็ดีขณะนี้ SMT ได้ปรับกลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์ (Product Mix) เพื่อเพิ่มฐานกำไรจากผลิตภัณฑ์ IC, Hard Disk Drive, MEMS หรือ TPMS ให้มากยิ่งขึ้น และคาดว่าในครึ่งปีหลังนี้ SMT จะมียอดขายเติบโตกว่า 50% จากครึ่งปีแรก เนื่องจากยอดคำสั่งซื้อสินค้าหลักต่างๆ ทั้งสินค้ากลุ่ม IC, MEMS และ เซ็นเซอร์อัจฉริยะวัดระดับลมยางรถยนต์ (TPMS) ได้กลับมาสู่ระดับสูงเช่นเดิม ในขณะที่ ธุรกิจฮาร์ดดิสค์ไดรฟ์ (HDD) ซึ่ง SMT เป็น 1 ในผู้ผลิตชิ้นส่วนให้กับผู้ผลิตฮาร์ดดิสค์ไดรฟ์รายใหญ่ของโลกนั้น บริษัทได้รับปริมาณคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีนัยยะสำคัญตั้งแต่ไตรมาส 3 จนถึงไตรมาส 4 เนื่องจากลูกค้าหลักของบริษัทฯ ได้ขยายธุรกิจด้วยการควบรวมกิจการและขึ้นเป็นอันดับ 1 ของโลก จึงทำให้ SMT สามารถสร้าง การประหยัดเชิงขนาด (Economy of Scale) ได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ในธุรกิจ IC (Integrated Circuit) SMT ได้ลูกค้าใหม่อีก 3 ราย จากประเทศไต้หวันซึ่งเปรียบเสมือน ซิลิคอน แวลเลย์ของเอเชีย ทำให้ SMT ต้องขยายกำลังการผลิต เพิ่มขึ้นเป็น 200 ล้านชิ้นต่อเดือนภายในไตรมาส 4 (เพิ่มขึ้นกว่า 50% จากช่วงต้นปี) ซึ่งสินค้าเหล่านี้มีอัตรากำไรขั้นต้นในระดับสูง โดย SMT จะใช้งบลงทุนประมาณ 345 ล้านบาทจากเงินที่ได้รับจากการเพิ่มทุน (RO) ยิ่งไปกว่านั้น SMT ยังได้รับออเดอร์ระยะยาวจากลูกค้ายักษ์ใหญ่ระดับโลกจากเยอรมันอีก 1 รายเพื่อผลิตสินค้ากลุ่ม MEMs สำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์ อาทิ เซ็นเซอร์ควบคุมเครื่องยนต์ (Engine Management Sensor) ซึ่งSMT จะได้รับออเดอร์ขนาดใหญ่ ในระยะยาวกว่า 10 ปี สำหรับใช้ในรถยนต์ค่ายยุโรป และอเมริกา และขณะเดียวกันในประเทศกลุ่ม EU กำลังจะมีการบังคับใช้กฎหมาย ให้รถยนต์ทุกคันติดตั้งอุปกรณ์วัดลมยางอัตโนมัติ (TPMS) ในปี 2555 ซึ่งจะส่งผลทำให้ SMT ซึ่งเป็นผู้ผลิต TPMS Sensor รายหลักของโลกได้รับปริมาณออเดอร์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัท SMT ได้อนุมัติการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในอัตรา 20 สตางค์ต่อหุ้น โดยจะปิดสมุดทะเบียนรายชื่อผู้ถือหุ้นในวันที่ 26 สิงหาคม 2554 และจะจ่ายเงินปันผล ในวันที่ 9 กันยายน 2554 และ ส่วนความคืบหน้าของการลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนนั้น บริษัท SMT Green Energy ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ที่ SMT ถือหุ้นทั้งหมด กำลังรอดูความชัดเจนด้านนโยบายของรัฐบาลใหม่ ในการสนับสนุนด้านโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน SMT หรือ สตาร์ส ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ เป็นหนึ่งในผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ระดับ Prime Source ของโลกที่มีเทคโนโลยีของตนเอง และมีผลประกอบการที่ดีมาตลอดสามารถเพิ่มยอดกำไรสุทธิได้อย่างต่อเนื่องกว่า 5 ปี จากผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 กลุ่มคือ 1. ชิ้นส่วนไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (MMA หรือ Microelectronics Module Assembly) และ 2. ไอซีชิพหรือแผงวงจรไฟฟ้ารวม (IC หรือ Integrated Circuit) บริษัทฯ กำลังขยายกำลังการผลิตทั้ง สายงานไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (MMA) และวงจรไฟฟ้ารวม (IC) เป็น 120,000,000 ชิ้นต่อปีและ 2,400,000,000 ชิ้นต่อปีตามลำดับ หรือเพิ่มขึ้นกว่า 30% และ 70% จากปีที่แล้ว โดย SMT ซึ่ง ยังเป็นบริษัทแรกที่ได้รับผลประโยชน์พิเศษจากการเข้าตลาดหลักทรัพย์และจาก BOI ให้ยกเว้นการเรียกเก็บภาษีรายได้ตลอด 8 ปีโดยไม่มีการกำหนดเพดานผลกำไรสุทธิสะสมทำให้บริษัทฯคาดว่าจะเพิ่มปริมาณกำไรสุทธิจากโครงการนี้กว่า 500 ล้านบาทตามระยะเวลาสิทธิประโยชน์ที่เหลือ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ