นักคณิตศาสตร์น้อยพัฒนาลายผ้าขนแกะแบบใหม่ ที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของแม่ฮ่องสอนด้วยโปรแกรม GSP

ข่าวทั่วไป Tuesday November 20, 2007 10:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 พ.ย.--สสวท.
ผ้าขนแกะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อของตำบลห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นสินค้า OTOP ระดับ 4 ดาว โดยนำขนแกะมาทอรวมกับผ้าฝ้ายด้วยเครื่องทอโบราณ ทำให้เป็นสินค้าที่น่าสนใจ และส่งออกหลากหลายประเทศ แต่ลายของผ้าทอยังเน้นความเป็นเอกลักษณ์ตามลายดั้งเดิมที่เคยทำมา เช่น ลายข้าวโพด ลายดอกเข็ม
นางสาวเนตรนภา โก่งสายเงิน เด็กหญิงชุติมน เลิศอัมพรพันธ์ เด็กหญิงอังคณา นักรบไพร และเด็กหญิงวิจิตรา นิธิเพชรไพศาล โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 21 ตำบลแม่ลาน้อย อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน จึงได้นำเอาโปรแกรม The Geometer’s Sketchpad (GSP) ไปใช้พัฒนาลายผ้าทอ
ขนแกะให้หลากหลายมากขึ้น และลายที่ออกแบบใหม่นี้เป็นลายที่แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ผ่านการทำโครงงานเรื่อง การออกแบบลายผ้าทอขนแกะด้วยโปรแกรม The Geometer’s Sketchpad
ขั้นตอนการออกแบบ เริ่มจากศึกษาลายผ้าทอแบบดั้งเดิมที่ทอจากกลุ่มแม่บ้านตำบลห้วยหอม ศึกษาการใช้โปรแกรม GSP เพื่อนำมาออกแบบลายผ้าทอ ใช้โปรแกรม GSP ออกแบบลายผ้าทอด้วย รูปทรงเรขาคณิต แล้วนำลายที่ออกแบบเสร็จไปเป็นแบบในการทอผ้าขนแกะ
ขั้นตอนการทอผ้าขนแกะ ตั้งแต่เตรียมด้ายขนแกะที่ผ่านกระบวนการฟอกจนสำเร็จออกมาเป็นเส้นด้าย ตั้งอุปกรณ์เครื่องเดินด้ายผ้าทอแบบกี่เอวโบราณ เดินด้ายยืนโดยให้มีความกว้างตามที่แบบกำหนด โดยวนด้ายไปตามเครื่องที่ตั้ง นำด้ายที่เดินเรียบร้อยแล้วมาตั้งเพื่อเตรียมพร้อมในการทอผ้าขนแกะ เริ่มทอผ้าขนแกะโดยนำด้ายพู่มาสอดกลับตามลวดลายที่ออกแบบและทอจนได้ขนาดที่กำหนด นำผ้าทอขนแกะที่ ทอเสร็จมาตกแต่งชิ้นงาน จากการทำโครงงานดังกล่าวทำให้เกิดลายผ้าใหม่ นั่นคือ “ลายเจดีย์” และ “ลายดอกบัวตอง” ซึ่งแสดงถึงเอกลักษณ์ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นบทพิสูจน์ว่าถึงแม้โรงเรียนแห่งนี้จะเป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่ห่างไกลความเจริญ และมีนักเรียนเป็นเด็กด้อยโอกาสในพื้นที่ โดยเฉพาะนักเรียนที่เป็นชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ก็สามารถที่จะพัฒนาการเรียนรู้ของตัวเองได้ เมื่อได้รับการส่งเสริมและให้โอกาส โดยเฉพาะโอกาสจากครูและผู้บริหารสถานศึกษาที่มุ่งตั้งใจจะพัฒนานักเรียนการเรียนรู้ของเด็ก ๆ อย่างเต็มที่ ในส่วนของโปรแกรม GSP นั้น ครูสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือเพื่อช่วยให้การเรียนการสอนคณิตศาสตร์มีประสิทธิภาพและน่าสนใจมาก สามารถนำเสนอภาพเคลื่อนไหว (animation) มาใช้อธิบายเนื้อหาที่ยาก ๆ เช่น ทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ (เรขาคณิต พีชคณิต ตรีโกณมิติ แคลคูลัส), ฟิสิกส์ (กลศาสตร์ และอื่น ๆ ) ให้เป็นรูปธรรม ให้นักเรียนได้เรียนรู้และเข้าใจง่าย และโปรแกรมยังเน้นให้ผู้เรียนฝึกปฏิบัติด้วย ตัวเองได้ นอกจากนี้ยังสามารถนำไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนวิชาอื่น ๆ เช่น วิทยาศาสตร์ ศิลปะอย่างไม่มีข้อจำกัด
การส่งเสริมการใช้โปรแกรม GSP ในสถานศึกษาทั่วประเทศได้มีการส่งเสริมจากหลายหน่วยงาน ทั้ง สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ที่ได้จัดอบรมครูไปแล้วปีละหลายรุ่น จัดทำเว็บไซต์ thaiGSP.ipst.ac.th เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้สนใจ จัดบรรยายและเวิร์คช็อปในการประชุมวิชาการต่าง ๆ ให้เยาวชน ครูและผู้สนใจตลอดทั้งปี นอกจากนั้น สสวท. ยังมีโรงเรียนแกนนำ ที่จะไปขยายผล GSP ให้เพื่อนครูในท้องถิ่น เป็นเครือข่ายโยงใยถึงกันไปเรื่อย ๆ ผลที่ได้นั้นนับว่าเกินความคาดหมาย เพราะครูคณิตศาสตร์ต่างก็ให้การตอบรับอย่างดีเยี่ยม บอกว่า GSP เป็นสื่อในฝันที่หามานานแล้ว คราวนี้ได้ใช้กันเสียที จนนักเรียนเรียนคณิตศาสตร์ได้อย่างสนุก เข้าใจ นำไปสู่การทำโครงงานคณิตศาสตร์มากมาย เช่น การนำ GSP ออกแบบผลิตภัณฑ์พื้นบ้านของนักเรียน โรงเรียนพะเยาพิทยาคม จ.พะเยา โรงเรียนศรีสวัสด์วิทยาคาร จ. น่าน โรงเรียนกระทู้วิทยา จ.ภูเก็ต โรงเรียนเซนต์แมรี่ จ. อุดรธานี หรือโครงงานใช้ GSP พิสูจน์ทฤษฎีคณิตศาสตร์ต่าง ๆ อีกมากมาย
คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันอุดมศึกษาของรัฐทั่วประเทศ ต่างก็ร่วมมือกับ สสวท. จัดตั้งศูนย์อบรมและเผยแพร่ความรู้ด้าน GSP ให้แก่ครูและผู้สนใจ ต่างก็จัดอบรมครูไปแล้วมากมายเสริมอีกแรง และในส่วนของโครงการโรงเรียนในฝัน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้น ได้ซื้อ โปรแกรม GSP ของ สสวท. แจกให้โรงเรียนในฝันทุกโรงเรียน รวม 1,800 ชุด จัดอบรมให้แก่นักเรียนและครู และปีที่แล้วตั้งศูนย์อบรม GSP จำนวน 20 ศูนย์ ชื่อ “ศูนย์ฝึกอบรมการใช้โปรแกรม The Geometer’s Sketchpad” ในเขตตรวจราชการทุกเขตทั่วประเทศ รวม 20 เขต โดยคัดจากโรงเรียนที่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์ ส่วนปี 2550 ขยายศูนย์เป็น 74 ศูนย์ทั่วประเทศ ชื่อ “ศูนย์พัฒนาการเรียนการสอนโรงเรียนในฝัน กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์”
สนใจโปรแกรม GSP คลิกไปที่เว็บไซต์ http://thaigsp.ipst.ac.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ