"ซิงเกอร์"หน้าชื้น ปลื้มผลประกอบการปรับตัวดีขึ้น ไตรมาสที่ 3 ขาดทุนลดเหลือ 105 ล้าน ฟุ้งยอดกระแสเงินสดกว่า 770 ล้านบาท

ข่าวทั่วไป Tuesday November 20, 2007 10:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 พ.ย.--Effective Partners & Associates
"ซิงเกอร์"หน้าชื้น ปลื้มผลประกอบการปรับตัวดีขึ้น ไตรมาสที่ 3 ขาดทุนลดเหลือ 105 ล้าน ฟุ้งยอดกระแสเงินสดกว่า 770 ล้านบาท ยอมรับยังเหนื่อยกับสต็อกจักรยานยนต์และการคุมเข้มเช่าซื้อเครื่องไฟฟ้าตามสภาพเศรษฐกิจชะลอตัว
บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) โดยนายดาเนียล ไมเคิล ฟิลิโปเนท์ กรรมการผู้จัดการ รายงานผลประกอบการในไตรมาส 3(กรกฎาคม-กันยายน) ของปี 2550 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยบริษัทฯมีผลการดำเนินงานปรับตัวที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือขาดทุนเพียง 105 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสองไตรมาสที่ผ่านมาของปี 2550 และไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 ซึ่งบริษัทฯ มีผลขาดทุนสุทธิถึง 713.1 ล้านบาท
"สาเหตุหลักของการขาดทุนมาจากยอดขายที่ลดลง และผลกระทบจากการยึดคืนรถจักรยานยนต์ของบัญชีเช่าซื้อที่ยังมีปัญหา ซึ่งบัญชีเช่าซื้อดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงปี 2547 ถึง ปี 2548 นอกเหนือจากการขาดทุนจากการยึดสินค้าคืนแล้ว ยังมีการปรับลดมูลค่าของรถจักรยานยนต์ดังกล่าวในคลังสินค้า ตามแนวนโยบายใหม่ที่มุ่งเน้นการให้เช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนเป็นหลัก"กรรมการผู้จัดการ กล่าว
อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ได้รับกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเป็นเงิน 217.5 ล้านบาทในไตรมาสที่ 3 นี้ และเมื่อรวม 3 ไตรมาส( 9 เดือนแรก)ของปี 2550 แล้ว บริษัทฯ ได้รับกระแสเงินสดจากการดำเนินงานรวมทั้งสิ้น 773.1 ล้านบาท
ณ สิ้นเดือนกันยายน 2550 การตั้งสำรองสินค้าคงเหลือของบริษัทฯ ลดลงเหลือเท่ากับ 151.4 ล้านบาท จาก 235.0 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2550 ทั้งนี้เนื่องมาจากการลดจำนวนลงของรถจักรยานยนต์ใช้แล้วใน สต๊อกสินค้าคงเหลือรวมกับแผนการลดสต๊อกที่มีการหมุนเวียนช้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
ในไตรมาสที่ 3 รายได้ของบริษัท ฯ ลดลงเหลือเท่ากับ 397.1 ล้านบาท หรือลดลงเท่ากับ 32.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2549 ซึ่งเท่ากับ 585.1 ล้านบาท ทั้งนี้เนื่องมาจากการขายที่ลดลงของรถจักรยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านเท่ากับ 78.4 ล้านบาท และ 109.6 ล้านบาทตามลำดับ การขายที่ลดลงของรถจักรยานยนต์เป็นผลมาจากแผนกลยุทธ์ที่บริษัทฯ วางไว้ คือ การขายเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านแทน แต่ผลการขายเครื่องใช้ไฟฟ้ากลับลดลงนั้น ส่วนหนึ่งมาจากผลกระทบจากการเพิ่มเงินดาวน์และการนำระบบการพิจารณาสินเชื่อก่อนขายมาใช้ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจที่ถดถอยในปัจจุบัน
ประกอบกับนโยบายของบริษัทฯ ที่ไม่อนุญาตให้ร้านสาขาในเขต 3 จังหวัดภาคใต้มีการขายใหม่แบบเช่าซื้อ รายได้ดอกเบี้ยจากการขายผ่อนชำระลดลง 117 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 ทั้งนี้เนื่องมาจากจำนวนบัญชีเช่าซื้อที่ลดลงจาก 322,883 บัญชี มาเหลือเท่ากับ 247,725 บัญชี โดยมีสาเหตุจากจำนวนบัญชีที่ปิดและยึดคืนที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ภาพรวม ของไตรมาสที่ 3 ปี 2550 บริษัทฯ มียอดขาดทุนสุทธิ 105.0 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับยอดขาดทุนสุทธิของไตรมาสเดียวกันของปี 2549 ซึ่งเท่ากับ 713.1 ล้านบาท ผลต่างที่ดีขึ้น 608.1 ล้านบาท อันเป็นผลมาจาก1. ต้นทุนขายเพิ่มขึ้นประมาณ 6.5 % อันเนื่องมาจากการรับรู้ผลขาดทุนจากการปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านที่รับคืนมาจากลูกค้าที่เพิ่มขึ้น
2. หลังจากที่ปัญหารถจักรยานยนต์รับคืนได้รับการแก้ไขแล้ว การตั้งสำรองพิเศษต่างๆ สำหรับการเสื่อมค่าของรถจักรยานยนต์ที่ใช้แล้ว หนี้สงสัยจะสูญของรถจักรยานยนต์ และการยึดคืนรถจักรยานยนต์ จึงไม่ต้องมีการบันทึกลงในบัญชี 3.ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารลดลงเท่ากับ 101.8 ล้านบาท ส่วนหนึ่งสาเหตุมาจากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่ลดลงจำนวน 73 ล้านบาทหลังจากที่ได้มีการจัดการกับปัญหารถจักรยานยนต์แล้ว
4. ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่ลดลงประมาณ 15 ล้านบาท อันเนื่องมาจากจำนวนเงินกู้ที่ลดลงจาก 2,602.3 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2549 มาเหลือเท่ากับ 1,562.6 ล้านบาท ณ สิ้นเดือน กันยายน 2550 แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยของเงินกู้ในไตรมาสนี้จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีก่อนก็ตาม
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
บุษกร คนหลัก , จันทนา แก้วนพรัตน์
Effective Partners & Associates Co., Ltd.
โทร 02-973-2700 มือถือ 089-686-7145
โทรสาร 02-900-5107

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ