มะเร็งจีสต์ภัยแฝงที่ไม่ควรมองข้าม

ข่าวทั่วไป Tuesday November 20, 2007 11:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 พ.ย.--คอร์แอนด์พีค
มะเร็งจีสต์หรือมะเร็งเนื้อเยื่อในระบบทางเดินอาหารภัยแฝงที่ไม่ควรมองข้าม แพทย์เตือนระวังภัย จากโรคมะเร็งชนิดนี้ เผยทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตกว่า 20,000 รายทุกปี ส่วนประเทศไทย ประชาชนควรระวัง หากตรวจพบเนื้องอกอยู่บริเวณในช่องท้อง ต้องเร่งให้แพทย์เร่งวินิจฉัยโดยเร่งด่วน
อ.นพ. เทพ เฉลิมชัย หน่วยมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เปิดเผยถึงอันตรายของโรคมะเร็งของเนื้อเยื่อในระบบทางเดินอาหารหรือ มะเร็งจีสต์ ( GIST-Gastrointestinal Stromal Tumor) ว่า โรคมะเร็งจีสต์ ถือเป็นโรคใหม่สำหรับคนไทยโดยเป็นที่รู้จักในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งทุก ๆ ปี จะค้นพบผู้ป่วยโรคนี้มากกว่า 20,000 รายทั่วโลก และพบในเพศชายและเพศหญิงใกล้เคียงกัน มะเร็งทางเดินอาหารชนิดนี้ เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ผนังทางเดินอาหาร โดยมีการแบ่งเซลล์และเพิ่มจำนวนมากและขาดการควบคุม เมื่อมีขนาดโตขึ้น จะโตออกนอกผนังทางเดินอาหารและจะกดทับอวัยวะข้างเคียง มะเร็งจีสต์พบได้บ่อยที่สุดบริเวณกระเพาะอาหาร 55% รองลงมาพบที่ลำไส้เล็ก 30% และหลอดอาหาร 5 % อาจจะพบได้ที่อวัยวะอื่น เช่น ตับ รังไข่ และมดลูก
อ.นพ. เทพ เฉลิมชัย กล่าวอีกว่า อุบัติการณ์ของมะเร็งจีสต์ จะพบ 15 คนต่อประชากร 1,000,000 คนต่อปี โดยพบในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป และพบน้อยในเด็ก นอกจากนี้ยังพบได้ ทั้งผู้ชายและผู้หญิงซึ่งสาเหตุของการเกิดโรคพบว่ามีความผิดปกติของเซลล์ ที่เรียกว่า “Interstitial cell of Cajal (ICC)” โดยพบว่ามีการกลายพันธุ์ของยีนส์พันธุกรรม บริเวณตัวจับบนผิวเซลล์ ที่เรียกว่า C-kit หรือ CD 117 ทำให้เซลล์เหล่านั้น มีการเพิ่มจำนวนมากผิดปกติและขาดการควบคุม ทำให้เกิดเนื้องอกขนาดใหญ่ สาเหตุของการกลายพันธุ์ ซึ่งไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด
สำหรับ อาการที่มักจะแสดงอาการ เตือน จะมีอาการปวดท้อง ปวดจุกแน่น เสียดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเป็นเลือด ซีดลงผิดปกติ คลำได้ก้อนที่ท้อง หรือก้อนโตขึ้น ซึ่งการวินิจฉัยในอดีตบ่อยครั้งมักจะวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งของกล้ามเนื้อเรียบในระบบทางเดินอาหาร แต่ปัจจุบันมีการตรวจวินิจฉัยชนิดพิเศษที่เรียกว่า C-kit (CD117) โดยวิธี Immunohistochemistry ซึ่งถ้าพบว่าผลเป็นบวกร่วมกับปัจจัยอื่น เช่น การตรวจร่างกายสงสัยว่ามีก้อน การตรวจทางรังสีวินิจฉัยบริเวณช่องท้อง เช่น เครื่อง Ultrasound, CT scan หรือ MRI มีลักษณะที่บ่งชี้ว่ามีก้อนเนื้อในช่องท้องก็สามารถวินิจฉัยได้
ในส่วนของการรักษา มีหลายวิธี อาทิ เช่น 1. การผ่าตัด ถือเป็นวิธีการรักษาวิธีเดียว ที่ทำให้หายขาดได้ในกรณีที่โรคยังอยู่เฉพาะที่หรือระยะแพร่กระจายที่สามารถผ่าตัดได้ 2. การรักษาเฉพาะที่ในกรณีที่มะเร็งกระจายมาที่ตับ เช่น การจี้ด้วยคลื่นความถี่สูง (Radio Frequency Ablation) หรือ การฉีดสารเข้าไปทำลายเนื้องอกโดยผ่านเส้นเลือดที่มาเลี้ยง (Hepatic Arterial Embolization) และ 3. การรักษาโดยวิธีรับประทานยากลุ่มที่ออกฤทธิ์ได้จำเพาะหรือตรงเป้าหมาย ทางชีวโมเลกุลต่อโรคมะเร็งชนิดจีสต์ (Molecular Targeted) โดยไปยับยั้งการทำงานของตัวจับผิวเซลล์ ที่เรียกว่า C-kit receptor หรือ CD 117
นอกจากนี้ ในการปฏิบัติตัว สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งจีสต์ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่เผ็ด มีรสจัด ย่อยยาก พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมองดสุรา บุหรี่ ไม่เครียด สังเกตอาการผิดปกติในร่างกาย ถ้าตรวจพบ ควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษา ตรวจและพบแพทย์ อย่างสม่ำเสมอ
สื่อมวลชนสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
คุณธนศักย์ อุทิศชลานนท์ (โป้ง)
ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์บริษัทคอร์แอนด์พีค จำกัด
โทรศัพท์ 02-439-4600 ต่อ 8202 มือถือ 081-421-5249
อีเมล์ : Tanasaku@corepeak.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ