กรุงเทพฯ--15 ส.ค.--สวทช.
นักวิทย์รุ่นเยาว์ทำโครงงานวิทยาศาสตร์ สกัดน้ำมันหอมระเหยจากดอกพญาสัตบรรณทดลองกับยุง พบยุงบินหนีว่อน! เตรียมศึกษาเชิงลึก หวังแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติไล่ยุง เพื่อช่วยลดสถิติโรคไข้เลือดออก-มาลาเรีย
นายเจษฎา ตั้งมงคลสุข นักศึกษาชั้นปีที่ 2 จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ จ.ชลบุรี ในฐานะนักศึกษาโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน (Junior Science Talent Project : JSTP) สวทช.เปิดเผยว่า ได้ทำโครงงานวิจัย เรื่อง “ผลของการสกัดหยาบและส่วนสกัดของดอกพญาสัตบรรณที่มีต่อพฤติกรรมยุง” โดยมี ผศ.ดร.จงกลณี จงอร่ามเรือง ภาควิชาเคมี และอาจารย์เบญจวรรณ ชิวปรีชา จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา โดยจุดเริ่มต้นความสนใจมาจากการสังเกตพบว่า ภายในหอพักของโรงเรียนมีการปลูกต้นพญาสัตบรรณจำนวนมาก และในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี จะส่งกลิ่นหอมฟุ้งกระจายไปทั่วบริเวณ โดยในช่วงเวลากลางคืน หากนั่งบริเวณใต้ต้นพญาสัตบรรณจะพบยุงรำคาญน้อยกว่าบริเวณอื่นมาก จึงตั้งสมมุติฐานว่ากลิ่นหอมฉุนของดอกพญาสัตบรรณอาจมีผลต่อการไล่ยุงได้
“ในงานวิจัยได้ทดลองสกัดน้ำมันหอมระเหยในดอกพญาสัตบรรณมาทำการทดลองกับยุงรำคาญ โดยเริ่มจากการเตรียมตัวอย่าง เก็บดอกพญาสัตบรรณที่สมบูรณ์ นำไปล้างน้ำเพื่อขจัดสิ่งสกปรก แล้วนำไปอบแห้งในตู้อบ ช่วงอุณหภูมิประมาณ 40-55 องศาเซลเซียส จากนั้นนำดอกพญาสัตบรรณที่อบแห้งไปปั่นละเอียดด้วยเครื่องปั่น เพื่อนำไปสกัดน้ำมันหอมระเหย ซึ่งในการทดลองเลือกใช้วิธีสกัด 2 วิธี คือ 1.การกลั่นโดยใช้น้ำ และ 2.การสกัดด้วยตัวทำละลายอินทรีย์แบบต่อเนื่องโดยใช้อุปกรณ์ซอคเล็ท
เมื่อได้สารสกัดน้ำมันหอมระเหยแล้ว จึงนำไปทดสอบกับยุงรำคาญ โดยนำยุงรำคาญจำนวน 40 ตัว ใส่ลงไปในตู้กระจกอะคริลิกใสลูกบาศก์ ขนาด 30X30X30 เซนติเมตร สังเกตพฤติกรรมในช่วงแรก จากนั้นจึงนำน้ำมันหอมระเหยที่สกัดได้จากดอกพญาสัตบรรณใส่ลงไป พร้อมทั้งสังเกตพฤติกรรมของยุง”
นายเจษฎา กล่าวว่า ผลการทดลองพบว่า สารสกัดน้ำมันหอมระเหยจากดอกพญาสัตบรรณที่ได้จากการสกัดด้วยตัวทำละลายอินทรีย์แบบต่อเนื่องโดยใช้อุปกรณ์ซอคเล็ท จะให้น้ำมันหอมระเหยที่มีความเข้มข้นและกลิ่นฉุนมากกว่า เมื่อนำลงไปหยดในกล่องอะคริลิกที่บรรจุยุงรำคาญไว้พบว่า ยุงรำคาญมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปอย่างผิดสังเกต โดยมีการเคลื่อนที่เร็วขึ้น และพยายามบินหาทางออก
“ขณะนี้เรายังทำการทดลองขนาดเล็ก แต่ในเบื้องต้นก็สรุปได้ว่า สารหอมระเหยในดอกพญาสัตบรรณน่าจะมีผลต่อการไล่ยุง ขั้นตอนในงานวิจัยต่อไปอยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มเติมในเชิงลึกว่าสารที่ออกฤทธิ์ไล่ยุงของดอกพญาสัตบรรณคือสารใด และเพราะเหตุใดจึงสามารถไล่ยุงได้
โดยหากเราพบสารที่คุณสมบัติไล่ยุงในดอกพญาสัตบรรณ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการนำมาพัฒนาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ไล่ยุงจากธรรมชาติได้ เพื่อลดสถิติการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของประชากรจากยุง เพราะต้องยอมรับว่าประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนชื้น มียุงจำนวนมาก และยุงเป็นพาหะนำโรคชนิดหนึ่งที่สร้างความเดือดร้อนรำคาญ อีกทั้งส่งผลให้มีประชากรโดยเฉพาะเด็กเล็กเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกและมาลาเรีย เป็นอันดับต้นๆของประเทศ” นายเจษฎากล่าว