กรุงเทพฯ--15 ส.ค.--องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
ขยะไม่ใช่ของน่ารังเกียจและไร้ค่าอีกต่อไป เพราะใครๆ ก็แห่ไปถ่ายรูปกับพี่ไดโน ประติมากรรมน่ารักๆ ขนาดใหญ่ที่สร้างจากขยะของเหลือใช้ ยืนรอต้อนรับทุกคนหน้านิทรรศการ “การบริหารการจัดการขยะ” (Waste Management) ที่องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ได้นำกระบวนการเรียนรู้มาจัดทำเป็นกิจกรรมต่างๆ ให้ผู้เข้าชมได้สัมผัสและเห็นผลจริง เพื่อเปลี่ยนมุมมองและการรู้จัก ขยะ ใหม่ว่าเป็นของเหลือใช้ที่นำมาใช้ประโยชน์ได้มหาศาล และเพื่อสร้างจิตสำนึกของการใช้ การทิ้ง และการกำจัดขยะให้เกิดประโยชย์สูงสุด ภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2554 ตั้งแต่วันนี้ ถึง 21 สิงหาคม 2554 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมไบเทค บางนา
หลายคนรู้ว่าขยะที่น่ารังเกียจกำลังทับถมและเป็นปัญหาโลกนี้อยู่ และหลายคนก็เริ่มรู้ว่าขยะที่ดูเหมือนไร้ค่าจริงๆ แล้วมีมูลค่ามหาศาลซ่อนอยู่เช่นกัน ภายในนิทรรศการ การบริหารการจัดการขยะ จะทำให้น้องๆ และผู้เข้าร่วมงานมีมุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับขยะ ได้ย้อนเวลาไปเรียนรู้ วัฎจักรของขยะ ตั้งแต่เป็นสิ่งมีชีวิตกลายมาเป็นวัตถุดิบและถูกใช้จนกลายเป็นขยะ, โลกแห่งความเป็นจริงของขยะ ว่าขยะมีกี่ประเภทและรูปแบบ เพื่อทำความรู้จักว่าขยะที่ย่อยสลายได้และที่ย่อยสลายไม่ได้มีอะไรบ้าง, การคัดแยกและกำจัดขยะ เพื่อช่วยให้โลกใบนี้น่าอยู่และอยู่กับเราไปอีกนาน, ผลกระทบของขยะ ที่ทำให้เห็นความน่ากลัวของมนุษย์ที่ก่อให้เกิดขยะล้นโลก เพราะคนไทยใช้ขวดพลาสติกเฉลี่ยปีละ 60 ใบต่อคน และถุงพลาสติก 1 ใบมีโอกาสใช้งานเฉลี่ยประมาณ 1 นาที แต่ใช้เวลาย่อยสลายตามธรรมชาติถึง 100 — 450 ปี และที่สำคัญหากนำถุงพลาสติกที่คนไทยทุกคนใช้ในเวลา 1 ปี มาเรียงต่อกัน จะเท่ากับระยะทางจากโลก ไป-กลับดวงจันทร์ถึง 7 รอบ
นอกจากความน่ากลัวของมนุษย์ที่ก่อให้เกิดขยะจำนวนมหาศาล ภายในนิทรรศการฯ ยังนำเสนอ ประโยชน์ของขยะ ที่เกิดจากความเก่งของมนุษย์โดยเฉพาะนักวิจัยของไทยที่นำขยะพลาสติกมาเป็นวัตถุดิบผลิตน้ำมัน เพราะที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้จัดทำโครงการต้นแบบนวัตกรรมระบบผลิตน้ำมันจากขยะพลาสติกด้วยวิธีการไพโรไลซีส คือการย่อยสลายโมเลกุลของพลาสติกด้วยความร้อนในบรรยากาศที่ปราศจากออกซิเจนเพื่อผลิตก๊าซและน้ำมัน โดยมีการออกแบบระบบให้เหมาะสมกับขยะพลาสติกที่มีอยู่มากในประเทศไทย โดยประมาณขยะพลาสติก 6 ตัน สามารถผลิตเป็นน้ำมันดิบได้ 4,500 ลิตรต่อวัน แยกเป็นดีเซล 50% ก๊าซโซลีน 20% และน้ำมันเตา 30% และเป็นผลิตภัณฑ์ข้างเคียงคือ กากคาร์บอน ซึ่งเป็นของแข็งที่สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงได้อีก และการนำขยะมาแปลงเป็นพลังทดแทนอย่างก๊าซชีวภาพ (Bio-Diesel) ของชุมชนโนนอุทุมพรและเทศบาลนครอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี หนึ่งตัวอย่างชุมชนที่ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านคิดค้นเครื่องมือ ‘ถังหมักก๊าซชีวภาพ’ นวัตกรรมจากสมองและสองมือของคนไทย และวิธีการผลิตก๊าซชีวภาพจากขยะอินทรีย์ที่ย่อยสลายได้ในชุมชน เช่น เศษอาหาร และเศษผักผลไม้ เป็นต้น จนได้รับรางวัลพิเศษด้านนวัตกรรมดีเด่นของสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
พร้อมพบกับนวัตกรรมใหม่ในการคัดแยกและกำจัดพลาสติก พี่เพ็ท (PET) เครื่องรับซื้อขวดพลาสติกต้นแบบ ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ องค์การมหาชน ที่ในอนาคตจะออกไปติดตั้งตามสถานที่ชุมชนเพื่อให้ผู้ที่สนใจนำขยะขวดพลาสติกมาจำหน่าย และสามารถแลกเป็นเงินได้ทันที หรือแลกรับเป็นรางวัลอื่นๆ ทำให้คนไทยมีทางเลือกใหม่ในการกำจัดขยะพลาสติกที่สะดวกสบายยิ่งขึ้น ซึ่งในอนาคตทางสำนักฯ มีแผนจะปล่อยตัว พี่แก้ว และ พี่ป๋อง เครื่องรับซื้อและกำจัดขยะประเภทแก้วและกระป๋องอลูมิเนียมออกมาเพิ่มเติมอีกด้วย
เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของความน่าสนใจและความรู้อื่นๆ อีกมากมายเกี่ยวกับขยะที่รอให้น้องๆ และผู้เข้าชม ได้มาร่วมค้นหาภายในนิทรรศการ การบริหารการจัดการขยะ ภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 2554 ที่เปิดให้เยาวชน ครอบครัว และประชาชนทั่วไป สามารถเข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันนี้ถึง 21 สิงหาคม 2554 เวลา 09.00 - 20.00 น. ที่ไบเทค บางนา และพบกับ 3 พรีเซนเตอร์ของงาน อ๋อม อรรคพันธ์, เก้า จิรายุ และญาญ่า อุรัสยา ได้ภายในงาน ติดตามข้อมูลข่าวสารและรายละเอียดงานได้ที่ www.nsm.or.th/nst2011